นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงการส่งออกข้าวไทยในปี 2553 ว่า จะมีปริมาณส่งออกประมาณ 8.9 ล้านตัน จากเป้าหมายที่ วางไว้ 8.5-9 ล้านตัน โดยข้าวนึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 37% ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมด ถือเป็นพระเอกของการส่งออกข้าวในปีที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 ผู้นำเข้าข้าวนึ่งรายใหญ่มีความต้องการข้าวเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะไนจีเรีย เตรียมจะปรับกฎระเบียบเกี่ยวกับภาษีนำเข้าข้าว ส่งผลให้ผู้นำเข้าข้าวนึ่งเร่งนำเข้าเฉลี่ยเดือนละ 400,000 ตัน ซึ่งถือเป็นปริมาณนำเข้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ในด้านราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยปีนี้ปรับสูงขึ้น 16-17% จากปีก่อน อาทิ ข้าวขาว 5% ปรับขึ้นจาก 415-420 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็น 530 เหรียญสหรัฐ/ตัน อย่างไรก็ตามแม้ว่าราคาข้าวจะปรับสูงขึ้นสอดรับกับสินค้า โภคภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ แต่ยังถือว่าอัตราการเพิ่มขึ้นยังเป็นรองสินค้าอื่น เช่น ราคาข้าวสาลีปรับสูงขึ้นเป็น 70% จากตันละ 195 เหรียญสหรัฐ เป็น 340 เหรียญสหรัฐ
"ข้าวนึ่งเป็นพระเอกในการส่งออกแทนข้าวขาวต่อเนื่องมา 1-2 ปีแล้ว โดยราคาข้าวนึ่งเท่ากับข้าวขาวหรือบางช่วงแพงกว่า 30-40 เหรียญสหรัฐ/ตัน ถือว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ เรามองว่าตลาดต้องการข้าวมากในช่วงปลายปี ขณะที่เวียดนามก็ไม่มีข้าวส่งออก ทำให้ถนนทุกสายวิ่งมาที่ไทย ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องไปอีก 1-2 เดือน ก่อนที่ผลผลิตข้าวเวียดนามจะออกราวเดือนมีนาคมนี้ โดยแนวโน้มการส่งออกข้าวในปีนี้น่าจะส่งออกได้ดี 8-9 ล้านตัน ภาวะภัยธรรมชาติหลายประเทศ รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนมีผลให้ราคาข้าวดีดขึ้น แต่หากเงินบาทแข็งค่าไปถึง 28 บาท/ เหรียญสหรัฐ เราคงจะเหนื่อย" นายชูเกียรติกล่าว
ล่าสุดมีรายงานจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวเข้ามาว่า การส่งออกข้าวในปี 2553 ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้ส่งออกรายใหญ่ 3-4 ราย โดยผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 เป็นของบริษัท เอเซียโกลเด้นท์ไรซ์ จำกัด ปริมาณราว 1.7-1.8 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ บริษัท แคปปิตัล ซีเรียล จำกัด, บริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด (กลุ่มเดียวกัน) มีปริมาณรวม 1.1-1.2 ล้านตัน
อันดับ 4 บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด และอันดับ 5 บริษัทข้าวไชยพร อีก 700,000-800,000 ตัน ทั้ง 5 บริษัทมีการ ส่งออกข้าวรวมกันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งปี 2553 ที่ 8.9 ล้านตัน
ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่า บริษัทเอ็ม ที เซ็นเตอร์เทรด เครือเม้งไต๋ ผู้ได้รับการคัดเลือกให้ซื้อข้าวขาว 5% ในสต๊อกรัฐบาลจำนวน 450,000 ตัน
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ส่งออกข้าว 4 รายใหญ่ "ยกเว้น" บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด จัดเป็นผู้ส่งออกข้าวเพียงกลุ่มเดียวที่สามารถซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาลด้วยวิธีเสนอคำสั่งซื้อโดยไม่มี TOR รวมกันถึง 300,000-400,000 ตัน ในราคาเฉลี่ย 12,000 บาท/ตันเท่ากับทั้ง 4 รายมีต้นทุนข้าวรัฐบาลราคา ถูกกว่าผู้ส่งออกข้าวรายอื่น ๆ ทั้งรายเล็กและรายกลางที่ถูก "กีดกัน" จนไม่สามารถซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาลได้
นอกจากนี้ยังมีผู้ส่งออกในกลุ่มบางรายมีพฤติกรรมเสนอขายข้าวตัดราคารายเล็กรายกลางตันละ 30-40 เหรียญ ซึ่งถือเป็นการตัดราคาสูงมากจากปกติต่างกันตันละ 5-10 เหรียญสหรัฐเท่านั้น
"การขายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลลอตสุดท้ายได้ทยอยขายให้กับผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นบางกลุ่ม จนกลายเป็นตัวช่วยให้กับผู้ส่งออกเหล่านั้นมีสายป่านยาวซื้อข้าวต้นทุนต่ำไปขายตัดราคารายย่อย ถ้าข้าวในสต๊อกรัฐบาลยังไม่หมด ผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กคงอยู่ไม่รอดต้องกลายเป็นลูกมือให้กับผู้ส่งออกรายใหญ่กลุ่มนี้ผูกขาดไป เพราะขายข้าวแข่งไม่ไหว จนผู้ส่งออกข้าว รายกลางรายเล็กต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก เพราะขายราคาต่ำกว่ากัน 30-40 เหรียญสหรัฐ หรือตันละ 900-1,200 บาท สู้กันไม่ได้อยู่แล้ว" แหล่งข่าวกล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|