www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

กิตติรัตน์'เล็งโรดโชว์ขายข้าว พาณิชย์ชงกขช.เคาะราคาจำนำ


นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว (กขช.) ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันนี้ (9 ก.ย.) จะพิจารณาหลักเกณฑ์การรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูกาลผลิต 2554/2555 ซึ่งจะมีการเสนอราคารับจำนำข้าวเปลือกแต่ละประเภทและชนิด ให้ กขช.อนุมัติ พร้อมกับแต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่จะมาดูแลตั้งแต่การรับจำนำไปจนถึงการตลาด เพื่อให้ครอบคลุมการรับจำนำทั้งหมด

สำหรับราคาข้าวเปลือกแต่ละชนิดที่จะให้ กขช.อนุมัติ ประกอบด้วย ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 2 หมื่นบาท ข้าวเปลือกหอมจังหวัดตันละ 1.8 หมื่นบาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานีตันละ 1.6 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวตันละ 1.6 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเหนียวคละตันละ 1.5 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 1.52 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 1.5 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 1.48 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 1.44 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 1.4 หมื่นบาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวดังกล่าวคำนวณตามพื้นฐานของกลไกตลาดข้าวแล้ว ซึ่งที่ประชุมอาจมีการพิจารณาเพิ่มหรือลดได้ ส่วนข้อเสนอของกลุ่มโรงสีที่ให้เพิ่มราคาข้าวบางชนิดขึ้นมาและเปิดรับจำนำข้าวแบบยุ้งฉาง ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กขช.ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ กลุ่มโรงสีได้เสนอราคารับจำนำในการประชุมร่วมกับกรมการค้าภายในเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยเสนอราคารับจำนำสูงกว่าที่กระทรวงพาณิชย์จะเสนอในการประชุมวันนี้

นายยรรยง กล่าวว่า ส่วนการแก้ไขปัญหาทุจริตในโครงการรับจำนำนั้น จะมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบโครงการรับจำนำ โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมด้วย ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาดังกล่าว เพราะนโยบายรัฐบาลต้องการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

'กิตติรัตน์' เผย กขช.ถกทุกด้าน

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.เปิดเผยว่า การประชุม กขช.จะมีการพิจารณารายละเอียดโครงการรับจำนำข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 2554/2555 ทั้งในเรื่องของราคารับจำนำข้าวเปลือก เงินสินเชื่อหมุนเวียนที่จะใช้ในการรับจำนำ และระยะเวลาเริ่มต้นโครงการในวันที่ 7 ต.ค.นี้ รวมไปถึงการตัดสินใจว่าจะรับจำนำจำนำใบประทวนอย่างเดียวหรือจำนำทั้งยุ้งฉางหรือจำนำทั้งยุ้งฉางข้าวบางชนิด

เขากล่าวว่า กขช.จะมีการพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลโครงการให้เป็นไปอย่างโปร่งใส โดยอาจจะมีหยิบยกกรณีปัญหาความเสี่ยงที่นักวิชาการออกมาวิเคราะห์ขึ้นมาหารือด้วย โดยราคารับจำนำจะเป็นราคาที่คำนวณจากต้นทุนเฉลี่ยระหว่างพื้นที่ 20-30 ไร่ต่อครอบครัวบวกกับกำไร เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพได้ตลอดฤดูกาลเพาะปลูก เมื่อเทียบเคียงกันแล้วจะสอดคล้องกับรายจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

"ในการประชุม นายกฯ อาจจะให้นโยบายกำชับ พร้อมชี้แจงเรื่องที่เป็นห่วง ขั้นตอนการรับข้าว การสีแปร และการบรรจุถุงข้าวบางชนิดที่จะช่วยเหลือผู้บริโภค รวมถึงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และเรื่องของการทำงานร่วมกันกับผู้ส่งออก" นายกิตติรัตน์กล่าว

เตรียมเดินสายนอกชี้แจง

นายกิตติรัตน์ กล่าวอีกว่ามีแผนที่จะเดินทางไปอธิบายให้กลุ่มผู้ซื้อในต่างประเทศเข้าใจว่า การรับจำนำข้าวในราคาดังกล่าว ไม่ได้มีเจตนาที่จะปั่นราคาข้าว เพียงแต่ต้องการให้เกษตรกรมีส่วนต่างต้นทุนที่มีชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพตามปกติ จึงมั่นใจว่าผู้ซื้อคงเมตตาชาวนาที่ปลูกข้าว เพราะถ้าขายต่ำกว่าต้นทุนต่อเนื่องเรื้อรังไปเรื่อยๆ พื้นที่เพาะปลูกก็จะหดไปเรื่อยๆ ส่วนจะเดินทางไปประเทศใดนั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเกรงว่าจะประเทศผู้ค้าข้าวรายอื่นตัดหน้า และที่ผ่านมา ก็ได้เดินทางไปเจรจากับผู้ซื้อในประเทศจีนแล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

"ความจริงแล้วราคาข้าวที่จะเพิ่มขึ้นจากนโยบายรับจำนำ เมื่อคำนวณเป็นราคาข้าวสารต่อถุงจะมีราคาเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น แต่เมื่อหุงออกมาเป็นจานแล้วเหลือจานละนิดเดียว ดังนั้น จึงไม่ต้องตกใจว่าข้าวแกงจะปรับราคาขึ้นมาก เพราะบวกขึ้นมาจานละไม่ถึง 50 สตางค์ เหมือนกับราคาข้าวสาลีที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อแปรมาเป็นขนมปังต่อแผ่นแล้วเพิ่มขึ้นไม่มาก จึงเชื่อว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำนั้นมั่นใจว่าขายได้ และจะพยายามทำสุดความสามารถให้สิ่งที่เกษตรกรได้รับมาจากที่ผู้บริโภคปลายทางยินยอมพร้อมใจจ่ายราคาที่สอดคล้องกับคุณภาพข้าวของไทย"

ชี้ราคาอาหารขึ้นได้ตามต้นทุนจริง

เขากล่าวว่า มาตรการกำกับดูแลป้องกันการขึ้นราคาอาหารของพ่อค้าแม่ค้า ภายหลังดำเนินโครงการรับจำนำนั้น ไม่อยากให้คิดว่ารัฐบาลต้องเข้าไปกำกับ เพราะพ่อค้าก็ต้องแข่งขันกันอยู่แล้ว แต่หากจะมีการปรับราคาจริง เชื่อว่าจะเป็นไปตามราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อยากเชิญชวนให้พ่อค้าแม่ค้าคำนึงถึงต้นทุนในหลักหน่วยที่เพิ่มขึ้น เช่น หากขึ้นราคาข้าวแกงควรจะเพิ่ม 1-2 บาท ไม่ใช่ขึ้นทีละ 5-10 บาทเหมือนเมื่อก่อน

สำหรับกรณีที่องค์ระหว่างประเทศเป็นว่าหากมีการปรับราคาข้าวจะทำให้ภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เมื่อก่อนข้าวสาลีขึ้น ยังไม่เห็นมีใครบ่น เรื่องนี้ขอสิทธิของชาวนาไทยคืนเท่านั้น หากข้าวขึ้นราคา 25,000 บาทก็คำนวณต้นทุนไม่ได้ ก็ว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง แต่ขอย้ำว่าราคานี้คำนวณมาจากต้นทุนที่แท้จริง เกษตรกรไม่ควรจะต้องมาอดทนเพื่อให้คนทั้งโลกกินข้าวถูก จนรัฐบาลต้องเอาเงินไปชดเชยจำนวนมาก วันนี้ขอตั้งตัวเป็นตัวแทนชาวนาไทยในการเจรจากับผู้ค้าข้าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

"เกษตรกรจนมากพอแล้ว นักวิชาการจะวิพากษ์วิจารณ์กัน ผมก็จะเอามาปรับใช้ ต้องให้กำลังใจกัน ซึ่งหากโครงการประกันรายได้ทำแล้วมีคำตอบว่าทำอย่างไรให้ราคาดีกว่าผลส่วนต่างของเงินชดเชยเกษตรกร ผมก็ทำแบบนั้นไปแล้ว แต่มันหาคำตอบไม่ได้ ผมไม่ได้ทำโครงการนี้มาให้ใครทุจริต ดังนั้น ถ้าใครคิดจะทำตั้งแต่ตอนนี้ก็เป็นมโนกรรมที่ไม่ดี แต่ถ้าปล่อยเลยไปวจีกรรม กายกรรมก็ต้องมีเรื่องกับนโยบายรัฐบาลแน่นอน"

เล็งส่งเสริมชาวนาปลูกถั่วเหลือง

รองนายกฯ ยังกล่าวถึง แผนรองรับกรณีหากการรับจำนำข้าวในราคาสูง แล้วรัฐไม่สามารถส่งออกได้ ว่า มีแนวคิดส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวสลับกับการปลูกถั่วเหลือง ที่ผ่านมา ก็ได้ประชุมร่วมกับสมาคมเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองไปแล้วบางส่วน เพื่อหารือถึงแนวทางที่จะทำให้ราคาถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น

นอกจากจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ในทางทฤษฎีก็ทำให้พื้นที่เพาะปลูกได้รับไนโตรเจนเพิ่มขึ้นด้วย แม้จะมีนักวิชาการบางส่วน ออกมาติงว่ารัฐไม่สามารถไปบังคับเขาได้ แต่ตนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ มีความเชื่อว่าหากทำให้ราคาผลผลิตดี ชาวนาก็จะหันมาปลูกเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ว่าทำงานแล้วปล่อยให้ไปตามกลไกแล้วกลายเป็นปัญหาที่ทับถม

กสิกรไทยเผยราคาข้าวทยอยปรับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่าราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ และราคาจำหน่ายข้าวสารหน้าโรงสีมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องรับกับนโยบายจำนำข้าวที่รัฐบาลกำหนดว่าจะประกาศในวันที่ 7 ต.ค.นี้ กล่าวคือ ราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิที่เกษตรกรขายได้ในเดือน ส.ค.ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับ 12,922.40 บาท/ตัน จากราคาเฉลี่ยในเดือน ก.ค.อยู่ที่ 12,410.40 บาท/ตัน

ขณะที่ราคาข้าวเปลือกเจ้าขยับมาอยู่ที่ระดับ 9,449.40 บาท/ตัน จากระดับ 9,031.60 บาท/ตัน ส่วนราคาข้าวสารหน้าโรงสีสำหรับข้าวหอมมะลิขยับเพิ่มมาเป็น 2,985 บาท/100 กก. จาก 2,933 บาท/100 กก. และข้าวเจ้า 100% ชั้น 2 ขยับขึ้นมาเป็น 1,626 บาท/100 กก. จากระดับ 1,583 บาท/100 กก.

ทั้งนี้ ต้นทุนข้าวสารคิดเป็น 80% ของต้นทุนการผลิตข้าวสารบรรจุถุงทั้งหมด ที่เหลืออีก 20% เป็นต้นทุนด้านอื่น ส่งผลให้ผู้ประกอบการข้าวสารบรรจุถุงมีแนวโน้มต้องทยอยปรับราคาจำหน่าย โดยสมาคมข้าวสารบรรจุถุงคาดว่าจะมีการทยอยปรับขึ้นของราคาจำหน่ายปลีกข้าวสารบรรจุถุงประมาณ 15-20%

รายงานดังกล่าวคาดว่าราคาข้าวหอมมะลิบรรจุถุงจะปรับเพิ่มขึ้น 40-50 บาท/ถุง หรือประมาณ 8-10 บาท/กิโลกรัม ราคาข้าวขาวบรรจุถุงจะปรับเพิ่มขึ้น 20-30 บาท/ถุง หรือประมาณ 4-6 บาท/กิโลกรัม

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

TREA on Facebook


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.