ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีฤดูกาลผลิต ปี 2554/2555 โดยไม่จำกัดปริมาณ ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.2554-29 ก.พ.2555 นโยบายดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงการค้าข้าวว่าเป็นการแทรกแซงราคา และไม่เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะกำหนดราคารับจำนำสูง
นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว วิเคราะห์ถึงแนวโน้มราคาข้าวปี 2554/2555 มองว่าราคาจะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 2553/2554 โดยมีแรงกดดันจาก 3 ปัจจัยหลัก 1. คาดว่าผลผลิตโลกจะออกสู่ตลาด 456.25 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553/2554 ที่ออกสู่ตลาด 451.16 ล้านตันหรือเพิ่มขึ้น 5 ล้านตัน 2. คาดว่าผลผลิตข้าวสาลีจะออกสู่ตลาด 30 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งเมื่อราคาข้าวเจ้าสูงขึ้นผู้บริโภคต่างประเทศ สามารถหันไปบริโภคข้าวสาลีมากขึ้นแทน และ 3. สต็อกข้าวโลกสูงสุดรอบ 5 ปีอยู่ที่ 97.93 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 94.3 ล้านตัน
โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐ (ยูเอสดีเอ) คาดการณ์ว่าปี 2554/2555 ไทยจะมีผลผลิตข้าวนาปี 20.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่มีผลผลิตรวม 20.26 ล้านตัน เนื่องจากนาดอน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ผลผลิตดี ข้าวนาปรังอยู่ที่ 12 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนเวียดนาม 25.43 ล้านตัน ลดลงจากปี 2553 ที่ 25.8 ล้านตัน ปากีสถาน 6.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่มี 4.7 ล้านตัน จีน 138 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่ 137 ล้านล้านตัน อินเดีย 97 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 95.3 ล้านตัน
ขณะที่ประเทศผู้ซื้อ อินโดนีเซีย มีผลผลิต 37.3 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากปี 2553 มี 37.1 ล้านตัน ฟิลิปปินส์ 10.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 10.55 ล้านตัน และพม่า 11 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 10.75 ล้านตัน ขณะที่การค้าข้าวโลกคาดว่าจะอยู่ที่ 31.85 ล้านตันลดลงจากปีก่อนที่ 32.09 ล้านตัน เนื่องจากตลาดโลกมีสต็อกข้าวจำนวนมาก
เชื่อขาดทุนไม่ต่ำกว่าแสนล้าน
จากข้อมูลดังกล่าวจึงมีความเป็นไปได้สูง ที่โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล จะขาดทุนเกินกว่า 1 แสนล้านบาทแน่นอน ในโครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2555 ทำให้ชาวนาพร้อมจะทำนาปรังหลังน้ำลด และผลผลิตข้าวรอบใหม่จะออกสู่ตลาดพร้อมข้าวของเวียดนาม ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ราคาข้าวในตลาดลดลงอีกครั้ง ดังนั้นรัฐบาลต้องรีบรับคำสั่งซื้อ (ออเดอร์)
นายนิพนธ์ ย้ำว่า การเปิดรับจำนำข้าวทุกเมล็ดที่ 25 ล้านตันข้าวเปลือก ข้าวขาวตันละ 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิ 20,000 บาท และข้าวเหนียว 18,000 บาท เป็นราคาที่สูงมาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ส่งออกจะเข้ามารับซื้อแข่งกับรัฐบาล โดยผู้ส่งออกสามารถคาดการณ์ได้ว่า สิ่งที่รัฐบาลทำไปนั้น สุดท้ายแล้วจะไปไม่รอด ส่งผลให้ราคาส่งออกสูงถึงตันละ 800 ดอลลาร์ จากปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 629 ดอลลาร์ ข้าวเปลือกอยู่ที่ 12,000 บาทต่อตัน ไม่ใช่ 15,000 บาท จึงเป็นเรื่องที่ผู้ส่งออกกังวลว่าราคาข้าวในตลาดจะขายได้จริงหรือไม่ ผู้ส่งออกไม่มีทางจะแย่งรับซื้อข้าว หลังรัฐเปิดรับจำนำแน่นอน เพราะเอกชนมีสต็อกมีอยู่ 3 ล้านตัน ตอนนี้อยากระบายออก แต่สัญญาซื้อไม่มี หากต้องซื้อข้าวเปลือกมาอีก ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นทั้งดอกเบี้ยและโกดัง
ชี้ปัญหาใหญ่โกดังเก็บข้าวไม่พอ
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ สถานที่เก็บข้าวทั่วประเทศขณะนี้สามารถรองรับข้าวได้เพียง 15 ล้านตัน เป็นยุ้งฉาง 6 ล้านตัน ในส่วนของโรงสีรับข้าวได้อีกเพียง 2 ล้านตัน และโกดังเอกชนอีก 5 ล้านตัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาทั้งสิ้น
"ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิต เพราะไม่ได้รุนแรงถึงขนาดที่ผลผลิตอาหารของโลกจะได้รับผลกระทบหรือลดลงอย่างที่คิด ภัยจากน้ำท่วมเมื่อน้ำลดจะยิ่งทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังสูงขึ้นโดยเฉพาะปีหน้า" นายนิพนธ์ กล่าว
ผู้ส่งออกชี้ตลาดข้าวปี 55 ป่วนหนัก
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดการณ์ว่า ตลาดข้าวโลกปี 2555 จะอยู่ในภาวะความต้องการลดลง ขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยจะมีการค้าข้าวโลกปีนี้ 31.5 ล้านตัน ปี 2555 ลดลงเหลือ 30 ล้านตัน เพราะราคาข้าวสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์อื่น เช่น ข้าวสาลี ที่ราคาต่ำกว่า และปีหน้าข้าวสาลีมีแนวโน้มผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนผลผลิตข้าวและสต็อกข้าวโลกของผู้ผลิตและผู้บริโภคปี 2555 เกินความต้องการ 1 ล้านตัน ตามคาดการณ์ของยูเอสดีเอ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ผู้ผลิตอันดับ 1 และ 2 ให้ความสำคัญกับการผลิตข้าวปีนี้มาก เพื่อลดความกดดันด้านความมั่นคงอาหาร สำหรับตลาดส่งออกปีหน้า ส่วนใหญ่เป็นตลาดเดิมๆ ในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ที่ยังคงนำเข้าข้าว แต่อาจไม่มากเท่าปีนี้ที่ 2 ล้านตัน ฟิลิปปินส์ น่าจะนำเข้า 1 ล้านตัน แอฟริกา เป็นตลาดที่ให้ความสำคัญกับราคา และอินเดียจะกลับมาส่งออกข้าวนึ่งอีกครั้ง
"การที่ปีหน้าแต่ละประเทศนำเข้าข้าวลดลง เพราะปีนี้ได้นำเข้าสูงแล้ว หลังกังวลว่าข้าวจะมีราคาแพงขึ้น จากนโยบายรับจำนำของไทย หลายประเทศ พยายามพึ่งตัวเอง และส่งเสริมการปลูกข้าวในประเทศทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์" นายชูเกียรติ กล่าว
ผู้ซื้อเบนเป้ามุ่งตลาดอินเดีย
สำหรับทิศทางตลาดข้าวปี 2555 ปริมาณข้าวจะสูงกว่าความต้องการ ทำให้ราคาลดลง ขณะที่ไทยสร้างสถานการณ์ และทำให้ราคาสูงขึ้น จึงน่าห่วงว่า จะต้องแบกภาระสต็อกจำนวนมาก ขณะที่เวียดนาม ราคามีทิศทางปรับขึ้นตามไทย ซึ่งผู้ส่งออกเวียดนามกังวลว่า หากปล่อยให้ราคาข้าวสูงเกินไป จะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ และตลาดส่งออกข้าวจะหายไปเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอินเดีย ที่ประกาศส่งออกข้าว 2 ล้านตัน ล่าสุดมีคำสั่งซื้อเข้าไปที่อินเดียเกือบเต็มแล้ว คาดว่าอินเดียอาจประกาศส่งออกเพิ่ม เพราะราคาข้าวสูงเป็นเหตุจูงใจ
"เวียดนามยอมรับว่าโครงการรับจำนำข้าวของไทย ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวทั้งตลาดโลก เวียดนามก็กังวลทั้งตลาดส่งออก ที่จะเลือกซื้อข้าวราคาถูกกว่า เช่น ข้าวอินเดีย และผลกระทบต่อเงินเฟ้อในประเทศ เชื่อว่าเวียดนามไม่ตามราคาข้าวไทย เมื่อถึงตอนนั้นราคาข้าวไทยจะสูงอยู่ประเทศเดียว ทำให้อำนาจต่อรองลดลง ไทยจะเป็นตัวเลือกสุดท้ายในการสั่งซื้อข้าว"นายชูเกียรติ กล่าว
ผวาขาดทุนเริ่มทิ้งออเดอร์ปีหน้า
นายชูเกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ไม่กล้ารับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศสำหรับส่งมอบปีหน้า เพราะไม่สามารถคาดการณ์ราคาข้าวว่าจะมีต้นทุนอยู่ที่เท่าใด หากโค้ดราคาตามต้นทุนข้าวจากโครงการรับจำนำ ทำให้ราคาข้าวเฉลี่ยที่ตันละ 800 ดอลลาร์ ราคาสูงขึ้นจากปัจจุบันตันละ 100 ดอลลาร์ ขณะที่ผู้ซื้อจะรับราคาสูงได้ไม่เกินตันละ 10-20 ดอลลาร์ แต่เชื่อว่าจะมีผู้ส่งออกบางส่วน สามารถหาข้าวที่มีต้นทุนไม่สูง เพื่อส่งออกในราคาที่ตลาดรับได้ เฉลี่ยตันละ 700 ดอลลาร์ โดยเป็นข้าวจากส่วนที่หลุดจำนำ เช่น ชาวนาที่ไม่ต้องการเข้าร่วมโครงการ แต่จะราคาตันละ 1.3-1.4 หมื่นบาท
"ผมไม่ได้บอกว่าเราจะส่งออกข้าวไม่ได้เลยปีหน้า แต่จะส่งออกได้ 7-8 ล้านตัน โดยมีข้าวที่ไม่เข้าร่วมจำนำยอมขายขาดทุนบ้าง ตอนนี้ธุรกิจส่งออกข้าวค่อนข้างสับสน ไม่มีใครค่อยรับออเดอร์ เพราะต้องขายตันละ 800 ดอลลาร์" นายชูเกียรติ กล่าว
ผู้ซื้อส่งสัญญาณไม่ตอบรับราคา
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ ประธานบริษัท อุทัยโปรดิวซ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทต้องปรับตัว รับคำสั่งซื้อเท่าที่จำเป็น เน้นมีสต็อกในมือเพื่อให้รู้ต้นทุนชัดเจน ก่อนโค้ดราคา ยอมรับทำธุรกิจแบบนี้เสี่ยงเสียลูกค้า เพราะบริษัทเน้นค้าข้าวคุณภาพ พรีเมียม โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศ เช่น วอลมาร์ท ไม่สามารถรอความชัดเจนของผู้ส่งออกไทยรายเดียวได้ ต้องชัดเจน ราคาและปริมาณส่งมอบล่วงหน้า 3 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่ามีสินค้าอยู่บนชั้น
"คิดว่าข้าวไทยคุณภาพดีกว่าอย่างเดียวไม่ได้ เพราะสถานการณ์ตลาดเปลี่ยนไป เศรษฐกิจประเทศปลายทาง ทั้งสหรัฐและยุโรปไม่ดี ถ้าข้าวราคาสูงมาก จะทำให้ตลาดไม่รับข้าวไทย เช่น จีน ปีนี้ส่งออกข้าว 5 หมื่นตัน จากปีก่อนๆ 4-4.5 แสนตัน ชี้ให้เห็นว่าตลาดไม่ตอบรับราคาข้าวไทย"ร.ต.ท.เจริญ กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
|