|
ตลาดโลกชะลอตัวฉุดราคาข้าวยอดส่งออกสวนทางทะลุ 2.46 ล้านตัน
|
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การปรับตัวลดลงของราคาข้าวภายในประเทศในขณะนี้เป็นเพียงการตอบสนองต่อภาวะตลาดโลกที่มีการชะลอตัว เนื่องจากพ่อค้าและผู้นำเข้าส่วนใหญ่ต่างรอซื้อข้าวของเวียดนามที่จะออกสู่ตลาดปริมาณกว่า 12 ล้านตันในเดือนมี.ค.-พ.ค.นี้ และยังมีปัญหาทางการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาที่ได้ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าข้าว รวมทั้งการที่ประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ยังคงชะลอการนำเข้าข้าว ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลแต่อย่างใด เพราะการระบายข้าว ไม่เพียงแต่ไม่ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ แต่ยังสามารถขายข้าวได้ราคาดีอยู่ในระดับราคาใกล้เคียงกับราคาตลาดด้วย
"คาดว่าสถานการณ์ชะลอตัวของตลาดข้าวโลกดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นประมาณ 1-2 เดือนเท่านั้น เมื่อผ่านช่วงเวลาดังกล่าวไปแล้ว สถานการณ์ตลาดข้าวโลกโดยรวมจะกลับสู่ภาวะปกติและมีทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีโดยมั่นใจว่าราคาข้าวในประเทศมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นภายในเดือนพ.ค.นี้"นางพรทิวากล่าว
สำหรับการส่งออกข้าวตั้งแต่ม.ค.-15 มี.ค.ที่ผ่านมา ไทยได้ส่งออกข้าวไปแล้ว2.46 ล้านตัน มูลค่า 42,661 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 และ2553 ที่ส่งออกข้าวได้เพียง 1.68 และ 1.75 ล้านตัน มูลค่า 31,952 และ 35,517 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากที่ได้มีการระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลในช่วงปีที่ผ่านมา
นางพรทิวากล่าวว่า ในประเด็นการขายมันเส้นและแป้งมันสำปะหลังให้จีนที่ถูกกล่าวหาจากฝ่ายค้านนั้น ขอยืนยันว่าไม่ได้ขายต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะราคาที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ขายเป็นราคาหน้าคลังสินค้า ไม่ใช่ราคาส่งออก(FOB) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ขายเก็บรักษาไว้นานกว่า 2 ปี คุณภาพจึงเสื่อมลง รวมทั้งผู้ซื้อมีภาระค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงคุณภาพค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายก่อนส่งออก ดังนั้น ราคาที่ขายหน้าคลังสินค้า เมื่อรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ จึงมีราคาใกล้เคียงกับราคาส่งออก FOB และผู้ซื้อก็เป็นรัฐวิสาหกิจของจีน
สำหรับการดูแลราคาสินค้า ได้มีการบริหารจัดการให้สินค้ามีเพียงพอ ไม่ขาดแคลน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกฝ่าย คือ เกษตรกร ประชาชนผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ส่วนที่มีสินค้าบางตัวราคาเพิ่มขึ้น เป็นการปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว และตามราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากวัตถุดิบการเกษตร และวัตถุดิบที่นำเข้า แต่โดยภาพรวมราคาสินค้าไม่ได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นจนกระทบกับประชาชนโดยในปี 2553 ที่ผ่านมา สามารถดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ 3.3% ได้
อย่างไรก็ตาม สินค้าที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นบางรายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงน้ำตาลทราย และน้ำมันปาล์ม เป็นสินค้าที่มีหน่วยงานอื่นดูแลโดยตรง ทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ดูแลตรงปลายทาง แต่ก็ได้เข้าไปบริหารจัดการอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน และดูแลด้านราคาเพื่อไม่กระทบกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
"กรณีน้ำตาลทราย ที่ถูกกล่าวหาว่าดูแลไม่ได้ ปล่อยให้มีราคาแพง กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้คุมสินค้าน้ำตาลทรายโดยตรงดูแค่ปลายทาง แต่ก็ได้มีการบริหารจัดการในช่วงที่มีปัญหาตึงตัวและขาดแคลนโดยที่ผ่านมา ได้ขอโควตาน้ำตาลทราย 1 ล้านกระสอบมาเพื่อบริหารจัดการเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ตลาด ซึ่งได้ช่วยบรรเทาภาวะความตึงตัวได้ในระดับหนึ่งปัจจุบันได้ระบายออกไปเกือบหมด เหลือเพียงแค่ 57,814 กระสอบที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายโดยจะนำไปกระจายเพื่อแก้ไขปัญหาการตึงตัวต่อไป" นางพรทิวากล่าว
นางพรทิวากล่าวว่า ส่วนสินค้าที่กำลังจะขอปรับขึ้นราคาเข้ามายังกระทรวงพาณิชย์ เช่น นม น้ำมันถั่วเหลือง เหล็กและปุ๋ยเคมี เป็นเพราะต้นทุนสูงขึ้น โดยนมต้นทุนเพิ่มจากการที่ครม. ได้อนุมัติให้ปรับเพิ่มราคาน้ำนมดิบ น้ำมันถั่วเหลืองต้นทุนเพิ่มจากถั่วเหลืองนำเข้า ส่วนเหล็กและปุ๋ยเคมี ต้นทุนเพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น และราคาน้ำมันที่สูงขึ้นโดยกระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่าจะดูแลการปรับขึ้นราคาให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
ที่มา ASTVผู้จัดการรายวัน
|
|
|
|
|
© Thai Rice Exporters Association
37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678
E-mail : contact@thairiceexporters.or.th
Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.
|
|
|