www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

พิษ"จำนำ"ดันข้าวไทยแพงทะลุโลก "เวียดนาม"จ้องตัดราคา


ส่งออกข้าวไทยตกที่นั่งลำบาก หลังรัฐบาลประกาศราคารับจำนำสูงลิ่ว ส่งผลข้าวขาวไทยมีราคาสูงกว่าข้าวเวียดนามระหว่างตันละ 250-300 เหรียญ ในขณะที่ข้าวหอมมะลิออกอาการหนักกว่าข้าวขาว จากราคารับจำนำที่รัฐบาลกำหนดไว้ตันละ 20,000 บาท ดันราคาส่งออกพุ่งทะลุ 1,300 เหรียญ ผู้ส่งออกข้าวปวดหัว ไม่รู้จะแข่งขันอย่างไร ด้านนายก ส.ส่งออกข้าว "กอบสุข" เผย เวียดนามเริ่มสต๊อกข้าวยกใหญ่ หวังถล่มราคาข้าวไทยหลังเดือนตุลาคมนี้

การประกาศราคารับจำนำข้าวเปลือกตามโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2554/55 ด้วยราคา "นำตลาด" ที่สูงถึงตันละ 20,000 บาทสำหรับข้าวหอมมะลิ, ข้าวเปลือกหอมจังหวัดตันละ 18,000 บาท, ข้าวปทุมธานีตันละ 16,000 บาท, ข้าวเปลือกเหนียว 10% ตันละ 15,000-16,000 บาท, ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท, ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท, ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท, ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท และข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท

การตั้งราคารับจำนำข้าวไว้สูงเกินกว่าราคาข้าวในตลาดโลก มีผลทำให้ ผู้ส่งออกข้าวไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับข้าวประเภทเดียวกันจากประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวเวียดนาม ที่มีราคาถูกกว่าข้าวไทยมาก ยกตัวอย่าง ข้าวหอมมะลิ จากราคาปัจจุบันตันละ 1,075-1,085 เหรียญ ราคาข้าวหอมมะลิหลังจำนำจะมีราคาสูงถึง 1,200-1,300 เหรียญทีเดียว

ในขณะที่ราคาข้าวขาวจากปัจจุบันราคาจะอยู่ประมาณ 530-600 เหรียญ แต่ราคาข้าวหลังจำนำจะพุ่งขึ้นไปสูงถึงตันละ 800-900 เหรียญ ทั้งหมดนี้จะทำให้ข้าวไทยมีราคาสูงกว่าข้าวเวียดนาม ที่เป็นคู่แข่งโดยตรงถึงตันละ 250-300 เหรียญทีเดียว

นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวภายหลังการประชุมความร่วมมือการค้าไทย- เวียดนาม ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ว่า ผู้แทนฝ่ายเวียดนามได้ให้ข้อมูลสถานการณ์ข้าวในเวียดนาม ปรากฏผู้ประกอบการค้าข้าวได้ตื่นตัวกับนโยบายการรับจำนำข้าวในราคาสูงของรัฐบาลไทยมาก และเชื่อว่าข้าวไทยจะแข่งขันในตลาดโลกได้ลำบากจากต้นทุนราคาข้าวเปลือกที่เพิ่มขึ้น

เท่ากับเป็นโอกาสของข้าวเวียดนาม ที่จะขายในราคาถูกกว่าข้าวไทยในตลาดโลก ดังนั้นผู้ประกอบการค้าข้าวเวียดนามจึงเร่งการรับซื้อข้าวเปลือกในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อเก็บสต๊อกรอระบายส่งออก ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกเวียดนามปรับตัวสูงขึ้นถึงตันละ 9,000 บาท แต่ยังต่ำกว่าราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าของไทยที่กำหนดไว้ถึงตันละ 15,000 บาทอยู่ดี โดยผู้ส่งออกข้าวเวียดนามคาดการณ์ว่า ผู้ซื้อจาก ต่างประเทศจะหันไปสั่งออร์เดอร์ข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนการซื้อข้าวจากไทยที่มีราคาแพงกว่าในราวเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้

"โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 อย่างไม่จำกัดปริมาณ หรือที่รัฐบาลเรียกว่า รับจำนำข้าวทุกเมล็ด นั้นไม่เพียงมีผลกับเรา แต่ยังมีผลกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามด้วย ตอนนี้ต้องยอมรับว่าผู้ส่งออกข้าวเวียดนามซื้อข้าวกักตุนเอาไว้เต็มที่ เพราะคาดการณ์แนวโน้มราคาข้าวไทยจะปรับสูงขึ้นจนลูกค้าส่วนใหญ่ต้องหันไปซื้อข้าวเวียดนามแทน โดยข้าวขาวอาจจะสูงสุดถึง 800 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากราคาตลาดปัจจุบันที่ 600 กว่าเหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนข้าวหอมมะลิน่าจะถีบตัวสูงถึง 1,300-1,400 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากราคาตลาดปัจจุบันที่ประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐ" นางสาวกอบสุขกล่าว

อย่างไรก็ตามเวียดนามเกรงว่าราคาข้าวเปลือกที่ปรับตัวสูงขึ้นไปมาก ประกอบกับแนวโน้มความต้องการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ราคาข้าวในเวียดนามปรับเพิ่มขึ้นจนมีปัญหาเงินเฟ้อติดตามมา ดังนั้นรัฐบาลเวียดนามจึงกำหนดเป้าหมายการส่งออกข้าวใน ปีนี้ไว้เพียง 7 ล้านตัน โดยการส่งออกข้าวในช่วง 8 เดือนแรกของเวียดนามเพิ่มขึ้นกว่า 5 ล้านตัน

ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกข้าวไปยังตลาดอาเซียนเป็นตลาดหลักในสัดส่วน 62-63% และตลาดแอฟริกาเป็นตลาดรองสัดส่วน 37-38% เป็นการส่งออกด้วยวิธีการเจรจาขายแบบจีทูจี (รัฐบาลกับรัฐบาล) สัดส่วน 42% และส่งออกโดยภาคเอกชน 42% ซึ่งตรงกันข้ามกับไทยที่ผู้ส่งออกมีตลาดแอฟริกาเป็นตลาดหลัก สามารถส่งออกข้าวในสัดส่วนสูงถึง 90%

"แม้ข้าวขาวจะเป็นชนิดข้าวที่เวียดนามส่งออกมากที่สุด แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าข้าวชนิดอื่น ๆ ของเวียดนามเริ่มมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวหอมมะลิ มีปริมาณส่งออกประมาณ 300,000 ตัน หรือขยายตัว 100% ข้าวหักปริมาณ 300,000 ตัน หรือขยายตัว 100% และข้าวนึ่ง ปริมาณ 56,000 ตัน หรือขยายตัว 56% แม้ว่าปริมาณการ ส่งออกข้าวเหล่านี้จะยังไม่มาก แต่มีอัตราขยายตัวสูงขึ้นจากผู้ส่งออกมากกว่า 200 ราย แต่เป็นรายขนาดกลางและขนาดย่อม" นางสาวกอบสุขกล่าว

สำหรับความเคลื่อนไหวของภาคส่วนอื่นที่เข้าร่วมในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 ปรากฏสมาคมโรงสีข้าวไทยได้ทำหนังสือฉบับที่ 2 เพื่อขอเข้าพบ นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำ เพื่อคัดค้านหลักเกณฑ์การสีแปรสภาพข้าว (ข้อ 1.5.5) ตามที่ระบุในมติที่ประชุมคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) เนื่องจากมติทาง กขช. กำหนดให้โรงสีข้าวสีแปรข้าวเจ้าปริมาณ 100% ที่รับจำนำ ส่วนข้าวหอมมะลิ-ข้าวหอมจังหวัด และข้าวเหนียว กลับให้ สีแปรตามความเหมาะสม แต่ต้องได้รับการเห็นชอบจากประธานคณะอนุกรรมการดังกล่าว ซึ่งมติ กขช.ดังกล่าวไม่ตรงกับที่คณะอนุกรรมการฯหารือกับทางกลุ่มโรงสีไว้ก่อนหน้านี้ที่ยอมให้สีแปรข้าวทุกชนิด

"หากรัฐบาลไม่ยอมให้โรงสีสีแปรข้าวทุกชนิดตามที่ตกลงกันไว้ โรงสีส่วนใหญ่ก็จะไม่กล้าเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว ก็จะกลายเป็นการเปิดช่องให้โรงสีภาคกลางข้ามเขตขึ้นไปซื้อข้าวจากภาคอีสานอย่างในอดีต ซึ่งก็เคยมีการจ่ายค่าข้ามเขตให้โรงสี 500,000 บาท และให้เพิ่มตามจำนวนข้าวที่รับได้อีกตันละ 500 บาท ที่โรงสียอมเสี่ยงที่จะข้ามเขตไปซื้อก็เพราะข้าวหอมมะลิราคา 20,000 บาท ขนลงมาเก็บไว้ แต่สีแปรข้าวหอมอื่นที่รับจำนำถูกกว่าเพียง 16,000-18,000 บาท เอาไปส่งให้รัฐบาลแทน แล้วก็ได้ส่วนต่างตันละ 2,000-4,000 บาท หาก รมช.ภูมิไม่แก้ไขก็จะเกิดปัญหาเรื่องนี้ตามมา และโรงสีอีสานกว่า 80% คงไม่เข้าร่วมโครงการจำนำข้าวในปีนี้" แหล่งข่าวกล่าว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

TREA on Facebook


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.