นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปี 54/55 ว่า ขณะนี้ ยังมีโรงสีเข้าร่วมโครงการน้อยมาก เพราะอยู่ระหว่างการทำสัญญากับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ซึ่งได้เร่งรัดให้ทั้ง 2 หน่วยงานดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับจำนำข้าวเปลือกในภาคอีสาน ที่จะมีผลผลิตออกมากประมาณ 7-8 ล้านตันข้าวเปลือกในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.นี้
อีกทั้งเพื่อให้โรงสีได้รับผลประโยชน์จากการรับจำนำข้าวด้วย เพราะการรับจำนำครั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้กำหนดปริมาณรับจำนำสูงสุดของเกษตรกรแต่ละราย จากเดิมที่กำหนดไม่เกินรายละ 25 ตัน ซึ่งจะทำให้โรงสีสามารถรับจำนำได้ในปริมาณมากขึ้น มีเงินค่าจ้างในการฝากเก็บจากรัฐมากขึ้น และยังได้รับผลพลอยได้จากการสีแปรสภาพข้าว เช่น ปลายข้าว รำข้าว เพื่อไปขายเองได้มากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม หากโรงสีในภาคอีสานที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำมีไม่เพียงพอ ที่จะรับจำนำข้าวจากเกษตรกร ก็ได้ประสานให้คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ให้ทำรายงานเสนอมายังคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าว ที่มีนายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อจะได้พิจารณาอนุมัติให้โรงสีจากภาคอื่นเข้าไปรับจำนำข้าวในภาคอีสานได้
"ตอนนี้ โรงสีในภาคอีสานพร้อมเปิดจุดรับจำนำแล้ว 123 จุด เป็นโรงสีในภาคอีสานเอง 113 จุด และจากภาคอื่น 10 จุด จากจำนวนโรงสีในภาคนี้ทั้งหมด 441 แห่ง คาดว่าจะไม่เพียงพอที่จะรับจำนำข้าวจากเกษตรกร จึงจะพิจารณาอนุมัติให้โรงสีจากภาคกลาง ที่ยังมีข้าวมาจำนำน้อย เพราะพื้นที่เพาะปลูกถูกน้ำท่วมและข้าวเสียหาย ให้ขึ้นมารับจำนำข้าวภาคอีสานได้ ไม่เช่นนั้น จะทำให้เกษตรกรไม่มีที่จำนำข้าว และอาจถูกโรงสีในพื้นที่กดราคารับซื้อได้" นายยรรยงกล่าว
กระทรวงพาณิชย์ต้องการให้เกษตรกรในพื้นที่ ที่ยังมีโรงสีเข้าร่วมโครงการไม่เพียงพอ ชะลอการจำนำข้าวออกไประยะหนึ่ง จนกว่ารัฐบาลจะจัดหาโรงสีได้ เพราะต้องการให้เกษตรกรนำข้าวเข้าสู่โครงการจำนำของรัฐบาล เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ของรัฐดูแลในเรื่องการหักความชื้น และน้ำหนักข้าวให้ด้วย ส่วนผลการรับจำนำข้าวล่าสุดได้แล้วประมาณ 676,000 ตัน เป็นข้าวภาคเหนือ 440,000 ตัน ภาคอีสาน 43,000 ตัน และภาคกลาง 193,000 ตัน
สำหรับแนวโน้มราคาข้าวไทยนั้น คาดว่า จะสูงขึ้นตามราคารับจำนำ ประกอบกับ น้ำท่วมใหญ่ในไทยทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวเสียหายเกือบ 10 ล้านไร่ คิดเป็นผลผลิตประมาณ 7-8 ล้านตันข้าวเปลือก ขณะที่ความต้องการข้าวในโลกยังมีมาก โดยล่าสุด ราคาส่งออก (เอฟโอบี) ข้าวหอมมะลิ ตันละ 1,182 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากสัปดาห์ก่อนซึ่งยู่ที่ตันละ 1,206 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อคิดเป็นราคาข้าวเปลือกจะเท่ากับราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิที่ตันละ 20,000 บาท ส่วนข้าวขาว ตันละ 649 ดอลลาร์สหรัฐ หากจะให้เท่ากับราคารับจำนำข้าวเปลือก ต้องดันให้ขึ้นมาที่ตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการส่งออกข้าวไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-10พ.ย.อยู่ที่ 9.823 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่า 5,769 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่า ปริมาณส่งออกจนถึงสิ้นเดือนพ.ย.น่าจะได้ 10 ล้านตัน และจนถึงสิ้นเดือนธ.ค.น่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 10.5 ล้านตัน จากเป้าหมายปีนี้ที่ 10 ล้านตัน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
|