รอยเตอร์รายงานว่า นักวิเคราะห์ประเมินปริมาณผลิตข้าวเกินตลาดของโลกคาดว่าลดลงในช่วงอีก 10 ปีข้างหน้าหากประเทศชั้นนำในการผลิตข้าว เช่น ไทย และเวียดนาม ต้องสูญเสียพื้นที่ผลิตข้าวให้แก่อุตสาหกรรม และสภาพดินฟ้าอากาศที่เลวร้ายขึ้น และส่งผลให้ราคาข้าวอยู่ในระดับสูงในขณะที่ความต้องการบริโภคข้าวของประชากรโลกเพิ่มขึ้น
โดยองค์การอาหารโลกระบุว่า ปัจจุบัน ประเมินว่า โลกมีปริมาณผลิตข้าวเกินตลาด 2 ล้านตัน ในช่วงอีก 3 ปีข้างหน้า แต่คาดจะลดลงเหลือ 90 % เพียง 2 แสนตัน ก่อนสิ้นศตวรรษนี้ ขณะที่หน่วยงานความร่วมมือและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ มองว่า ราคาข้าวในตลาดโลกจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2007-2008 โดยราคาข้าวได้พุ่งขึ้นกว่า 40 % ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวอาจเลวร้ายขึ้นในช่วงอีก 10 ปีข้างหน้า หากผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่เช่น ไทย และเวียดนาม ได้แปลงพื้นที่ผลิตข้าวเพื่อใช้ในประโยชน์อื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรม รวมถึงปัจจัยลบอื่น ๆ เช่น การขาดแคลนน้ำ และแรงงานผลิตข้าว รวมทั้งความพยายามที่ล้มเหลวในการเพิ่มพูนการผลิต
นอกจากนี้ นักค้าข้าวและนักวิเคราะห์ต่างมองเช่นเดียวกับองค์การอาหารโลก และยังชี้ว่า ความเคลื่อนไหวใด ๆ ของรัฐบาลใหม่ไทยที่จะแทรกแซงตลาดข้าว อาจส่งผลให้ราคาข้าวไทยถีบตัวแพงขึ้นด้วย
รายงานระบุว่า เมื่อปี 2006 ราคาข้าวไทยเกรดบี 100 % อยู่ที่ระดับ 380 ดอลลาร์ต่อตัน และในปี 2008 ไทยมีราคาข้าวแพงทุบสถิติเป็นประวัติการณ์ ที่ราคาตันละ 1,080 หลังจากรัฐบาลในยุคนั้นมีมาตรการที่จะสนับสนุนการประกันราคาข้าว คล้ายรัฐบาลชุดใหม่ ขณะที่ราคาข้าวไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 550 ดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลให้ไทยและเวียดนามกระตุ้นให้เกษตรกรผลิตข้าวมากขึ้น แต่นักวิเคราะห์ประเมินว่า ในช่วงอนาคตไม่กี่ปีนี้ ไทยและเวียดนามไม่น่าจะผลิตข้าวได้เกินกว่าปัจจุบัน โดยปัจจุบันไทยมีพื้นที่ผลิตข้าวเพียงจำนวน 22.5 ล้านเอเคอร์ เหตุเพราะการขาดแคลนที่ดิน และไทยกำลังพยายามผลิตข้าวพันธุ์ผสมเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวประจำปี ให้เป็นจำนวน 35 ล้านตันก่อนปี 2015 โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า ไทยจำเป็นจะต้องรักษาพื้นที่ปลูกข้าวในระดับปัจจุบัน เพื่อที่จะสามารถเพิ่มผลผลิต และคงศักยภาพในการผลิตข้าวเพื่อเลี้ยงประชากรในประเทศ รวมทั้งการรั้งอันดับหนึ่งของประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก
ที่มา มติชนออนไลน์
|