นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยกรณีสหภาพยุโรป (อียู) คัดค้านการยื่นขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้จาก 5 จังหวัดไทย ได้แก่ ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ มหาสารคาม และศรีสะเกษ ในอียูว่า ในวันที่ 28 ก.พ.นี้ เจ้าหน้าที่สถานทูตเอกอัครราชทูต 5 ประเทศประจำประเทศไทยของสมาชิกอียูที่คัดค้าน คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ จะมาพบตน เพื่อหารือถึงประเด็นที่ได้คัดค้านทั้งหมด หลังจากนั้นในเดือนมี.ค.นี้ ตนจะเดินทางไปประเทศเบลเยียม เพื่อหารือกับคณะกรรมาธิการอียู และเริ่มต้นกระบวนการโต้แย้งคำคัดค้านของอียูอย่างเป็นทางการ
ประเด็นที่อียูคัดค้านไทย ได้แก่ ไทยไม่ควรจำกัดการใช้สิทธิชื่อ “ข้าวหอมมะลิ” แต่เพียงผู้เดียวในการจดทะเบียนจีไอ หากต้องการจดจีไอ ควรจดเฉพาะคำว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” เท่านั้น ส่วนขบวนการผลิตของไทย โดยเฉพาะการบรรจุหีบห่อ ไม่น่าจะได้คุณภาพมาตรฐานตามที่อียูกำหนด
“ในการหารือกับทั้งสถานทูตจาก 5 ประเทศ และหารือกับคณะกรรมาธิการอียูในเดือนมี.ค. เราจะยังยืนยันเจตนารมณ์เดิมใช้ชื่อข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ในการจดจีไอ เป็นการชี้เฉพาะเจาะจงว่าสินค้าของเราคือข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้ เพราะหากจดเฉพาะคำว่าทุ่งกุลาร้องไห้อย่างเดียว และในอนาคตทุ่งกุลาร้องไห้ ผลิตสินค้าจีไออื่นๆ ได้ก็จะไม่มีใครรู้จัก” นางปัจฉิมากล่าว
ทั้งนี้ เชื่อว่าการโต้แย้งของไทยน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี เพราะได้รับการแจ้งจากอียูว่า ประเด็นที่อียูคัดค้านไม่ใช่ประเด็นยาก และไม่ใช่ประเด็นทางเทคนิค ที่ต้องมีข้อพิสูจน์มาก หากการยื่นโต้แย้งคัดค้านสำเร็จ ไทยสามารถยื่นจดทะเบียนจีไอข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ในอียูได้ภายในปีนี้
นางปัจฉิมา กล่าวว่า ตนยังเกรงว่าอียูจะคัดค้านการจดทะเบียนจีไอรายการอื่นของไทย เช่น กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้างที่อยู่ระหว่างการยื่นขอจดเช่นกัน แต่กรมฯ จะเดินหน้าต่อสู้ให้ถึงที่สุด และยังมีแผนที่จะนำสินค้าจีไออื่นๆ ยื่นจดเพิ่มเติม เช่น สับปะรดภูแล ส้มโอนครชัยศรี ส้มโอขาวแตงกวา ส่วนกรณีผ้าไหมนั้น กำลังจะยื่นขอจดจีไอในประเทศอื่นๆ แต่ไม่ยื่นจดในอียู
“ไทยกำลังเจรจาในกรอบองค์การการค้าโลก ให้ประเทศสมาชิกขยายขอบเขตสินค้าที่จะจดจีไอเพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมถึงสินค้าข้าว ผ้าไหม และกาแฟ ในบางประเทศสมาชิกที่ยังไม่รับจดด้วย หากการเจรจาสำเร็จจะช่วยขยายตลาดสินค้าไทย และเพิ่มมูลค่าการส่งออกด้วย” นางปัจฉิมากล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|