www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ข้าวหอมมะลิไม่หอมสมชื่อแล้ว


นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ ประธานบริษัท อุทัยโปรดิวส์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิรายใหญ่ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงปัญหาข้าวหอมมะลิของไทยว่าวันนี้ปัญหาข้าวหอมมะลิที่มีความรุนแรงกว่าปัญหาการปลอมปน คือความไม่มีกลิ่นหอมของข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งโดยปกติแล้วข้าวหอมมะลิไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและเป็นข้าวพรีเมียมระดับโลกนั้น ก็คือคุณสมบัติที่มีกลิ่นหอม มีความนุ่ม และรสชาติแตกต่างจากข้าวชนิดอื่นๆ หรือข้าวคุณภาพดีของประเทศอื่นๆ แต่วันนี้เอกลักษณ์ด้านกลิ่นหอม ไม่มีเหลืออยู่เลย ทำให้ข้าวหอมมะลิไทยขายแข่งกับข้าวหอมประเทศอื่นๆ ไม่ได้
 
"ปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิปี 2553 ที่ลดลง 16% เพราะข้าวหอมมะลิไทยขายแข่งกับข้าวหอมประเทศอื่นๆ ไม่ได้ เช่นข้าวหอมเวียดนาม (จัสมิน 85) ตันละ 670-680 ดอลลาร์สหรัฐฯ ข้าวหอมลำดวนของกัมพูชาตันละ 810-820 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยตันละ 1,020-1,050 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อข้าวหอมมะลิไทยไม่มีความได้เปรียบเรื่องความหอมจึงทำให้ลูกค้าหันไปซื้อข้าวหอมที่ราคาถูกกว่า โดยลูกค้าระดับล่างไทยถูกแย่งตลาดไปจากกัมพูชา และเวียดนามเกือบจะหมดแล้ว แม้แต่ฮ่องกงที่นิยมบริโภคข้าวหอมมะลิไทย ยังหันไปซื้อข้าวกัมพูชา เวียดนาม จีนเช่นเดียวกันซื้อข้าวหอมไทยลดลงไปมาก" นายเจริญกล่าวและว่า
 
ปัญหาการปลอมปนเป็นปัญหาหนึ่งของข้าวหอมมะลิแต่วันนี้ที่รุนแรงกว่าคือปัญหาความหอม ถ้าเป็น 20 ปีก่อนข้าวหอมมะลิไทยจะส่งกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่อยู่ในทุ่งนา หรือหากเข้าไปในโรงสีที่สีข้าวหอมมะลิ โกดังผู้ส่งออกจะได้กลิ่นหอม แต่วันนี้ไม่มี  โดยสาเหตุมีความเป็นไปได้ทั้งเรื่องของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป สภาพดิน การใส่ปุ๋ยเช่นมีการใช้ปุ๋ยยูเรียมากเกินไป แต่ยังไม่มีการพิสูจน์ที่ถูกต้องว่าเพราะเหตุใดข้าวหอมมะลิไทยความหอมจึงลดลงไปมาก
 
นายเจริญ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงและหาแนวทางแก้ไข เพราะขณะนี้ประเทศต่างๆ ทุ่มงบวิจัยพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ออกสู่ตลาด แต่ของไทยรัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญ จะเห็นได้จากกรมการข้าวของไทยได้งบไม่ถึง 40 ล้านบาท ขณะที่เวียดนามได้งบวิจัยพันธุ์ข้าวถึงปีละ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เวียดนามจึงมีพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ออกมาทุกปี
 
"การฟื้นฟูความหอมข้าวหอมมะลิไทย ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ยากและต้องใช้งบประมาณสูง แต่เป็นสิ่งที่ควรจะทำเพราะข้าวหอมมะลิเป็นเอกลักษณ์ของข้าวไทย เมื่อได้สาเหตุแล้วควรจะจัดทำเป็นโซนนิ่งการปลูกข้าว อาจจะพื้นที่ไม่มากแต่ข้าวในแหล่งโซนนิ่งนั้นสามารถขายได้ระดับเกรดพรีเมียม ราคาสูง ขนาดบรรจุอาจจะเล็กลงเหลือถุงละ 1 กิโลกรัม เชื่อว่ายังมีผู้บริโภคต้องการแม้ราคาจะแพงก็ตามหากมีความแตกต่างที่มีความหอมของข้าวหอมมะลิไทยอยู่ยังขายได้”
 
สำหรับการกำหนดมาตรฐานข้าวหอมมะลิ ที่ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์กำหนดมาตรฐาน 92:8 คือข้าวหอมมะลิที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจะประกอบด้วยข้าวหอมมะลิ 92 ส่วน มีส่วนผสมของข้าวขาวได้ 8 ส่วนจะได้รับการรับรองมาตรฐาน และกระทรวงพาณิชย์มีแนวคิดจะเพิ่มมาตรฐานข้าวหอมมะลิให้มากกว่า 1 มาตรฐาน นายเจริญ กล่าวว่าไม่เห็นด้วยที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดมาตรฐานข้าวหอมมะลิ ควรจะปล่อยให้เป็นความตกลงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ผู้ซื้อต้องการข้าวคุณภาพอย่างไรผู้ขายผลิตตามนั้น
 

สอดคล้องกับนายวิชัย ศรีนวกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท โรงสีข้าวเจริญผล จำกัด ที่กล่าวว่า การซื้อขายข้าวหอมมะลิไม่ควรมีมากกว่า 1 มาตรฐาน เพราะการมีมากกว่า 1 มาตรฐานจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน และโรงสี ผู้ส่งออก เสียเปรียบเพราะอาจต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการตรวจสอบมาตรฐาน แต่ถ้าจะมีการขายข้าวหอมมะลิผสมเช่นข้าวหอมมะลิ 70 ส่วน ข้าวขาว 30 ส่วน ผู้ส่งออก หรือโรงสีสามารถกระทำได้ เพียงแต่ระบุข้างถุงว่ามีสัดส่วนข้าวหอมมะลิและข้าวชนิดอื่นๆเท่าใด เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ซื้อที่อาจไม่ต้องการข้าวหอมมะลิแท้ แต่ไม่ควรกำหนดเป็นมาตรฐาน

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.