นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการที่พรรคเพื่อไทย แกนนำตั้งรัฐบาล มีนโยบายจะรับจำนำข้าวเปลือกในราคาสูง (ข้าวเปลือกเจ้าทั่วไปตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 20,000 บาท)ส่งผลให้คู่ค้าต่างประเทศ ได้วิ่งซื้อข้าวจากผู้ส่งออกและโรงสีไทย เพราะเชื่อว่าราคาข้าวไทยจะขยับสูงขึ้น โดยราคาข้าวขาว 5% ในตลาดโลก ก่อนการเลือกตั้ง (3 ก.ค.54) เฉลี่ยที่ 420-430 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ล่าสุดราคาขยับมาอยู่ที่ 540 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และในเดือนพฤศจิกายนศกนี้มีแนวโน้มจะขยับขึ้นไปถึง 800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวของไทย
อย่างไรก็ดี มีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยอาจไม่ดีดังคาด เมื่อล่าสุด (12 ก.ค.54) ทราบข่าวว่า ประเทศอินเดียจะกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้ง จำนวน 1 ล้านตัน และขายแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือจีทูจี จำนวน 800,000 ตันในปีนี้ คาดว่าจะส่งผลทำให้ในช่วง 1-2 สัปดาห์จากนี้ไปคู่ค้าต่างประเทศจะชะลอซื้อ และจะส่งผลทำให้ราคาข้าวไทยมีแนวโน้มลดลง แต่คงไม่มากนัก ทั้งนี้ จากการส่งออกข้าวของประเทศอินเดีย จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของทั้งไทยและเวียดนาม เพราะจะมีตัวแชร์ตลาดเพิ่มขึ้น
รายงานจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยถึงการส่งออกข้าวของไทยตั้งแต่ 1 ม.ค.-7 ก.ค.2554 ว่า มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 6,543,309 ตัน แยกเป็นการส่งออกในเดือนมกราคม ปริมาณ 920,790 ตัน กุมภาพันธ์ 970,508 ตัน มีนาคม 1,123,374 ตัน เมษายน 947,427 ตัน พฤษภาคม 1,194,970 ตัน มิถุนายน 1,168,681 ตัน และช่วงวันที่ 1-7 กรกฎาคมอีก 217,619 ตัน ทั้งนี้คาดการณ์ว่าการส่งออกข้าวของไทยในปี 2554 จะส่งออกได้ 9.5-10 ล้านตัน
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. มีประสบการณ์ พร้อมที่จะทำงานให้กับทุกพรรค ไม่ว่าจะเป็นโครงการประกันรายได้เกษตรกร หรือโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งในเบื้องต้นจะขอความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ว่าจะใช้ฐานข้อมูลจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจากโครงการประกันรายได้เกษตรกรหรือไม่ จะรับจำนำข้าวทุกเม็ดหรือจะจำกัดปริมาณ จึงจะสรุปตัวเลขได้ว่าจะต้องใช้เงินงบประมาณเท่าไรในการรับจำนำ
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตรปี 2551/52 มีจำนวนเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวเปลือกนาปรัง จำนวน 1,314,689 คน จำนวนเงินที่เกษตรกรได้รับรวม 161,051.12 ล้านบาท ประมาณการภาระขาดทุนรวม 53,997.93 ล้านบาท มีผลผลิตที่เข้าร่วมโครงการรวม 23.17 ล้านตัน ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรวม 17,097 ล้านบาท
ส่
วนโครงการประกันรายได้เกษตรกรปี 2552/53 มีเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ ข้าวเปลือกนาปี มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวเปลือกนาปรัง จำนวน 5,488,790 คน จำนวนเงินที่เกษตรกรได้รับรวม 62,223.45 ล้านบาท ผลผลิตที่เข้าร่วมโครงการรวม 68.30 ล้านตัน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธ.ก.ส.รวม 2,257 ล้านบาท
ขณะที่นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า โครงการรับจำนำไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ เป็นโครงการเก่าทั้งผู้ส่งออกและโรงสี มีความพร้อมในระดับหนึ่งอยู่แล้ว โดยเฉพาะในปีนี้สถานการณ์ข้าวไทยในตลาดโลกมีความต้องการสูง เพราะประเทศต่างๆ ประสบปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกน้ำท่วม หิมะตก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ซึ่งการจำนำข้าวที่ประสบความสำเร็จก็คือจ้างโรงสี แปรสภาพจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ซึ่งถ้าจะให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองที่สูงขึ้นไม่ควรจำกัดเขตโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ เหมือนสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่หากเปรียบเทียบระหว่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรแล้ว โครงการรับจำนำข้าวจะเสียเปรียบในด้านการแข่งขันกับผู้ส่งออกในตลาดโลก
ด้านนายอนุกูล แต้มประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้ประกาศความพร้อมที่จะสนองนโยบายโครงการรับจำนำข้าว เพราะปีที่ผ่านมา อคส.ได้ลงทุนด้านไอที ประมาณ 22 ล้านบาทเพื่อเชื่อมโยงกับคลังสินค้ากว่า 800 คลัง 30 กว่าจังหวัด รวมทั้งโรงสีกว่า 1,100 แห่ง และปรับโครงสร้างในองค์กร มั่นใจว่าระบบใหม่จะป้องกันการสวมสิทธิ์ และป้องกันการทุจริตตั้งแต่นำข้าวเม็ดแรกมาเก็บในคลังสินค้าของอคส.
นายกมลวิศว์ แก้วแฝก กรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรรักษาการแทนในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กล่าวว่า อ.ต.ก.พร้อมทั้งเรื่องบุคลากร และความเชี่ยวชาญ ขณะนี้รอรัฐบาลสั่งการลงมาอย่างเดียว
ส่วนนายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึง โครงการรับจำนำข้าว จะเป็นโครงการที่ทำลายตลาดทั้งระบบ คือ ตลาดข้าวทั้งในประเทศและตลาดข้าวโลก เพราะการจำนำข้าวนั้นจะไม่ได้คำนึงคุณภาพข้าวเป็นหลัก จึงทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจหันมาผลิตข้าวอายุสั้นกันมากขึ้น เพราะรัฐบาลไม่ได้สนใจเรื่องคุณภาพ จะส่งผลทำให้ในอนาคตข้าวไทยสูญเสียตลาดข้าวคุณภาพดีให้กับเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันข้าวคุณภาพต่ำจะขายไม่ออก สุดท้ายคนในประเทศก็ต้องรับประทานข้าวคุณภาพต่ำ
อนึ่ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกฯคนใหม่ เปิดเผยล่าสุดว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจะเริ่มได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นช่วงฤดูข้าวนาปี
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|