นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุการส่งออกข้าวไทยปีหน้าอาจลดลง 30%-40% จากปีนี้ที่คาดว่าจะส่งออกได้กว่า 10 ล้านตัน เหตุผลเพราะนโยบายการรับจำนำข้าวที่จะเริ่มวันที่ 7 ต.ค.นี้จะส่งผลให้ราคาข้าวไทยแพงขึ้น และลูกค้าจะหันไปซื้อจากประเทศคู่แข่งแทน
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีฤดูกาลผลิต 2554/2555 ซึ่งจะเริ่มต้นโครงการวันที่ 7 ต.ค. 2554-29 ก.พ. 2555 โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 13 ก.ย.นี้
สำหรับราคารับจำนำข้าวเปลือกแต่ละชนิด ความชื้น 15% กขช.กำหนด ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 2 หมื่นบาท ข้าวเปลือกหอมจังหวัดตันละ 1.8 หมื่นบาท 3.ข้าวเปลือกหอมปทุมธานีตันละ 1.6 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวตันละ 1.8 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดสั้นตันละ 1.6 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 1.5 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 1.48 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 1.46 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 1.42 หมื่นบาท และข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 1.38 หมื่นบาท คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 4 แสนล้านบาท จากจำนวนข้าวที่เข้าโครงการประมาณ 25 ล้านตัน
นายชูเกียรติ กล่าวว่า ได้ให้ข้อมูลความเป็นห่วงเรื่องการส่งออกข้าวไทยในปีหน้า ให้แก่ทางรัฐบาลไปแล้ว แต่เมื่อรัฐบาลจะเดินหน้าต่อ ก็คาดหวังว่ารัฐบาลจะดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบตามมามากนัก รวมไปถึงต้องหาทางป้องกันการคอร์รัปชั่นให้ได้
หยุดรับออเดอร์ใหม่
อย่างไรก็ตามผลเบื้องต้นในขณะนี้คือ ผู้ส่งออกข้าวว่างงาน ไม่มีการรับคำสั่งซื้อ-ขายข้าวล๊อตใหม่ สำหรับข้าวที่จะออกมาฤดูกาลใหม่ เพราะทราบดีอยู่ว่าต้นทุนข้าวจะเพิ่มสูงขึ้นจากการรับจำนำ ซึ่งหากคำนวณตามราคารับจำนำและไม่ขาดทุน ข้าวขาวจะต้องปรับขึ้นไปอยู่ที่ 800 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ข้าวหอมมะลิ 1,400 ดอลลาร์/ตัน จากที่ขณะนี้ราคาอยู่ที่ประมาณ 600 ดอลลาร์/ตัน และ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ตามลำดับ ในขณะที่คาดว่าราคาเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ที่ 530 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน และ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ตันตามลำดับ
"หากราคาข้าวไทยพุ่งสูงตามที่คาดการณ์ ลูกค้าต่างประเทศจะหันไปหาผู้ส่งออกอื่นแทน เช่น ฮ่องกง หันไปซื้อข้าวหอมจากเวียดนาม-กัมพูชา เพราะราคาเพียง 600-700 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน และหากลูกค้ายอมรับข้าวหอมของคู่แข่งแล้ว จะเปลี่ยนพฤติกรรมกลับมากินข้าวไทยก็คงจะลำบาก"นายชูเกียรติ กล่าว
นายชูเกียรติยังกล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องตลกหากรัฐบาลจะมีแนวคิดในเรื่องจัดตั้งบริษัทส่งออกข้าวในสต๊อกที่รับจำนำ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่ารัฐไม่ได้เชี่ยวชาญและคล่องตัวเหมือนกับเอกชน แล้วจะขายแข่งกับเอกชนได้อย่างไร ซึ่งหากรัฐขายได้ก็คงจะขาดทุนมหาศาล และเงินเหล่านี้ก็เป็นเงินงบประมาณของรัฐทั้งสิ้น โดยในขณะนี้ภาคเอกชนคงจะต้องเฝ้าดูผลของนโยบายรับจำนำข้าวว่าจะออกมาในรูปแบบใด
กิตติรัตน์ไม่หวั่นเงินเฟ้อพุ่ง
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเสวนา "เดินหน้านโยบายปากท้อง"ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เมื่อวานนี้(10ก.ย.) ว่าการดูแลรายได้ขั้นต่ำวันละ 300 บาท ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นแม้จะมีผลให้ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นบ้างแต่ไม่ใช่สัดส่วนสูงมาก เพราะจะมีการลดหย่อนภาษีและมาตรการอื่นๆเสริม เช่นการลดราคาพลังงานมาช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการอีกทางหนึ่ง
ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องเงินเฟ้อมากเพราะเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดที่ได้รับผลกระทบด้านต้นทุน เช่น ราคาพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลกระทบเดียวกับประเทศอื่นๆ ทำให้การพิจารณาอัตราขยายตัวของเงินเฟ้อจึงต้องเปรียบเทียบกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทยก่อนระบุว่าปัญหาเงินเฟ้อของไทยอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วงหรือไม่
อย่างไรก็ตามการนำอัตราดอกเบี้ยมาดูแลเงินเฟ้อหากเน้นปรับขึ้นดอกเบี้ยแทนที่จะเป็นการลดอัตราเงินเฟ้อแต่กลับจะเป็นการกดดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้นเพราะต้นทุนภาคธุรกิจจะสูงขึ้นตาม
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
|