www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ทีดีอาร์ไอฟันธงเกษตร "ขาขึ้น" สศก.ระบุ 'ภาวะโลกร้อน-ภัยธรรมชาติ' โอกาสดีสินค้าไทย


ทีดีอาร์ไอ ประเมิน 5 ปัจจัยส่งผลดีต่อราคาสินค้าเกษตรกรไทย เชื่อว่าอีก 10 ปียังอยู่ช่วง "ขาขึ้น" เหตุความต้องการสินค้าในตลาดโลกเพิ่มขึ้น เลขาธิการ สศก.ระบุภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติ ส่งผลทั่วโลกกังวล เรื่องความมั่นคงอาหารและพลังงานทดแทนชี้เป็นโอกาสของไทย เตือน "เวียดนาม จีน บราซิล" คู่แข่งสำคัญปลูกข้าว ย้ำนโยบายรัฐต้องชัดเจนมองอย่างเป็นระบบแก้ไขปัญหาตั้งแต่การตลาดจนถึงปัญหาที่ดิน

จากวิกฤติภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นและลุกลามไปทั่วโลก ทำให้พื้นที่ภาคเกษตรหลายประเทศได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ราคาโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องช่วงที่ผ่านมา จนทำให้หลายๆประเทศตื่นตระหนกหันมาให้ความสนใจกับการสำรองอาหารมากขึ้น จนเป็นเหตุทำให้ความต้องการอาหารและสินค้าเกษตรอื่นๆเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตสินค้าเกษตรและส่งออกรายใหญ่ของโลกจะได้รับอานิสงส์จากความเปลี่ยนแปลงของภัยธรรมชาติ

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าสินค้าเกษตรไทยส่วนใหญ่ผลิตเพื่อส่งออกส่งผลให้ปัจจัยภายนอกมีผลต่อภาวะการเกษตรไทย โดยปัจจัยที่มีผลต่อภาคการเกษตรของไทยในระยะสั้นอยู่ที่การเก็งกำไรสินค้าโภคภัณฑ์ที่ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาภัยธรรมชาติที่ทำให้ผลผลิตในหลายประเทศลดลงจึงเป็นโอกาสของภาคเกษตรไทย

หากย้อนไปเมื่อปี 2523-2539 นับเป็นยุคที่ภาคเกษตรตกต่ำ เพราะราคาตกต่ำ เนื่องจากมีการอุดหนุนคุ้มครองภาคเกษตรในประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งมีมาตรการลงโทษภาคเกษตรในประเทศกำลังพัฒนา ต่างจากการเกษตรในยุคปัจจุบันปี 2554-2563 ที่มีทิศทางสดใส

"ดัชนีราคาอาหารในอนาคตถีบตัวสูงขึ้นสาเหตุระยะยาวมาจากปรากฏการณ์ไชน่าเอฟเฟคเนื่องจากประชากรของจีน มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการอาหาร วัตถุดิบเพิ่มขึ้นรวดเร็วในไม่ช้าอินเดีย มีแนวโน้มว่าต้องนำเข้าอาหารเพิ่มเช่นกัน ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และราคาน้ำมันที่สูงเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลดีต่อราคาพืชพลังงาน ส่วนสาเหตุระยะสั้น พบว่ามีปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ยังไม่เห็นรัฐบาลใดแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง"

5 ปัจจัยหลักดันราคาสินค้าเกษตร

ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อภาคเกษตรไทย มีอยู่ 5 ปัจจัย คือ 1.ความต้องการบริโภคในจีนที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ตามฐานะที่ดีขึ้นทำให้ราคาอาหารสูงขึ้นและการนำเข้าอาหารเพิ่มของอินเดียในไม่ช้า 2.ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้องนำพืชอาหารไปผลิตพลังงานทดแทนมากขึ้น ทำให้พื้นที่ปลูกพืชอาหารลดลง 3.นโยบายการอุดหนุนการผลิตเอทานอลของสหรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมัน ทำให้สหรัฐนำข้าวโพด 37% ไปผลิตเอทานอลแทนที่จะผลิตอาหารสัตว์ ส่งผลต่อเนื่องทำให้การปลูกข้าวสาลีลดลง แต่ราคาข้าวสูงขึ้น

4.ความต้องการสินค้าอาหารปลอดสารเคมีจะสูงขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว การกำหนดมาตรฐานสุขอนามัยที่สูงขึ้น และความต้องการสินค้าอาหารที่ลดการปล่อยคาร์บอนและใช้น้ำน้อย ปัจจัยเหล่านี้จะนำไปสู่การกีดกันการค้า 5.การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ทำให้สินค้าเกษตรของประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูก จะถูกส่งเข้ามาไทยมากขึ้น เช่น ข้าว แนะเร่งพัฒนาจุดแข็ง
ชี้ไทยได้เปรียบพื้นที่เพาะปลูก

นายนิพนธ์กล่าวว่า ภาคเกษตรไทยมีจุดได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านคือที่ดินเพื่อการเพาะปลูกมีมากเฉลี่ย 20 ไร่ต่อแรงงานหนึ่งคน สูงกว่าประเทศอื่นในเอเชีย แต่ยังมีปัจจัยที่ไทยเสียเปรียบ เช่นภัยแล้ง น้ำท่วม ขาดแคลนแรงงาน ค่าแรงงานสูงขึ้นโดยเฉพาะค่าแรงภาคเกษตรปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)ระบุว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยแผนพัฒนาฯฉบับที่ 9 มีเนื้อที่ถือครอง 130.29 ไร่ คิดเป็น 40.63% แต่ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 10 เพิ่มเป็น 131.59 ล้านไร่ เป็นที่นาถึง 66.08 ล้านไร่

"พืชในอนาคตที่จะส่งเสริมต้องใช้จุดแข็งของประเทศ โดยใช้พื้นที่มาก ใช้แรงงานน้อยหรือใช้เครื่องจักรทดแทน เช่น อ้อย ข้าวโพด ยางพารา และปาล์ม บางส่วนเป็นพืชพลังงานที่มีโอกาสขยายตัวได้เร็ว ส่วนผักและผลไม้ยังขยายตลาดได้ หากผู้ส่งออกลงทุนระบบความปลอดภัยอาหาร และแลกเปลี่ยนข้อมูลการตลาดกับเกษตรกรเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน"

ส่วนข้าวขาวและข้าวหอมจะมีคู่แข่งที่น่ากลัวและมีต้นทุนต่ำกว่า หลายประเทศเริ่มหันมาปลูกข้าวหอมมากขึ้นเช่นเวียดนาม จีน บราซิล การปลูกข้าวของไทยในอนาคตยังขยายตัว หากรัฐบาลยังคงมีนโยบายประกันราคาข้าวและอุดหนุนการใช้ปุ๋ยมากขึ้น
ระบุแนวโน้มขนาดฟาร์มใหญ่ขึ้น

นายนิพนธ์กล่าวว่า การผลิตในภาพรวมของไทย ยังได้เปรียบประเทศคู่แข่ง แต่กำลังมีปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ในอนาคตขนาดของฟาร์มจะใหญ่ขึ้นเพราะแรงงานหนุ่มสาวจะละทิ้งไร่นา ผู้ทำการเกษตรจะเป็นกลุ่มที่มีอายุมาก รวมทั้งปัญหาศัตรูพืชระบาดจะสร้างความเสียหายให้กับข้าวและมันสำปะหลัง

ส่วนหนึ่งมาจากการที่เกษตรกรเพาะปลูกข้าวแบบไม่พักดิน ส่งผลให้นาข้าวในภาคกลางปลูกข้าว 5 ครั้งในช่วง 2 ปี ทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีวงจรชีวิตต่อเนื่อง ส่วนมันสำปะหลัง ได้รับผลกระทบจากเพลี้ยกระโดดสีชมพู ทำให้ผลผลิตลดลง 30% ถ้ายังมีการเพาะปลูกเช่นนี้ต่อไป จะทำให้ได้รับความเสียหายมากขึ้น

แนะลดบทบาทภาครัฐกำหนดทิศทาง

อย่างไรก็ตาม บทบาทของภาครัฐในอนาคตควรที่ลดการชี้นำว่าเกษตรกรว่าต้องปลูกพืชอะไร เกษตรกรและพ่อค้าจะตัดสินใจได้ถูกต้องมากกว่า แต่ถ้าตัดสินใจผิดก็ต้องรับผิดชอบเอง ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทกำหนดกติกา เพื่อให้กลไกตลาดทำงานได้เต็มที่ เช่น ป้องกันการโกงชั่ง ตวง วัด การกำหนดมาตรฐานสุขอนามัย บางครั้งถ้าตลาดมีปัญหาก็เข้ามาเสริมการทำงานได้ เช่น การลงทุนวิจัยเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต

ส่วนเกษตรกรยากจนมีที่ดินน้อย ถ้ารัฐมีนโยบายสนับสนุนการถือครอง จะทำให้เกษตรกรมีฐานะดีขึ้น โดยส่งเสริมทำฟาร์มขนาดใหญ่แต่ต้องแก้กฎหมายให้มีที่ดินง่ายขึ้น เช่น กฎหมายการเช่าที่ดินเกษตร เร่งออกโฉนดที่ดิน และนโยบายธนาคารที่ดินสำหรับผู้ที่การทำการเกษตร รวมทั้งเปลี่ยนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องโฉนดชุมชนเป็นพ.ร.บ. เพื่อให้ชาวบ้านที่ทำกินในเขตป่าอนุรักษ์หรือที่สาธารณะมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติ

เชื่ออีก 5 ปีเปลี่ยนแบบก้าวกระโดด

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)เชื่อว่าในช่วง 5 ปีจากนี้ภาคเกษตรจะเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด โดยมีแรงกดดันมาจาก การเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศหรือเอฟทีเอ ภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติส่งผลให้ความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น

"ข้อดีคือเกษตรกรของไทยมีรายได้สูงขึ้นยอมรับเทคโนโลยีและพันธุ์ใหม่ๆเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงกว่าเดิม แต่มีข้อเสียคือสินค้าเกษตรของไทยส่วนใหญ่ยังพึ่งพาตลาดต่างประเทศ ดังนั้นหากเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าฟุบหรือชะลอตัวทั้งหมดจะส่งผลกระทบกับราคาสินค้าทันที รัฐบาลจะรับภาระที่เกิดขึ้นไม่ได้เพราะต้องใช้งบประมาณในการอุดหนุนสูงมาก"

โอกาสภาคเกษตรแต่นโยบายรัฐต้องชัด

นายอภิชาต เห็นพ้องกับนายนิพนธ์ ที่ว่าราคาสินค้าเกษตรกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง และแนวโน้มจะยั่งยืน เนื่องจากเป็นการปรับขึ้น โดยกลไกของตลาดที่แท้จริง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทั่วโลกมีความกังวลเรื่องความมั่นคงของอาหารและพลังงานทดแทนจึงเป็นโอกาสของไทยอีกครั้งที่จะวางแผนพัฒนาภาคการเกษตร ซึ่งไทยมีศักยภาพทั้ง 2 ด้าน แต่รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมพลังงานทดแทนเพื่อไม่ให้สินค้ามีปัญหาด้านราคา

"ผมว่านโยบายประกันราคาและระบบจำนำหากไม่จำเป็นไม่ควรนำมาใช้เนื่องจากระบบประกันราคา ทำให้กลไกการตลาดบิดเบือน ขณะที่การรับจำนำทำลายกลไกการตลาดเช่นกัน"

อย่างไรก็ตาม ทางออกคือส่งเสริมให้เอกชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศเข้าทำคอนแทรคฟาร์มมิ่ง เพื่อกระจายภาระของรัฐบาล ภายใต้กรอบที่รัดกุม เช่น เกษตรกรต้องนำผลผลิตมาจำหน่ายให้กับเอกชนรายที่เข้ามาส่งเสริม ขณะที่เอกชนต้องให้ราคาที่เป็นธรรม กรณีที่เป็นเอกชนต่างประเทศต้องรับซื้อสินค้าอย่างสม่ำเสมอ ไม่ทิ้งภาระกรณีที่สินค้าราคาถูก และต้องส่งเสริมเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้แก่เกษตรกรของไทยด้วย

"ภาคการเกษตรของไทยมีประมาณ 5.7 ล้าน ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุส่วนคนรุ่นใหญ่จะเป็นเกษตรกรแฝง เข้ามาช่วยเหลือเป็นระยะเมื่อว่างจากการทำงานนอกภาคการเกษตร"

ส่วนการย้ายที่ทำกินไปยังพื้นที่อื่นที่มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานและอาชีพ เช่น กรณีของเกษตรกรในภาคอีสานในอดีตนิยมไปกรีดยางภาคใต้ จนเรียนรู้เรื่องเทคนิคและการปลูกยางได้ดี ปัจจุบันแรงงานเหล่านี้ได้นำความรู้ทั้งหมดกลับมาพัฒนาบ้านเกิดทำให้ภาคอีสานเป็นพื้นที่ปลูกยางที่สำคัญ

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้แก่เกษตรกร กระทรวงเกษตรฯได้เสนอแผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11(พ.ศ.2555-2559) โดยเสนอแบ่งอาชีพการเกษตรออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การทำเพื่อความอยู่รอด และ2.เพื่อการส่งออก

"การทำเพื่อความอยู่รอดควรดำเนินตามเกษตรทฤษฎีใหม่ จะลดความเสี่ยงด้านราคา และภัยธรรมชาติ ขณะที่การเกษตรเพื่อการส่งออกต้องจัดโซนนิ่งและส่งเสริมการทำคอนแทรคฟาร์มมิ่งอย่างเป็นระบบ"

ชี้จัดการทรัพยากร-คนคือปัญหาใหญ่

ความตื่นตัวภาคเกษตรของไทยมีมากขึ้น เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันคลังสมองของชาติและภาคีเครือข่าย จัดอภิปราย "ภาพอนาคตการเกษตรไทย 2563 กับก้าวย่างต่อไป" นายจำเนียร วรรัตน์ชัยพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคเกษตรพัฒนาโดยละเลยปัจจัยเชิงนิเวศน์ที่เป็นผลให้เกิดการเกื้อกูลกันของทุกระบบเป็นสาเหตุทำให้ภาพปัจจุบันมีลักษณะเป็น "ไม้ล้ม" เกือบทั้งหมด แต่กลับไม่ถูกพูดถึงและไปให้ความสำคัญเฉพาะทุนและเทคโนโลยี

ดังนั้น ทิศทางต่อไปควรใช้นิเวศสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้งไม่ใช่การส่งออกมีการโซนนิ่งที่ดิน ทุกวันนี้สะเปะสะปะมาก ส่วนการจัดการน้ำเป็นปัญหามาตลอด การใช้ระบบลุ่มน้ำจะเป็นทางออกที่เป็นไปได้ พร้อมกับแสดงความเห็นด้วยกับระบบเกษตรพันธสัญญา แต่ขอให้เป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่

นายพงศ์เทพ อัครธนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร กล่าวว่า สิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญที่สุดในการพัฒนาภาคเกษตร คือ การสร้างคน เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ควรมีความรู้เท่ากัน หรืออาจต้องมากกว่าคนรุ่นเดิม และงานวิจัยที่เปรียบเหมือนไวน์ดีที่ผ่านการบ่มเพาะ วันนี้อาจต้องเช็คสต็อกดูว่า มีมากแค่ไหน และนักวิจัยเก่งพอหรือไม่ ตรงนี้น่าเป็นห่วงมาก เท่าที่มีบอกได้ว่า สายเกินไปแล้วที่จะเตรียมใช้ในอีก 10 ข้างหน้า แต่ก็ต้องทำ เพราะว่าถ้าปล่อยไว้ไทยจะเป็น "ไม้ล้ม" แน่นอน
ซีพีแนะเร่งพัฒนานวัตกรรม

ขณะที่นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึงทิศทางข้างหน้าภาคเกษตรไทยจะเข้าสู่ยุคเกษตรกรรมใหม่ ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีผนวกกับเกษตรดั้งเดิมที่ทำอยู่ ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรพื้นที่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การพัฒนานวัตกรรมการผลิตเพื่อสร้างความได้เปรียบต้นทุนและคุณภาพต้องไม่กีดกันการลงทุนของต่างชาติ ที่จะนำตลาดเข้ามาทำให้ และต้องเน้นที่การพัฒนาคน ชักจูงใจให้คนรุ่นใหม่กลับสู่ภาคเกษตร

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

TREA on Facebook


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.