www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

"เวิลด์แบงก์"เตือนโลกเผชิญวิกฤติราคาอาหารรอบ 2


ธนาคารโลกเผยรายงานล่าสุด ระบุ ปัญหาราคาอาหารแพงต่อเนื่อง ทำให้คนจนทั่วโลกเพิ่มเป็น 44 ล้านคน ทั้งยังเสี่ยงทำให้เกิดภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมือง และทำให้พลเมืองโลกแบกต้นทุนสินค้า-อุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น

ราคาอาหารทั่วโลก ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดัชนีราคาอาหารของเวิลด์แบงก์ หรือธนาคารโลก ระหว่างเดือนตุลาคมปี 2553 และเดือนมกราคม ปี 2554 เพิ่มขึ้น 15% ต่ำกว่าระดับที่เคยเกิดวิกฤติราคาอาหารเมื่อปี 2551 เพียง 3% เท่านั้น อีกทั้งในช่วง 6 เดือนสุดท้าย ราคาโภคภัณฑ์หลักๆ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด น้ำตาล และน้ำมัน สำหรับรับประทาน ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากสัมพันธ์กับราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ทั้งนี้ ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกปรับตัวขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีระดับท้องถิ่นในหลายประเทศพร้อมใจกันปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ ราคาข้าวโพด น้ำตาล และน้ำมันที่สูงขึ้นยังคงเป็นปัจจัยหนุนต้นทุนการผลิตอาหารหลากหลายประเภทเพิ่มขึ้น แม้ราคาข้าวโพดในท้องถิ่นในแถบซับสะฮาราทวีปแอฟริกาส่วนใหญ่ค่อนข้างทรงตัว

ส่วนราคาข้าวในท้องถิ่นแพงขึ้นในลักษณะที่สอดคล้องกับราคาข้าวตลาดโลกในประเทศเอเชียบางประเทศที่บริโภคข้าวเป็นหลัก ซึ่งการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาอาหารเหล่านี้ก่อให้เกิดความผันผวนแก่เศรษฐกิจมหัพภาค โดยเฉพาะในประเทศต่างๆ ที่มีสัดส่วนการนำเข้าอาหารปริมาณสูง และมีช่องว่างด้านงบประมาณค่อนข้างจำกัด แถมยังทำให้คนยากจนในโลกเพิ่มมากขึ้นประมาณ 44 ล้านคน ในประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรอยู่ในระดับกลางถึงระดับต่ำ

ราคาอาหารทะยานต่อเนื่อง

ราคาอาหารโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่ใช่เมล็ดพันธุ์พืชเกษตรทุกตัวก็ตาม โดยดัชนีราคาอาหารของธนาคารโลกเมื่อปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 29%เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ และอยู่ต่ำกว่าระดับของราคาอาหารเมื่อปี 2551 ที่เกิดวิกฤติราคาอาหารจนทะยานขึ้นไปสูงสุดเพียง 3% ซึ่งการปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสสุดท้าย ส่วนใหญ่ถูกผลักดันโดยราคาน้ำตาลที่แพงขึ้น (20%) ไขมันและน้ำมัน (22%) แป้งสาลี (20%) และ ข้าวโพด (12%)

ราคาข้าวสาลีเพิ่มสูงสุดช่วง2-3เดือน

ในบรรดาโภคภัณฑ์ประเภทเมล็ดพืชเกษตร ราคาข้าวสาลีในตลาดโลก ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผลพวงจากหลายประเทศมีปัญหาเรื่องสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับการใช้มาตรการคุมเข้มด้านการส่งออก ปริมาณข้าวสาลีหมุนเวียนมีจำกัด ล้วนเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาข้าวสาลีทะยานขึ้นกว่า 2 เท่าระหว่างเดือนมิถุนายนปี 2553 และ มกราคม ปี 2554

ทั้งนี้ มีตัวแปรสองตัวที่ทำให้ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกทะยาน ในด้านของซัพพลาย มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับขนาดและคุณภาพของการส่งออกข้าวสาลีจากออสเตรเลียที่พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายในวงกว้างจากปริมาณฝนที่ตกลงมามากเกินไปและภัยจากน้ำท่วม ประกอบกับความกังวลเรื่องการปลูกข้าวสาลีในฤดูหนาวของจีน

นอกจากนี้ ความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าประเทศนำเข้าข้าวสาลีส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ จะมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาปริมาณมาก สัมพันธ์กับการเก็บสำรองอาหารไว้ให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคในบางประเทศ ในช่วงที่สถานการณ์การเมืองเปราะบาง และเหตุผลประการสุดท้าย คือ ประเทศต่างๆ อย่าง ซาอุดีอาระเบีย กำลังลดกำลังการผลิตในประเทศเพื่ออนุรักษ์แห่งน้ำที่มีคุณค่าและหันไปพึ่งพาข้าวสาลีที่สั่งนำเข้ามาแทน

ต้นตอภาวะผันผวนต่อเศรษฐกิจมหัพภาค

หนึ่งในผลพวงจากราคาอาหารที่ทะยานขึ้น ส่งผลกระทบทำให้ราคาอาหารในประเทศแพงขึ้นและราคาสินค้าโดยรวมพลอยทะยานขึ้นไปด้วย กว่า 1 ใน 3 ของประเทศต่างในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางเผชิญปัญหาราคาอาหารแพงกว่า 10% ในช่วงปีที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารและพลังงานในปริมาณสูงก็เผชิญหน้ากับภาวะผันผวนของราคาอาหารด้วยเช่นกัน รวมถึง ทาจิกิสถาน สาธารณะรัฐคีร์กิซ จอร์เจีย และ แอลเบเนียในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง ซึ่งพยายามจำกัดการขาดดุลงบประมาณปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังจากผ่านพ้นช่วงวิกฤติการเงินเมื่อปี 2552 มาได้

รายงานของธนาคารโลก ฉบับล่าสุด คาดการณ์ว่า อาจจะมีประชากรโลกมีฐานะยากจนเพิ่มขึ้น 44 ล้านคนในประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรระดับกลางและระดับต่ำ เพราะผลพวงจากราคาอาหารที่แพงขึ้น นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2553 และในสถานการณ์เช่นนี้ บรรดาผู้ผลิตอาหารจะได้ประโยชน์จากกรณีนี้ ส่วนผู้บริโภคคือ ผู้บอบช้ำจากสถานการณ์ราคาอาหารแพง

ประชากรโลกเสี่ยงเผชิญโรคขาดแคลนอาหาร

ปัญหาราคาอาหารแพงมีส่วนสัมพันธ์กับโภชนาการของมนุษย์ โดยการที่มีคนยากจนมากขึ้น จะทำให้เกิดโรคขาดแคลนอาหารมากขึ้น เนื่องจากคนที่มีฐานะยากจนมากขึ้น จะรับประทานอาหารน้อยลงและบริโภคอาหารอื่นที่มีคุณภาพน้อยกว่าเป็นการทดแทน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ มักเกิดขึ้นในหมู่ทารกที่มีอายุระหว่างศูนย์-สองขวบ และสตรีตั้งครรภ์

นอกจากนี้ ปัญหาสลับซับซ้อนเกี่ยวกับความเชื่อมโยงด้านอาหารยังส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาโรคอ้วนด้วยเช่นกัน ทำให้ความต้องการน้ำเชื่อมทำจากข้าวโพดที่มีฟรุคโทสสูง ที่ถูกใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มีราคาแพงเพิ่มขึ้นในเม็กซิโก ซึ่งรัฐบาลกำลังรณรงค์แก้ปัญหาโรคอ้วนอย่างเอาจริงเอาจังในหมู่ประชากร

แนวโน้มราคาข้าวตลาดโลกทรงตัว

ราคาข้าวตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำสุดเมื่อเทียบกับพืชเกษตรประเภทเมล็ดอื่นๆ และมีแนวโน้มว่าราคาจะคงตัว โดยราคาส่งออกสำหรับข้าวจากไทย (ประเภทข้าว 5%) เพิ่มขึ้น 8% ระหว่างเดือนตุลาคมและเดือนมกราคม 2554 และเพิ่มขึ้น 17% นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2553 แต่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับที่เกิดวิกฤติราคาอาหารเมื่อปี 2551 ประมาณ 70%

ประกอบกับ การเก็บเกี่ยวที่ให้ผลผลิตดีในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกข้าว การตัดสินใจของรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่จะจำกัดการนำเข้าข้าว และการปล่อยข้าวในสต็อกล็อตใหญ่ออกสู่ตลาดโลกของไทย ล้วนเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาข้าวในตลาดทรงตัว แต่มีตัวแปรหนึ่ง ที่ช่วยจำกัดแรงกดดันขาลงของราคาข้าว คือการที่บังกลาเทศและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลก ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่าจะเพิ่มปริมาณสำรองข้าวภายในประเทศ

ราคาข้าวในบางประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น

ราคาข้าวภายในประเทศปรับตัวขึ้นอย่างมากในบางประเทศ โดยเฉพาะในเวียดนาม (46%) และ บุรุนดี (41%) ระหว่างเดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2553 ส่วนราคาข้าวของอินโดนีเซีย (19%) บังกลาเทศ (19%) และ ปากีสถาน (19%)ปรับตัวขึ้นตามภาวะราคาข้าวในตลาดโลก ประเทศในเอเชียเหล่านี้เป็นผู้บริโภคข้าวรายใหญ่ โดยเฉพาะประเทศที่มีฐานะยากจน ส่วนราคาข้าวในเวียดนามที่เพิ่มขึ้นแม้ว่าการเก็บเกี่ยวในประเทศจะให้ผลผลิตสูง ก็เพราะเงินด่องแข็งค่า ส่งผลให้ราคาสินค้าโดยรวม ไม่ใช่เฉพาะแค่ข้าว ปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับราคาข้าวในศรีลังกาที่เพิ่มขึ้น 12% และ จีน เพิ่มขึ้น 9% ส่วนราคาข้าวในกัมพูชาและฟิลิปปินส์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่ราคาข้าวประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาคเอเชียหลายประเทศ ยังคงทรงตัว เช่น แคเมอรูน กัวเตมาลา เม็กซิโก ปานามา และ โซมาเลีย

ญี่ปุ่นงัด กม.เข้มด้านอาหาร หวั่นกระเทือนส่งออกข้าวไทย

ญี่ปุ่นยกระดับความปลอดภัยในอาหาร งัด กม.ตรวจสอบย้อนกลับเจาะจงสินค้าข้าว และผลิตภัณฑ์จากข้าวที่ผลิตภายในประเทศ ต้องแสดงข้อมูลแหล่งที่มา หวังสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ด้านสถาบันอาหาร หวั่นไทยอาจได้รับผลกระทบส่งออกสินค้าข้าวไปญี่ปุ่นทางอ้อม

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.