นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนมีนาคม 2554 ทำสถิติสูงสุดใหม่ด้วยมูลค่า 21,259.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 30.9% หรือคิดเป็นเงินบาทมูลค่า 646,280 ล้านบาท ขยายตัว 20.79% โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญขยายตัวในทุกหมวด โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม ขยายตัว 43.6% ซึ่งสินค้าเกษตรที่การส่งออกขยายตัวมากสุด ได้แก่ ยางพารา รองมาคือ ข้าว ขยายตัว 38.9% ซึ่งไตรมาสแรกส่งออกข้าวแล้วรวม 2.864 ล้านตัน เป็นผลมาจากการระบายข้าวตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ส่วนมันสำปะหลังขยายตัว 22% และอาหารขยายตัว 21.2%
สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 26.7% ได้แก่ สิ่งพิมพ์ขยายตัวสูงถึง 99.8% อัญมณีขยายตัว 89% เม็ดพลาสติกขยายตัว 56.8% เครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัว 33% สิ่งทอขยายตัว 28.6% และยานยนต์และส่วนประกอบขยายตัว 22.9% อย่างไรก็ตาม สินค้าวัสดุก่อสร้าง ส่งออกลดลง 2.2% เนื่องจากการส่งออกเหล็กโครงสร้างและเหล็กกล้าไปยังออสเตรเลียลดลง
ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าเดือนมีนาคม 2554 มีมูลค่า 19,472.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 28.4% ซึ่งสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม เช่น สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น 17.5% สินค้าทุน เพิ่มขึ้น 34.6% และสินค้าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 46% โดยมียอดเกินดุลที่ 1,786.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับยอดไตรมาส 1 ปี 2554 มียอดส่งออกรวม 56,874.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 28.26% คิดเป็นเงินบาท 1.72 ล้านล้านบาท ขยายตัว 18% และมียอดเกินดุลการค้า 2,697 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 61,760 ล้านบาท
นางพรทิวากล่าวต่อว่า ทิศทางการส่งออกในปี 2554 นี้ คาดว่าจะขยายตัวดีต่อเนื่อง กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายทั้งปีว่าจะขยายตัว 12% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 219,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวดี และเริ่มมั่นคงขึ้น อีกทั้งไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เข้มแข็งอันดับต้นๆ ของโลก ความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยดีขึ้น และการสนับสนุนจากภาครัฐภายใต้การใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ 7 ฉบับ
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยลบ คือราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบส่วนใหญ่สูงขึ้น ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น และปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมส่งออกยังคงมีอยู่ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตามด้วย เช่น ราคาสินค้าในทุกหมวดโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า
ที่มา ไทยโพสต์
|