www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

จำนำข้าวเพื่อไทย สั่งสต๊อก 6 ล้านตัน


นายไพโรจน์  อิสระเสรีพงษ์  ส.ส. กทม.พรรคเพื่อไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ถึงผลการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยที่มีดร.โอฬาร  ไชยประวัติ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นประธาน(19 ก.ค.54) โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย และองค์การคลังสินค้า(อคส.)ร่วมรับฟัง ได้ข้อสรุปแนวทางที่สำคัญในหลายเรื่องดังนี้คือ

โครงการรับจำนำข้าวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ในฤดูข้าวนาปีที่จะมาถึง ทั้งนี้เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์รับจำนำ จะมีมาตรการที่รัดกุมกว่าในอดีต อาทิ ในส่วนของการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจะมีการจัดทำสมาร์ทการ์ดที่สามารถเปิดและพรินต์ข้อมูลใบรับรองผลผลิต และประวัติเกษตรกร กรณีที่เป็นนาเช่าต้องมีการเซ็นสัญญาเช่าโดยหน่วยงานรัฐเป็นผู้รับรองเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ เป็นต้น ส่วนเรื่องบัตรเครดิตเกษตรกร มอบหมายให้ ธ.ก.ส.ไปดำเนินการ

สำหรับโครงการรับจำนำข้าวจะใช้ทั้งระบบเดิมคือชาวนานำข้าวไปจำนำกับโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ เจ้าหน้าที่ออกใบประทวนให้ชาวนาไปขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส. แต่ในครั้งนี้ก่อนที่โรงสีจะแปรข้าวเปลือกเป็นข้าวสารส่งเข้าเก็บโกดังกลางจะมีตำรวจสอบสวนกลางตรวจสต๊อกเพื่อป้องกันการเวียนเทียนข้าว อีกด้านหนึ่งจะมีการรับจำนำข้าวโดยฝากเก็บไว้ที่ยุ้งฉางของเกษตรกร

ด้านสต๊อกข้าวสารของรัฐบาลจากโครงการรับจำนำกำหนดไว้ต้องมีอย่างต่ำ 6 ล้านตัน ซึ่งเมื่อมีการระบายข้าวออกขายจะมีนำเข้าทดแทนทันที ขณะที่จะกำหนดให้ผู้ส่งออกต้องเพิ่มสต๊อกสำรองจากเดิมรายละ 500 ตัน สต๊อกใหม่จะประกาศให้เป็น 12% ของยอดส่งออกของแต่ละบริษัทในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจในเรื่องความมั่นคงด้านอาหารของประเทศจะไม่ขาดแคลน

"ในส่วนของสต๊อกข้าวของรัฐบาลที่ปัจจุบันมีเหลืออยู่กว่า 1 ล้านตันจะนำมาบรรจุถุงขายในโครงการธงฟ้าราคาประหยัด และจำหน่ายในร้านค้าเครือข่ายของ ธ.ก.ส. หรือร้านสะดวกซื้อที่ร่วมโครงการโดยทยอยออกขายเดือนหนึ่งประมาณ 2 แสนตันบวก-ลบ จำหน่ายในราคาประมาณ 115 บาท/ถุง 5 กก. ส่วนหนึ่งจะขายให้ผู้ส่งออก"

นายไพโรจน์ เผยอีกว่า ว่าที่รัฐบาลใหม่ยังได้เตรียมประกาศราคาขั้นต่ำราคาส่งออกข้าวไทย เพื่อไม่ให้ผู้ส่งออกขายในราคาที่ต่ำกว่า เพื่อดึงราคาข้าวไทยในตลาดโลกให้สูงขึ้น เริ่มจากเดือนกันยายนศกนี้จะประกาศราคา(ข้าวขาว 5%)ที่ 670 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน(ราคาเอฟโอบี) เดือนตุลาคมที่ 740 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน และพฤศจิกายนที่ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน( ซึ่งจะเป็นราคาที่สอดคล้องกับต้นทุนรับจำนำที่ 15,000 บาท/ตัน)

ด้านนายประสิทธิ์  บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย ให้ความเห็นโดยแสดงความเป็นห่วงว่าในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้โครงการประกันรายได้ของรัฐบาลในส่วนของสินค้าข้าวในเขตภาคกลางจะสิ้นสุดลง ทำให้ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม หรือ 3 เดือนจากนี้ไปจะเป็นช่วงสุญญากาศไม่มีโครงการช่วยเหลือของภาครัฐ ขณะที่โครงการรับจำนำข้าวของว่าที่รัฐบาลใหม่จะเริ่มได้ในเดือนพฤศจิกายน ทำให้มีความเสี่ยง และน่าเป็นห่วงว่าข้าวของเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวในช่วงสุญญากาศราคาจะเป็นอย่างไร หากราคาตกต่ำลงคงได้รับผลกระทบ จากที่ล่าสุด(19 ก.ค.)ราคาข้าวนาปรังในเขตภาคกลาง เฉลี่ยที่ 9,200-9,300 บาท/ตัน ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่ชาวนาอยู่ได้แม้จะอ่อนตัวลงบ้างก็ตาม

ขณะที่นางวัชรี  วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน(คน.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับสมาคมโรงสีข้าวไทย และสมาคมชาวนาไทย เพื่อประเมินสถานการณ์ข้าวในประเทศ ภายหลังสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทยได้ร้องเรียนว่า หาซื้อข้าวจากโรงสียากเพราะต้นทุนสูง หากจะซื้อต้องซื้อราคาใหม่ อีกทั้งได้ออกข่าวว่าเตรียมปรับราคาข้าวถุงขึ้นอีก 10-15 บาท/ถุง(5กก.)หากสต๊อกเก่าหมดลงในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้จากการประชุมได้ข้อสรุปสาเหตุราคาข้าวสูงเป็นผลจาก 2 สาเหตุ สาเหตุแรก ผลจากการส่งออกข้าวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้สูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยส่งออกไปแล้วกว่า 6 ล้านตัน สาเหตุที่สอง เป็นช่วงปลายฤดูข้าวนาปรังรอบที่ 1 ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการยังมี ทำให้ราคาข้าวเปลือกในสัปดาห์นี้เฉลี่ยสูงถึง 9,800 บาท/ตัน ขณะที่ราคาขายส่งข้าวสารอยู่ที่ 15 บาท/กก.หรือ 15,000 บาท/ตัน ถือเป็นราคาที่สมเหตุสมผล ดังนั้นราคาข้าวถุงไม่มีเหตุผลที่จะปรับราคาขึ้น เพราะในอีกสองสัปดาห์ข้าวเปลือกนาปรังรอบที่ 2 ก็จะออกสู่ตลาดแล้ว 

ขณะที่นายบรรจง   ตั้งจิตรวัฒนากุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ราคาต้นทุนข้าวบรรจุถุง ณ ปัจจุบันมีค่าบรรจุภัณฑ์ 4-7 บาท/ถุง(5 กก.) ค่าแรง 2.50-3.00 บาท/ถุง ค่าโลจิสติกส์ และค่าบริหาร 6 บาท/ถุง รวมแล้วไม่เกิน 16 บาท/ถุง ทั้งนี้ราคาข้าวสาร 5% ปัจจุบันเฉลี่ยที่ 120 บาท/ถุง ถ้าคิดค่าใช้จ่ายข้าวสาร กก.ละ 15 บาท คูณ 5 กก.เท่ากับ 75 บวกต้นทุนข้างต้นไม่เกิน 16 บาท/ถุง เท่ากับผู้ประกอบการมีต้นทุนเฉลี่ยที่  91 บาท/ถุง ดังนั้นราคาจำหน่ายที่ 120 บาท/ถุง ยังได้กำไรไม่มีเหตุผลต้องปรับราคา

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

TREA on Facebook


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.