กลุ่มชาวนาจากหลายอำเภอในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง ประมาณ 1 พันคน ได้รวมตัวกันที่บริเวณด้านข้างศูนย์ราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเรียกร้องขอให้รัฐบาลช่วยเหลือปรับราคาประกันราคาข้าวเปลือกจาก 1 หมื่นบาทต่อเกวียน เป็น 1.4 หมื่นบาทต่อเกวียน และให้รายละ 40 ตัน แต่ปรากฏว่าตั้งแต่เช้าไม่มีตัวแทนภาครัฐออกมารับเรื่องร้องทุกข์ ชาวนาจึงได้พากันนำรถยนต์บรรทุก และรถยนต์ปิกอัพ เคลื่อนออกไปตามถนนสายเอเซีย
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ต้องปิดการจราจรตั้งแต่แยกเลี่ยงเมืองพระนครศรีอยุธยา ต.บ้านกรด อ.บางปะอิน เพื่อให้รถวิ่งไปตามถนนสาย 356 ตัดกับถนนสาย 347 และเป็นการป้องกันไม่ให้รถกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ากรุงเทพฯ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมหยุดรถทั้งหมดกีดขวางการจราจร ทั้งสองช่องทางทั้งขาเข้าและขาออก และบางส่วนก็พยายามที่จะปิดช่องทางเลี่ยงเมือง โดยมีการเจรจาให้เปิดการจราจรเป็นระยะ
นายสมชาย ไตรถาวร แกนนำชาวนา เปิดเผยว่า กลุ่มเกษตรกรต้องการให้ปรับราคาข้าวเปลือกให้มีราคาสูงขึ้นตามที่เสนอไป แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ จึงจำเป็นที่จะต้องยกระดับการชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาล
ขณะที่ นายวิเชียร พวงลำเจียก อุปนายกสมาคมชาวนาไทยพร้อมด้วยแกนนำเกษตรกรอีก 20 คนได้เดินทางไปพบกับปลัดกระทรวงพาณิชย์และกรมการข้าวเพื่อรับฟังความช่วยเหลือ ซึ่งหากยังไม่มีการตกลงก็ยืนยันที่จะปิดถนนต่อไปและอาจจะเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ
ชี้ราคาข้าวร่วงหนักเหลือ8.4-8.5พันบาท
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกภายในประเทศตกต่ำลงอย่างมาก ล่าสุด ณ วันที่ 21 ก.พ. ราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิมีช่วงเวลาผลิต 2553/2554 อยู่ที่ตันละ 12,650-14,000 บาท ลดลงจากต้นฤดูกาลในเดือนพ.ย. 2553 ที่ตันละ 13,400-15,500 บาท, ข้าวเปลือกเจ้าปี 2553/2554 ตันละ 8,400-8,500 บาท ลดลงจาก 8,800-9,300 บาท, ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ปี 2553/2554 ตันละ 10,400-12,000 บาท ลดลงจากตันละ 12,000-14,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวปี 2553/2554 ตันละ 13,500-16,000 บาท ลดลงจากตันละ 14,000-16,350 บาท
สาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวภายในประเทศลดลง เนื่องจากการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ปริมาณรวม 5 ล้านตัน ยังคงอยู่ในประเทศมีการส่งออกจริงเพียง 5 แสนตัน ส่วนที่เหลือเป็นการขายให้ผู้ผลิตข้าวสารบรรจุถุง ทำให้ราคาภายในประเทศไม่ขยับมากนัก ทั้งที่การส่งออกตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-16 ก.พ. 2554 ปริมาณ 1.5 ล้านตัน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 1 ล้านตันเท่านั้น
ชี้เวียดนามลดด่องเหตุราคาร่วง
นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวส่งออกของไทยอ่อนตัวลง เพราะเวียดนามลดค่าเงินด่องลง ส่งผลให้ช่องว่างของราคาข้าวไทย และข้าวเวียดนามสูงขึ้นถึงตันละ 60-80 ดอลลาร์ โดยปัจจุบันราคาข้าวสารขาว 5% ของไทยตันละประมาณ 520 ดอลลาร์ แต่ของเวียดนามประมาณ 460 ดอลลาร์ ทำให้ผู้ซื้อไม่สนใจซื้อข้าวไทยที่ราคาสูงกว่า รวมถึงกรณีที่อินโดนีเซีย ลดการซื้อข้าวจากไทยลงเหลือประมาณ 300,000 ตัน จากก่อนหน้านี้ที่กำหนดซื้อจากไทยสูงถึง 800,000 ตัน แต่ไทยติดขัดเงื่อนไขต้องส่งมอบภายในเดือนมี.ค. อินโดนีเซียจึงซื้อข้าวจากเวียดนามแทน
โรงสีชี้ปล่อยพ่อค้ากดราคาชาวนา
ด้าน นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล ประธานกลุ่มโรงสีจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า นโยบายข้าวของรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ปล่อยให้ตลาดข้าวเป็นของผู้ซื้อ เมื่อราคาในตลาดโลกลดลง ก็ปล่อยให้ผู้ส่งออก และพ่อค้ามากดราคารับซื้อจากชาวนา จนขณะนี้ราคาข้าวเปลือกเจ้าตกลงเหลือเพียงตันละ 7,800-8,000 บาท จากก่อนหน้าอยู่ที่ตันละเกือบ 10,000 บาท ทั้งที่เป็นปลายเวลาการเก็บเกี่ยวแล้ว ผลผลิตในนาจึงเหลือน้อย ราคาควรจะอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ราคาก็ยังตกต่ำ
ด้านแหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว ระบุว่า ขณะนี้ราคาข้าวภายในประเทศไม่ได้ตกลงมามากนัก แต่ราคาดีขึ้นจากเดือนธ.ค. 2553 โดยจะเห็นได้จากราคาชดชยส่วนต่างรายได้ ที่รัฐบาลจ่ายให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในเดือนธ.ค.อยู่ที่ตันละ 1,500-1,600 บาท แต่ขณะนี้จ่ายชดเชยส่วนต่างเพียงตันละ 1,330 บาทเท่านั้น
"หากราคาข้าวตกลงจริง รัฐบาลก็จ่ายเงินส่วนต่างชดเชยให้อยู่แล้ว ส่วนการเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มเงินประกันรายได้ข้าวเปลือกเจ้าจากตันละ 10,000 บาท เป็น 14,000 บาทนั้น ไม่มีเหตุผลเหมาะสม เพราะเป็นราคาที่สูงเกินจริง" แหล่งข่าวกล่าว
โพลล์ชี้ชาวนา100%ไม่รู้จักเออีซี
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลการศึกษาเรื่อง "ผลกระทบของเออีซี ต่อเศรษฐกิจข้าวไทย" ว่า จากการสำรวจการรับรู้และความเข้าใจของชาวนาไทย และโรงสีพบว่าชาวนาทั้ง 100% ที่ทำการสำรวจยังไม่รู้จักและไม่เข้าใจรายละเอียดของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการโรงสีส่วนใหญ่ประมาณ 86.67% ตอบว่ารู้จักเออีซี แต่กลับมีผู้ตอบว่าเข้าใจรายละเอียดของความตกลงเพียง 10%
นอกจากนี้ผลการศึกษาชี้ว่าการส่งออกข้าวไทยในตลาดอาเซียน ที่มีเวียดนามเป็นคู่แข่งสำคัญ โดยเวียดนามจะได้ประโยชน์จากเออีซีมากกว่าไทย เพราะครองตลาดข้าวหลายประเทศ ขณะที่ผลประโยชน์จากเออีซี ต่อรายได้ของชาวนา ยังมีสัดส่วนน้อยกว่าผู้เกี่ยวข้อง ที่ไม่ใช่ชาวนา
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|