www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ตุนข้าว 2 ล้านตันสวม"จำนำ"โรงสีเก็งพท.ชนะ-ฟันกำไรหมื่นล้าน


นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า นโยบายรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองขณะนี้ มีส่วนทำให้ราคาข้าวดีดตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะจากการประกาศของพรรคเพื่อไทย ที่กำหนดให้มีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในราคาตันละ 1.5 หมื่นบาท ทำให้ราคาข้าวขณะนี้เริ่มปรับเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวเปลือก 5% ตันละ 1.3-1.4 หมื่นบาทจากก่อนหน้านี้ ราคาเฉลี่ยไม่ถึงตันละ 1.3 หมื่นบาท

"การประกาศนโยบายของพรรคเพื่อไทยทำให้ราคาข้าวดีขึ้นมาก มันเป็นไปตามเรทติ้ง ผมไม่ได้เชียร์ แต่ราคาข้าวควรจะปรับเพิ่มขึ้นนานแล้ว แต่เป็นเพราะรัฐบาลจ่ายชดเชยเงินให้ คนทั้งโลกกินข้าวถูก จึงทำให้ราคาไม่สูงเท่าที่ควร ทั้งที่ราคาสินค้าเกษตรอื่นปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งโรงสีไม่ได้เรียกร้องให้มีโครงการรับจำนำ เพราะทั้งสองโครงการมีข้อดีข้อด้อยต่างกัน แต่ไม่เห็นด้วยที่พรรคการเมืองบางพรรคออกมาระบุว่าโรงสีทุจริตในโครงการรับจำนำทั้งที่ไม่มีหลักฐานเป็นการกล่าวหาอย่างไร้ความรับผิดชอบอย่างมาก" นายชาญชัยกล่าว

เมื่อถามว่าโรงสีพยายามถือข้าวไว้ในมือ เพื่อรอผลการเลือกตั้งและคาดว่าจะมีการนำโครงการรับจำนำกลับมาอีกครั้งนั้น นายชาญชัย กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้เพราะปริมาณข้าวที่ส่งออก มากกว่า 4 ล้านตันช่วงที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าโรงสียอมขายข้าวให้ผู้ส่งออก ระบบการค้าเดินหน้าไปตามปกติ แต่ที่คำสั่งซื้อข้าวกับโรงสีชะลอตัว น่าจะเป็นเพราะผู้ส่งออกเองต้องการรอดูราคาข้าวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากเฉลี่ย 400 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 600 ดอลลาร์ต่อตัน

โรงสีเต็งเพื่อไทยตุนข้าวปั่นราคา

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว กล่าวว่า ราคาข้าวขณะนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากโรงสีข้าวเล็งเห็นว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะจัดตั้งรัฐบาลและนำโครงการรับจำนำข้าวกลับมาใช้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการโรงสีที่เป็นเครื่องมือหลักของโครงการ ทำให้เริ่มมีการเก็บข้าวไม่ยอมขายให้ผู้ส่งออก ส่งผลเชิงจิตวิทยาให้ราคาข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้น

แหล่งข่าว กล่าวว่า บรรดาโรงสีภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สมัคร ส.ส.หรือเป็นหัวคะแนนพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง ต่างมีความเห็นตรงกันว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสชนะและจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจะผลักดันโครงการรับจำนำข้าวกลับมาใช้ทันทีตามที่ได้หาเสียงไว้ จึงเร่งกว้านซื้อข้าวในราคาต่ำประมาณ 8-9 พันบาทต่อตัน ซึ่งหากหลังวันที่ 3 ก.ค.พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ จะมีวิธีการให้ข้าวที่กักตุนไว้เข้าสู่โครงการรับจำนำที่จะเปิดขึ้น คาดว่าจะเป็นปลายเดือน ก.ค.-ส.ค.ในราคา 1.5 หมื่นบาท

“ราคาข้าวไต่สูงขึ้นทุกขณะ เพราะเก็งว่าพรรคเพื่อไทยมาแน่ ซึ่งการกว้านซื้อ กักตุนคราวนี้เขาเล็งกันแล้วว่าไม่มีทางเสียหาย หากผู้ส่งออกจะมาซื้อต้องไล่ซื้อในราคาสูงขึ้น หรือหากผู้ส่งออกไม่ซื้อ เขาก็สามารถนำเข้าโครงการจำนำได้ ในอดีตก็เคยทำมาแล้ว จึงปิดประตูขาดทุนแน่นอน วงจรเดิมๆ จะกลับมาอีกครั้ง”

แหล่งข่าว กล่าวว่า เท่าที่ได้ประเมินขณะนี้โรงสีภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างได้กว้านซื้อข้าวและเก็บไว้ในยุ้งฉางประมาณ 40-60% ของปริมาณความจุยุ้งฉางหรือประมาณ 1.8 ล้านตันข้าวเปลือก จากปริมาณความจุยุ้งฉางภาคเหนือตอนบน 2 แสนตัน ภาคเหนือตอนล่าง 1.2 ล้านตัน ภาคกลางและภาคตะวันออก 3 ล้านตัน ภาคอีสาน 1.5 ล้านตัน ภาคใต้ 1 แสนตัน แต่ที่จะมีกว้านซื้อเก็บจะอยู่ที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง

คาดเล่นเกมปั่นราคาฟันกำไรหมื่นล้าน

หลังจากตุนข้าวแล้วพวกนี้จะหันมาเล่นเกมปั่นราคา ซึ่งตอนนี้นั่งจิ้มเครื่องคิดเลขกันแล้ว ไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท ที่เขาจะปั่นกำไร ปั่นราคากัน ซึ่งการที่บอกว่าตัวเลขส่งออกสูงแต่ละเดือนไม่กักตุนนั้นไม่จริง เพราะตัวเลขที่ส่งออกสูงมาจากข้าวรัฐบางส่วนที่ขายออกไปก่อนหน้านี้และยังขนออกมาไม่หมด มีการทยอยขนเพื่อส่งออกจึงผสมโรงให้ตัวเลขส่งออกรายเดือนสูงขึ้น

สถานการณ์ราคาข้าวในขณะนี้ ต่างจากปี 2551 ที่สต็อกโลกมีปัญหาจริง แต่ขณะนี้ เล่นเกมกักตุน ปั่นราคาทำให้ตลาดป่วน และหากปั่นขึ้นไปมาก ข้าวไทยจะสู้กับคู่แข่งไม่ได้ เมื่อขายไม่ออก ขายยาก รัฐบาลก็ต้องหวนกลับมาซื้อเก็บหรือเรียกว่าจำนำก็แล้ว แต่หากตั้งราคาสูงข้าวก็ไหลไปที่รัฐบาลหมด ถูกต้องหรือไม่ที่เอาภาษีประชาชนมาละเลงกันอย่างนี้ จะเอาอนาคตประเทศไปเล่นกันอย่างนี้ไม่ได้ ถึงแม้อยากได้คะแนนเสียงกันปานใดก็ตาม

แหล่งข่าว กล่าวว่า สถานการณ์ค้าข้าวขณะนี้ ผู้ส่งออกเองก็เล่นตลาดเช่นกัน โดยใช้วิธีขายข้าวแบบตัดราคา โดยมีข้าวในสต็อกรัฐที่ประมูลไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ขนออกจากโกดังมาเป็นเครื่องมือในการกดราคา ผ่านวิธีว่าหากโรงสีไม่ยอมขายข้าวในราคาต่ำตามที่ต้องการ ก็จะนำข้าวในสต็อกออกมาจำหน่ายแทน โดยราคาประมูลเฉลี่ยข้าวสารที่ซื้อจากรัฐอยู่ที่ตันละ 1.2 หมื่นบาท แต่ในทางกลับกัน พบว่าตลาดข้าวเก่ามีน้อยมากและข้าวที่อยู่ในสต็อกที่ทำสัญญาขายให้เอกชนไปแล้วนั้น กำลังจะครบกำหนดการขนข้าวออกตามสัญญา ทำให้คาดว่าจะมีการต่ออายุสัญญาจึงต้องจับตามอง เพราะหากรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการตามนี้จริง ก็จะไม่ยุติธรรมต่อระบบการค้าข้าว และทำให้รัฐเสียประโยชน์ด้วย

“ถ้าไม่มีการระบายข้าวของรัฐป่านนี้ราคาข้าวควรวิ่งไปที่ตันละ 1.6 หมื่นบาทแล้ว เพราะทั้งฟิลิปปินส์ จีน ปากีสถาน อินโดนีเซีย กำลังต้องการข้าว ปริมาณการส่งออกช่วงที่ผ่านมาก็สูงแต่ราคาข้าวอยู่ที่ตันละ 1.3 หมื่นบาทเท่านั้น แต่ตอนนี้ที่ราคาเพิ่มขึ้นน่าจะเป็นเพราะโรงสีรอนโยบายเพื่อไทย จึงเก็บข้าวไว้เพื่อเข้าโครงการรับจำนำ” แหล่งข่าวกล่าว

นิพนธ์เตือนตุนข้าวสวมสิทธิจำนำไม่ง่าย

นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโรงสีข้าวไทย ระบุว่า ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา พบว่าราคาข้าวเพิ่มขึ้น 400-500 บาทต่อตัน และทราบมาว่าขณะนี้โรงสีหลายแห่งแย่งกันรับซื้อข้าวมาเก็บไว้ เพื่อเก็งว่าหากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง และนำโครงการรับจำนำมาใช้ โรงสีเหล่านี้ก็จะนำข้าวที่กว้านซื้อไว้มาสวมสิทธิในโครงการรับจำนำทันที และจะได้กำไรอย่างน้อยเท่าตัว เพราะราคาจำนำอยู่ที่ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ขณะที่โรงสีเขารู้วิธีการว่าจะทำให้ข้าวที่รับซื้อมาก่อนหน้านี้เข้าโครงการรับจำนำได้อย่างไร

“ผมอยากเตือนให้โรงสีระวัง ว่า การกว้านซื้อข้าวเปลือกจากชาวนามาเก็บไว้ และหวังว่าจะนำมาสวมสิทธิเข้าโครงการรับจำนำหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหน่วยงานรัฐมีกลไกในตรวจสอบอยู่แล้ว เช่น ข้าวที่จะเข้าโครงการได้จะต้องมีหลักฐานว่าเป็นข้าวของใคร เกี่ยวตอนไหน และรับซื้อมาเมื่อใด ก่อนหรือหลังมีโครงการ แต่หากกลไกของหน่วยงานรัฐไม่ทำงาน หรือไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอันนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง” นายนิพนธ์กล่าว

แหล่งข่าววงการโรงสีข้าว กล่าวว่า ในรัฐบาลก่อนๆ โรงสีที่เข้าโครงการรับจำนำจะต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ และเมื่อเข้าร่วมโครงการได้แล้วจะต้องจ่ายเงินอีกโดยจ่ายตามปริมาณข้าวเปลือกที่โรงสีได้รับโควตา หรือแม้แต่โครงการตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวของกระทรวงพาณิชย์เพื่อแก้ปัญหาข้าวเปลือกถูกกดราคา โรงสีที่เข้าร่วมโครงการจะต้องจ่ายใต้โต๊ะเช่นเดียวกับโครงการรับจำนำ จึงมีโรงสีเข้าร่วมน้อย ขณะที่ชาวนาหลายพื้นที่ร้องเรียนมายังรัฐบาลว่าถูกโรงสีกดราคาข้าวเปลือกอยู่ และต้องการให้ตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวในราคาอ้างอิง

“วงการโรงสีเขารู้กันว่าหากจะเข้าร่วมโครงการรับจำนำหรือตั้งโต๊ะต้องจ่าย 5 แสนบาทต่อสัญญา หากรับซื้อข้าวหรือจำนำข้าวแล้วก็ต้องจ่ายอีกตามโควตาข้าวเปลือกที่ได้มา ซึ่งอยู่ที่ 100 บาทต่อเกวียน ส่วนโรงสีบางโรงที่เล่นไม่ซื่อ แทนที่จะนำข้าวคุณภาพดีส่งให้รัฐบาลนำไปเก็บที่โกดัง ก็ส่งข้าวคุณภาพต่ำๆ ไปให้แทน แต่ยอมเสียใต้โต๊ะ 20 บาทต่อตัน หรือคุณภาพแย่มากก็จ่าย 50 บาทต่อตัน เก็บไว้ไม่เท่าไรข้าวก็เสีย แล้วรัฐบาลก็นำมาขายในราคาต่ำๆ ข้าวจึงเป็นขุมทรัพย์นักการเมืองเลยทีเดียว” แหล่งข่าวระบุ

ชาวนารับโรงสีตุนข้าว-แฉวิธีสวมสิทธิ

นายวิเชียร พวงลำเจียก อุปนายกสมาคมชาวนาไทย ระบุว่า ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ราคาข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 500 บาทต่อตัน เช่น ข้าวเจ้าราคาเพิ่มจาก 6.5 พันบาทเป็น 7.2-7.3 พันบาทต่อตัน ข้าวหอมปทุมธานีเพิ่มจาก 7.2 พันบาทเป็น 8-8.5 พันบาทต่อตัน ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาลผลิตข้าวนาปรังแล้ว และตอนนี้แม้ข้าวจะมีราคาดี แต่ชาวนาก็ไม่ได้อะไร เพราะข้าวไปอยู่ในมือโรงสีหมดแล้ว

นายวิเชียร ระบุว่า หากโรงสีจะนำข้าวเปลือกที่รับซื้อไปเข้าร่วมโครงการรัฐบาลหน้า เช่น โครงการรับจำนำก็สามารถทำได้ เพราะมีช่องทางอยู่ แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ โรงสีและชาวนาเอง โดยสิ่งที่เคยทำกันมา คือ หากชาวนามีที่นา 50 ไร่ จะได้โควตาข้าวที่จะเข้าโครงการรับจำนำ 40 ตันต่อราย แต่ปรากฏว่าผลผลิตที่ออกมาจริงจะอยู่ที่ 30 ตันเท่านั้น โควตาที่เหลือ 10 ตัน โรงสีก็จะขอซื้อจากชาวนาราคา 300 บาทต่อตัน และให้ชาวนามาลงชื่อ จากนั้นก็นำข้าวเปลือกที่ซื้อเก็บไว้มาเข้าโครงการ

“หากพรรคเพื่อไทยหรือชาติไทยพัฒนานำโครงการจำนำข้าวที่ราคา 1.5 หมื่นบาทต่อตันมาใช้อีกครั้ง การทุจริตโครงการจำนำข้าวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการจำนำเขาได้ปรับปรุงวิธีการใหม่ คือ การนำบัตรเครดิตชาวนามาประกอบเป็นหลักฐานด้วย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทุจริตไม่ได้ เพราะมีช่องทางอยู่ ซึ่งโรงสีและชาวนา รวมถึงผู้เกี่ยวข้องหน่วยงานรัฐต้องร่วมมือกันจึงจะทำได้ คือ การเวียนเทียนข้าว โดยนำข้าวนอกฤดูกาลมาเข้าโครงการรับจำนำ” นายวิเชียรกล่าว

พาณิชย์รับตลาดข้าวจับตาการเมืองไทย

นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ ตลาดต่างประเทศกำลังจับตาดูผลการเลือกตั้งทั่วไปของไทย เพื่อลุ้นว่าเมื่อมีรัฐบาลแล้ว จะทำให้นโยบายดูแลราคาข้าวของไทยเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เพราะนโยบายของไทยจะกระทบกับตลาดโลก โดยขณะนี้ ไทยใช้ระบบการค้าเสรีผ่านโครงการประกันรายได้ ที่เติมเต็มรายได้ให้ชาวนา แต่ตัวสินค้ายังอยู่ในตลาด ขณะที่โครงการรับจำนำ เมื่อรัฐประกาศเริ่มโครงการและกำหนดเป้าหมายปริมาณรับจำนำ เช่น 9 ล้านตัน ตลาดจะรับรู้ว่าข้าวจะหายไปตามจำนวนนั้นทันที และกลายเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลทำให้ผู้ส่งออกเก็งราคาไม่ได้ แต่วิธีการนี้ก็จะมีข้อเสียในแง่ที่ว่าสต็อกรัฐบาลที่เก็บไว้จะเป็นแรงกดดันราคาอีกทอดหนึ่ง

“ขณะนี้ ในตลาดค้าสต็อกข้าวที่มีอยู่ ไม่ใช่ข้าวที่ออกมาจากท้องนา เพราะสิ้นสุดฤดูกาลผลิตไปแล้วส่วนนาปรัง กำลังเริ่มผลิต ซึ่งเทียบกับสัดส่วนการส่งออกช่วงที่ผ่านมาและจากนี้ไปจึงมั่นใจว่าเทรนด์ราคาข้าว จะมีแต่เพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องการเมืองหลังการเลือกตั้ง ก็จะรู้ว่าทิศทางนโยบายข้าวของไทยเป็นอย่างไร แต่ไม่น่าจะกระทบตลาดมากเพราะไทยจะมีรัฐบาลช่วง ส.ค. ซึ่งไม่ใช่ฤดูผลผลิตออกสู่ตลาด แต่จะไปมีผลจริงๆ ช่วง พ.ย.ที่เริ่มต้นปลูกข้าวนาปี” นายมนัสกล่าว

นายสมพงษ์ กิตติเรียงลาภ ประธานกรรมการบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกข้าวจากนี้ ไตรมาสหลังๆ ต้องจับตาการประกาศซื้อข้าวของฟิลิปปินส์ เฉลี่ยปีละ 1 ล้านตัน เพื่อเก็บไว้ในสต็อกสำหรับปีหน้า แต่คาดว่าจะเริ่มขั้นตอนการประกาศรับซื้อประมาณ 1-2 เดือนจากนี้ เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่มีแนวโน้มเตรียมประกาศรับซื้อข้าวแต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะซื้อปริมาณเท่าใด ทำให้ทิศทางราคาน่าจะดีต่อเนื่อง

ผู้ส่งออกรับการเมืองป่วนตลาดข้าว

นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ตลาดข้าวกำลังรอดูผลการเลือกตั้งว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งในส่วนผู้ซื้อต่างประเทศอาจไม่มีผลมากเท่ากับปัจจัยปริมาณความต้องการซื้อจริง แต่ผู้ส่งออกไทยกำลังจับตาดูว่าถ้าผลการเลือกตั้งออกมาในทิศทางใด ก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ส่งออก ซึ่งหากมีการตั้งราคาข้าวสูงและหลังการเลือกตั้งราคาข้าวปรับเพิ่มขึ้นสูงมาก ก็จะทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนสูงตาม และส่งผลต่อไปถึงขีดความสามารถการแข่งขันด้วย

“การหาเสียงเลือกตั้งทำให้ตลาดข้าวป่วนอยู่บ้าง โดยถ้ากำหนดราคาสูงราคาส่งออกก็จะสูงและกระทบไปถึงต้นทุนขายของผู้ส่งออกไทย แต่ถ้าเป็นการสูงตามระบบประกันรายได้ผลกระทบต่อตลาดจะน้อย แต่รัฐบาลอาจต้องเสียเงินชดเชยสูงตามเพดานราคาที่กำหนด แต่ถ้าเป็นระบบจำนำข้าว ที่เป็นการดูดข้าวเข้าคลัง ก็จะกระทบต้นทุนส่งออกทันที” นางสาวกอบสุขกล่าว

ชาวนาเมินนโยบายหาเสียงแข่งดันราคา

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองขณะนี้ ยังไม่ตรงกับความต้องการของชาวนาเพราะสิ่งที่ชาวนาต้องการเห็น คือ การดูแลสินค้าข้าวอย่างยั่งยืนมากกว่าการมากำหนดราคาข้าวสูงมากๆ เพราะในความเป็นจริงอาจไม่สามารถทำได้อย่างที่หาเสียงไว้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาข้าวขณะนี้ที่กำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่ได้เกิดจากปัจจัยการเมือง แต่มาจากปริมาณข้าวที่จะออกสู่ตลาดไม่มีอีกแล้วตามฤดูกาลผลิต

"เรื่องหาเสียงชาวนามองว่าเป็นเหมือนการแย่งมาเอาใจกัน เหมือนขายของที่ต้องมีข้อเสนอมาอวยกัน แต่ไม่รู้จะทำได้จริงหรือไม่ เรียกได้ว่านโยบายที่ประกาศตอนนี้ยังไม่โดน เพราะที่ชาวนาอยากเห็นจริงๆ คือ จะพัฒนาผลผลิตอย่างไร พัฒนาแหล่งน้ำ และความเป็นอยู่ของชาวนาอย่างไรที่ยั่งยืนมากกว่านี้" นายประสิทธิ์กล่าว

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

TREA on Facebook


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.