ผลจากนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศให้การอุดหนุนชาวนาด้วยการรับจำนำข้าวขาวตันละ 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิตันละ 20,000 บาท ได้ส่งผลกระทบกับวงการค้าข้าวอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการค้าข้าวถุงภายในประเทศ ที่เริ่มเคลื่อนไหวในการขอปรับขึ้นราคาข้าวบรรจุถุงขนาด 5 ก.ก. ในขณะที่กรมการค้าภายในผู้รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องของราคาสินค้ายังไม่มีมาตรการดูแลผู้บริโภคที่จะได้รับผลกระทบออกมา
นายสมเกียรติ มรรคยาธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ข้าวถุงตรามาบุญครอง ในฐานะ นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการข้าวถุงไม่สามารถหาซื้อข้าวสารในปริมาณที่ต้องการจากโรงสีได้ ส่งผลให้เกิดภาวะ short cut หรือวัตถุดิบขาดแคลนจากปัจจุบันที่ผู้ประกอบการทั้งระบบมีสต๊อกข้าวที่สามารถนำมาบรรจุเป็นข้าวถุงเหลืออยู่ไม่เกิน 2 เดือน
"สมาชิกบอกผมว่า หาซื้อข้าวไม่ได้ โรงสีซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ขายข้าวสารให้ในปริมาณที่ลดลงอย่างผิดปกติ จากที่เคยขายให้ลอตละ 10,000-20,000 ตัน เหลือเพียง 200-300 ตัน เราไม่มีข้าว บางรายทางโรงสีข้าวแจ้งเข้ามาว่า พร้อมที่จะขายเพิ่มขึ้นแต่ไม่ใช่ราคานี้ เราก็ซื้อไม่ได้อีกเพราะ ต้นทุนสูง ไม่สามารถขายข้าวถุงในราคาปัจจุบันได้ ตอนนี้ทุกคนนำข้าวสารในสต๊อกออกมาผลิต คาดว่า จะมีอยู่ประมาณ 100,000-200,000 ตัน ผลิตเป็นข้าวถุงได้ไม่เกิน 1 เดือน ถึงตอนนั้นหากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ข้าวถุงก็จะขาดหรือต้องปรับราคาตามต้นทุนราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้น"
อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่า ข้าวเปลือกนาปรังได้ออกสู่ตลาดมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ได้เก็บเกี่ยวไปจนหมดแล้ว ส่วนข้าวนาปรังครอปใหม่จะออกในช่วงปลายเดือนสิงหาคมต่อต้นเดือนกันยายน ดังนั้นต้นทุนข้าวเปลือก (พฤษภาคม-มิถุนายน) ของโรงสีจึงไม่น่าสูงมาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็คือ โรงสีไม่ยอมขายข้าวให้หรือขายให้ก็ลดปริมาณลง พร้อมกับมีการประกาศปรับราคาข้าวเปลือกเจ้า (นาปรังปี 2554) ขึ้นไประหว่าง 10,800-11,500 บาท/ตัน จากที่เคยขายกันก่อนหน้านี้แค่ 7,900-8,300 บาท/ตัน ส่วนข้าวหอมมะลิขึ้นไปถึงตันละเกือบ 28,000 บาท
"ราคาข้าวภายในประเทศสูงขึ้นอย่างผิดปกติ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศจะรับจำนำข้าวขาว 15,000 บาท/ตัน ข้าวหอมมะลิ 20,000 บาท/ตัน พอหาเสียงออกไปอย่างนี้ราคาข้าวถีบตัวขึ้นอย่างแรงภายใน 1-2 สัปดาห์ ตอนนี้ข้าวหอมมะลิขึ้นไป 3,000 บาท/ตัน หรือคิดเป็นข้าวสารหอมมะลิ 3 บาท/ก.ก. ข้าวขาวขึ้นไปอีก 1.50-2 บาท/ก.ก. ถ้าเทียบต่อข้าวถุงหอมมะลิ 5 ก.ก.มันต้องมีอีก 15 บาท/ถุง ซึ่งราคานี้ยังไม่ได้คิดรวมค่าปรับปรุงคุณภาพข้าว ส่วนข้าวขาวต้องมีอีก 10 บาท/ถุง จึงจะสามารถสะท้อนราคาข้าวที่ปรับขึ้นไปได้" นายสมเกียรติกล่าว
ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้เรียกผู้ประกอบการข้าวถุงเข้ามาหารือในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทาง
ผู้ประกอบการได้แจ้งสถานการณ์โรงสีข้าวลดปริมาณการขายข้าวสารลงไปจนถึงไม่ยอมขายในราคาเดิม แต่ขอปรับราคาขายข้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นราคาข้าวที่ over ไปจากความเป็นจริงของตลาด ทางกรมการค้าภายในก็เห็นด้วยในประเด็นนี้ พร้อมกับขอความร่วมมือให้ตรึงราคาจำหน่ายข้าวถุงต่อไป
"ทางสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงแจ้งว่า โอกาสในการตรึงราคามีน้อย แต่จะพยายามอย่างน้อยในช่วง 1 เดือนที่ยังมีสต๊อกข้าวเก่าอยู่ แต่ถ้าสต๊อกหมดลงแล้วก็คงยาก เพราะต้นทุนราคาข้าวจากโรงสีถูกปรับเพิ่มขึ้น ราคาสูง ของก็มีน้อย พร้อมกับเรียกร้องให้กรมการค้าภายในเข้ามาช่วยเหลือเรื่องข้าวชอร์ตในตลาด หากยังแก้ปัญหาไม่ได้แล้วทางกลุ่มผู้ประกอบการข้าวถุงมีความจำเป็นต้องขอปรับขึ้นราคาพรวดเดียวอีก 10-15 บาท/ถุง (5 ก.ก.) ผู้บริโภคอาจจะช็อกก็จะยิ่งเดือดร้อนไปกันใหญ่ ความจริงเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทางกลุ่มผู้ประกอบการข้าวถุง เสนอให้นำข้าวในสต๊อกรัฐบาลออกมาขายให้ผู้ประกอบการทำข้าวถุง ทางกรมการค้าภายในบอกว่า ยังไม่ถึงเวลา ไม่มีคนสั่งระบายข้าวต้องรอรัฐบาลชุดใหม่" แหล่งข่าวกล่าว
ทางด้านนายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ในตลาดไม่ได้เกิดภาวะขาดแคลนข้าว
โรงสีมีข้าวพร้อมขายให้กับผู้ประกอบการข้าวถุงตลอดเวลา แต่ไม่ใช่ซื้อในราคาเดิม เพราะข้าวในตลาดได้ปรับขึ้นราคาไปแล้วจากสาเหตุ 1) ข้าวเหลือน้อยลงในช่วงปลายปี ประกอบกับ 7 เดือนแรกมีการส่งออกข้าวออกไปแล้วถึง 7 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงมาก ขณะที่เป้าหมายการส่งออกปีนี้กำหนดไว้ที่ 10 ล้านตัน ยังเหลือระยะเวลาอีกตั้ง 5 เดือน 2) ตลาดข้าวอยู่ในช่วงรับรู้การปรับเปลี่ยนนโยบายข้าวใหม่ หรือจากการประกันราคามาสู่การรับจำนำ เดิมการประกันราคาข้าวประกาศราคาอ้างอิงออกมาที่ตันละ 9,000 บาท ทุกคนรู้ว่า ข้าวต้องขายไม่เกินราคานี้ ซึ่งไม่สะท้อนราคาที่แท้จริงที่ข้าวควรจะต้องขึ้นไปถึงตันละ 10,000 บาท
"ผมบอกได้เลยว่า ปัจจุบันหมดยุคข้าวราคาถูกไปแล้ว ราคาข้าวในประเทศต้องสะท้อนความเป็นจริง ผมเองไม่ได้ดูที่ผู้ประกอบการ แต่ต้องการให้ชาวนาขายข้าวในราคาที่สูงขึ้น หากกลัวว่า ข้าวภายในประเทศจะขาดแคลน รัฐบาลจะต้องแก้ไขโดยการกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำ ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ส่งออกไปขายตัดราคากันเองแล้วมากดราคาข้าวภายในประเทศ สมมติห้ามส่งออกต่ำกว่าตันละ 600 เหรียญ แบบนี้ข้าวเหลือเพียงพอต่อการบริโภคภายในแน่ เพราะมันเป็นผลทางจิตวิทยา" นายชาญชัยกล่าว
สำหรับราคาจำหน่ายข้าวถุง (5 ก.ก.) ปัจจุบันเป็นราคาที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2551 ประกอบไปด้วยข้าวหอมมะลิ 100% คัดพิเศษ 250 บาท, ข้าวหอมมะลิแท้ 170 บาท, ข้าวหอมปทุม 100% 190-200 บาท, ข้าวขาวคัดพิเศษ 135 บาท, ข้าวขาว 100% ชั้น 2 123-150 บาท และข้าวขาว 15% ราคา 103 บาท
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|