โลกตื่นวิกฤติขาดแคลนอาหารรอบใหม่ ประเทศร่ำรวย และกำลังพัฒนาแห่ลงทุนปลูกข้าวในต่างประเทศสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านอาหาร ล่าสุดสิงคโปร์ซุ่มเงียบปลูกข้าวหอมมะลิในพม่าเล็งเป้าส่งกลับประเทศและส่งออกประเทศที่สาม จับตากระทบส่งออกข้าวไทยในอีก 5 ปี ขณะญี่ปุ่นลงทั้งไทยและพม่า จีนปักฐานในโมซัมบิก ซาอุฯ อ้อนลงทุนใน 5 ประเทศ
จากสภาพอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดภัยแล้ง และน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อผลิตผลทางการเกษตรของโลกที่ลดลง ขณะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น มีผลให้เกิดการแย่งชิงธัญพืชที่ใช้เป็นทั้งอาหาร และใช้ในการผลิตพลังงานทดแทน ทำให้ทั่วโลกตื่นตระหนกจะเกิดวิกฤติการขาดแคลนอาหารในอนาคต ส่งผลให้แต่ละประเทศต้องแสวงหาความมั่นคงด้านอาหารกันจ้าละหวั่นโดยการออกไปลงทุนสร้างฐานการผลิตในประเทศที่มีศักยภาพ
นายสมภพ ธีระศานต์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี ผู้เชี่ยวชาญตลาดพม่า เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวของนักลงทุนสิงคโปร์ได้เข้าไปลงทุนปลูกข้าวในประเทศพม่าแล้วหลายราย โดยร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่นของพม่า ซึ่งจากที่ได้ติดตามการลงทุนได้เริ่มมานานกว่า 2 ปีแล้วแบบเงียบๆ โดยข้าวที่ปลูกระบุเป็นพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่ามีการลักลอบนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากประเทศไทยหรือไม่
สำหรับการลงทุนปลูกข้าวในครั้งนี้ของนักลงทุนสิงคโปร์ สืบเนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าได้ตอบแทนนักธุรกิจพม่าที่ทำประโยชน์ด้านการค้านำเงินตราเข้าประเทศ โดยการให้ที่ดินเพื่อทำประโยชน์ด้านการเกษตร ก่อให้เกิดการว่าจ้างแรงงาน และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ อย่างไรก็ดีนักธุรกิจของพม่าส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์ในการทำเกษตรจึงได้ไปชักชวนต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนักลงทุนจากสิงคโปร์ที่มีทุนหนา โดยพืชที่สิงคโปร์สนใจคือข้าวหอมมะลิ ซึ่งมีราคาสูง และได้ดำเนินการปลูกแล้วหลายรอบ โดยรัฐบาลพม่าคิดค่าเช่าถูกมากตกเพียง 3,000 บาท/เอเคอร์/ปีเท่านั้น
"เวลานี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีผลผลิตออกมามากน้อยเพียงใด แต่น่าจะมากพอสมควรเพราะทำมากว่า 2 ปีแล้ว ผลผลิตที่ได้เข้าใจว่าเขาจะส่งกลับไปบริโภคในสิงคโปร์ รวมถึงส่งจากสิงคโปร์ไปยังประเทศที่สาม ในอนาคตสิงคโปร์จะลดการนำเข้าข้าวจากไทยลง และอาจเป็นคู่แข่งส่งออกข้าวได้ ที่ผ่านมาพม่าเขาก็ชักชวนนักธุรกิจไทยไปร่วมลงทุนปลูกข้าวแต่ไม่ค่อยมีใครสนใจ มีเพียงซีพีเจ้าเดียวที่เข้าไปลงทุนพัฒนาและขายเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมถึงส่งเสริมปลูกข้าวในพม่า แต่นักธุรกิจสิงคโปร์เขามองเห็นโอกาส เพราะพื้นที่เพาะปลูกเขาไม่มี ขณะที่พม่าพื้นที่เพาะปลูกมีมาก ดินน้ำอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องใส่ปุ๋ยมาก ค่าแรงก็ถูกทำให้ต้นทุนมีความได้เปรียบ เขายังมีจุดด้อยเรื่องระบบโลจิสติกส์ที่ยังไม่ดีเท่านั้น"
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮ่วยชวนค้าข้าว จำกัด กล่าวว่า ยังไม่ทราบข้อมูลสิงคโปร์ไปลงทุนปลูกข้าวในพม่า แต่เมื่อ 3 เดือนที่แล้วตนได้เข้าไปในพม่าพบมีข้าวหอมวางจำหน่ายในท้องตลาด แต่ไม่ทราบว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทยหรือไม่ แต่อาจเป็นไปได้ว่าพม่ามีการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมได้ใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิไทย ขณะที่เวลานี้รัฐบาลพม่าได้ต้อนรับต่างชาติให้เข้าไปลงทุนทางการเกษตร รวมถึงลงทุนปลูกข้าวเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ให้ดีขึ้น และเพื่อส่งออกให้ได้มากขึ้นในอนาคต จากปัจจุบันพม่าส่งออกข้าวได้ประมาณ 4-8 แสนตัน/ปี สำหรับต่างชาติที่ได้เข้าไปลงทุนปลูกข้าวในพม่าเท่าที่ทราบมีญี่ปุ่นไปลงทุนปลูกข้าวจาปองนิก้า ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์เมล็ดสั้นและเป็นที่นิยมในญี่ปุ่น โดยปลูกทางภาคเหนือของพม่าที่มีอากาศเย็น
สำหรับการลงทุนปลูกข้าวของสิงคโปร์ในพม่าจะทำให้สิงคโปร์เป็นคู่แข่งส่งออกข้าวของไทยหรือไม่นั้น อาจจะกระทบได้ในระยะยาว แต่ในเบื้องต้นคิดว่าผลผลิตคงยังมีไม่มาก คงต้องใช้เวลาในการพัฒนาปริมาณ และคุณภาพอีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี
"ที่ผ่านมานักลงทุนไทยไม่ค่อยสนใจลงทุนปลูกข้าวหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับข้าวในพม่า เพราะรัฐบาลเขาไม่มีความแน่นอนด้านนโยบาย ทำให้ความมั่นใจในการลงทุนมีน้อย เพราะวันใดวันหนึ่งข้าวในประเทศมีราคาสูงระดับหนึ่ง กระทบต่อผู้บริโภคภายในเขาอาจสั่งไม่ให้ส่งออกเหมือนในอดีต หากนโยบายเป็นแบบเปิดๆ ปิดๆ คนทำธุรกิจส่งออกข้าวเหนื่อย จะขายในพม่าก็ไม่ค่อยได้ราคา ส่วนตัวจึงมองว่ามีหลายประเทศที่น่าสนใจกว่า อาทิ กัมพูชาที่มีนโยบายการค้าเสรี ซึ่งล่าสุดในส่วนของบริษัทมีแผนจะร่วมกับพันธมิตรจากญี่ปุ่นลงทุนธุรกิจข้าวครบวงจรตั้งแต่คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง โรงสี และโรงงานแปรรูปข้าว"
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ ประธานบริษัท อุทัยโปรดิวส์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิรายใหญ่ กล่าวว่า การไปลงทุนปลูกข้าวในต่างประเทศถือเป็นเทรนด์ หรือแนวโน้มของโลก เพราะทุกประเทศต่างต้องการความมั่นคงด้านอาหาร ทำให้หลายประเทศที่มีเงินทุน แต่ไม่มีพื้นที่เอื้ออำนวยในการเพาะปลูกต้องออกไปลงทุนแสวงหาวัตถุดิบเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร เวลานี้มีความเคลื่อนไหวของหลายประเทศ เช่น มาเลเซียไปลงทุนปลูกข้าวในเวียดนาม กลุ่มทุนอินเดีย และตะวันออกกลางไปลงทุนปลูกข้าวในแอฟริกา ส่วนในไทยมีนักธุรกิจจากญี่ปุ่นมาร่วมกับคนไทยปลูกข้าวพันธุ์ญี่ปุ่นที่จังหวัดเชียงราย
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จีนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้ออกไปลงทุนปลูกข้าวในประเทศโมซัมบิก ซึ่งตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกาเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เนื่องจากปริมาณการค้าข้าวของโลกมีจำนวนเพียง 30 ล้านตัน/ปี ซึ่งคิดเป็นปริมาณเพียง 20% ของความต้องการบริโภคข้าวของชาวจีนที่มีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคนเท่านั้น ทั้งนี้ได้ทุ่มลงทุนทั้งระบบชลประทาน และด้านเทคโนโลยีการผลิต และผู้เชี่ยวชาญไปประจำที่โมซัมบิก มีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตจาก 285,000 ตันในปี 2553 เป็นปีละ 500,000 ตันในปี 2556
ข้าวจำนวนนี้นอกจากจะป้อนตลาดโมซัมบิกเพื่อทดแทนการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศปีละประมาณ 315,000 ตันแล้ว ในอนาคตจีนตั้งเป้าพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงถึง 1,600 กิโลกรัม และในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเมื่อฐานผลิตข้าวในโมซัมบิกมีผลผลิตเพิ่มขึ้นมีแผนจะส่งออกไปจำหน่ายในประเทศที่สาม ซึ่งจะกระทบต่อตลาดค้าข้าวไทยในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และจีน โดยเฉพาะตลาดข้าวคุณภาพปานกลาง และต่ำ ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนยังให้การสนับสนุนรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนของจีนไปขยายการลงทุนธุรกิจการเกษตรในต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารทั้งในลาว พม่า กัมพูชา และในแอฟริกา ได้แก่ โมซัมบิก แทนซาเนีย มาลาวี และแองโลกา เป็นต้น
ส่วนประเทศซาอุดีอาระเบีย รัฐบาลซาอุฯได้หารือกับหลายประเทศ เช่น ซูดาน อียิปต์ ยูเครน ปากีสถาน และตุรกี เพื่อให้ประเทศเหล่านี้อนุญาตให้บริษัทสัญชาติซาอุฯได้เข้าไปวางโครงการปลูกข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ถั่วเหลือง ข้าวสาร และธัญพืชชนิดอื่นที่ใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ เพื่อเป็นหลักประกันว่าชาวซาอุฯจะมีผลผลิตอาหารไว้บริโภคอย่างเพียงพอ ขณะที่ประเทศบาห์เรนต้องการเข้าไปลงทุนปลูกข้าวในฟิลิปปินส์ เพื่อเป็นหลักประกันว่าบาห์เรนจะมีข้าวไว้บริโภคมากขึ้นเช่นกัน
ก่อนหน้านี้กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับหรือจีซีซี ประกอบด้วยโอมาน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน คูเวต และซาอุดีอาระเบีย ได้แสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนปลูกข้าวในไทยโดยการเช่าหรือซื้อที่ดินโดยจ้างชาวนาไทยปลูกเพื่อส่งกลับประเทศ แต่ได้รับการต่อต้าน เนื่องจากกระทบต่ออาชีพสงวนของคนไทย กระทบการแข่งขันส่งออก และกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร
อนึ่ง กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาได้คาดการณ์ ผลผลิตข้าวทั่วโลกในปี 2554 จะมีประมาณ 451.6 ล้านตัน ขณะที่จะมีการบริโภคประมาณ 448.4 ล้านตัน ส่วนการค้าข้าวของโลกในปีนี้จะมีประมาณ 31.0 ล้านตัน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|