นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ในการเยือนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยของนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เมื่อเร็วๆนี้ กลุ่มพ่อค้าข้าว โรงสีข้าว และผู้ส่งออกข้าว ได้แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ส่งออกข้าวไทย และการสูญเสียความเป็นผู้นำการส่งออกข้าว ของโลกให้กับประเทศเวียดนาม ที่ปัจจุบันเวียดนามสามารถส่งออกข้าวในปริมาณที่สูงขึ้นมาก จนเกือบใกล้เคียงกับประเทศไทย ที่สำคัญเวียดนามกำลังปรับตัวเองเพื่อให้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าขายข้าวในกลุ่มประเทศอินโดจีนและอาเซียนหลังปี 2558 ที่อาเซียนจะรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาเวียดนามส่งออกข้าวได้ถึง 7 ล้านตัน ขณะที่ไทยส่งออกได้เกือบ 9 ล้านตัน ห่างจากไทยเพียงล้านกว่าตัน จากไม่กี่ปีที่เวียดนามเคยส่งออกไม่ถึง 5 ล้านตันเท่านั้น เพราะเวียดนามเปิดนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านและส่งออกแทน โดยเฉพาะกัมพูชา ขายข้าวส่วนที่เหลือจากการบริโภคในประเทศ 90% ให้เวียดนาม จึงทำให้ เวียดนามส่งออกข้าวในปริมาณที่สูงมาก และสามารถกำหนดราคาขายข้าวในหลายระดับราคาที่ถูกกว่าข้าวไทย ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยในหลายตลาด ที่บริโภคข้าวราคาไม่สูง โดยเฉพาะตลาดใน อาเซียน ที่ขณะนี้หันไปซื้อจากเวียดนามมากขึ้น และอนาคตอาจผูกขาดกัน
มีการพูดกันว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ไทยจะต้องปรับตัว อาศัยความได้เปรียบจากความน่าเชื่อถือของการส่งออกข้าว เป็นผู้นำเข้าและศูนย์กลางซื้อขายและตลาดค้าข้าวของโลก แต่เพื่อไม่ให้เป็นการกระทบต่อเกษตรกรในประเทศ และเกิดการปลอมปนข้าวประเทศเพื่อนบ้านกับข้าวไทย หรือการผสมกันของพันธุ์ข้าวไทย ก็เสนอให้จัดทำโซนนิ่งฟรีเทรด เพื่อการส่งออกข้าวที่นำเข้าโดยเฉพาะ มีการออกกฎระเบียบป้องกันการกระทำผิด อย่าปล่อยให้เวียดนามเปิดนำเข้าและส่งออกข้าวประเทศเพื่อนบ้านเพียงผู้เดียว เพราะอาจทำให้ไทยเสียแชมป์ค้าข้าวโลกในเร็วๆนี้
นายชูเกียรติกล่าวต่อถึงสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยว่า น่าจะมีความคึกคักในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะการสั่งซื้อจากตลาดแอฟริกา ที่น่าจับตาคือ การกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้งของอินเดีย หลังหยุดส่งออกมาปีกว่าแล้วซึ่งล่าสุดขายข้าวนึ่งให้บังกลาเทศ 300,000 ตัน ส่วนภาวะภัยแล้งก็กำลังจับตามองภาวะอากาศเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ว่าจะมีฝนตกตามปกติหรือไม่
ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ขณะนี้ไทยนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว ภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) แต่กำหนดให้นำเข้าเฉพาะปลายข้าว เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเท่านั้น เช่น อุตสาหกรรมเส้นก๋วยเตี๋ยว แป้ง ฯลฯ แต่ไม่อนุญาตให้นำเข้ามาเพื่อบริโภคโดยตรง เพราะเกรงว่าอาจมีการนำมาผสมกับข้าวไทยจนทำให้ข้าวไทยเสียคุณภาพ อีกทั้งกำหนดให้นำเข้าได้เฉพาะ 6 ด่านที่มีศักยภาพการตรวจสอบเท่านั้น เพื่อป้องกันข้าวด้อยคุณภาพ และข้าวที่ผ่านการตัดแต่งทางพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) เข้ามาผสมกับข้าวไทย
จึงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของผู้ส่งออกที่เสนอให้ไทยนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาส่งออก ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น เพราะเป้าหมายของไทยคือ การส่งออกข้าวคุณภาพดี มีราคาสูง ไม่ต้องการส่งออกข้าวคุณภาพต่ำ เพื่อขายแข่งกับประเทศอื่น ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทย ที่สำคัญการนำเข้ามาจำนวนมาก อาจทำให้ราคาข้าวไทยตกต่ำ และกระทบกับเกษตรกรไทยได้ ทั้งนี้ สมัยที่นายวัฒนา เมืองสุข เป็น รมว.พาณิชย์ เคยมีแนวคิดจะนำเข้าข้าวจากเพื่อนบ้าน แต่วงการข้าวไทยคัดค้าน จนต้องล้มเลิกแนวคิด
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
|