นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมได้สำรวจการปลูกพืชฤดูแล้งในเขตพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2554 พบว่ามีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้วกว่า 3.80 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 72% ของแผนทั้งหมดที่กำหนดไว้ 5.26 ล้านไร่ โดยเป็นการทำนาปรังมากถึง 3.75 ล้านไร่ 84% ของแผนที่กำหนดไว้ 5.21 ล้านไร่ และพืชไร่-พืชผัก 60,000 ไร่ หรือ 120% ของแผนที่กำหนดไว้ 50,000 ไร่ ในขณะที่ยังเหลือระยะเวลาของช่วงฤดูแล้งอีกกว่า 3 เดือน จึงต้องขอความร่วมมือเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้เพาะปลูกพืชตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ และเพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ทำนาปี ในช่วงต้นฤดูฝนของปีนี้ด้วย
ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2554 มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 47,904 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 69% ของความจุอ่างขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด เฉพาะในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 23 จังหวัด การจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุดมีการนำน้ำไปใช้แล้ว 3,031 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 36% ของแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งหมด
นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ราคาข้าวที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับโครงการประกันรายได้ของรัฐบาล ส่งผลให้เกษตรกรมีการขยายพื้นที่การทำนาปรังมากขึ้นจากที่กำหนดไว้ กรมจะเร่งประชาสัมพันธ์และขอร้องไม่ให้ดำเนินการในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ที่คาดว่าจะรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา จะส่งผลให้ผลผลิตข้าวได้รับความเสียหาย
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโครงการประกันรายได้ ต้องพิจารณาการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวรอบที่ 2 อย่างรอบคอบ เนื่องจากมีชาวนาบางกลุ่มใช้วิธีการหว่านข้าวไปแล้วแต่ไม่ดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อรอการชดเชย ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาวนารายใหญ่มีทุนและพื้นที่จำนวนมาก
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|