www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ปินส์ซุ่มซื้อยาวข้าว 3 ล้านตัน


แหล่งข่าวในกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้ลงนามบันทึกช่วยจำ (เอ็มโอยู) กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ สาระสำคัญคือ รัฐบาลฟิลิปปินส์จะนำเข้าข้าวจากประเทศไทย 3 ปี (2554-2556) ปีละ 1 ล้านตัน รวม 3 ล้านตัน จากที่ผ่านมาฟิลิปปินส์จะนำเข้าข้าวจากประเทศเวียดนามเป็นส่วนใหญ่
 
หลังจากที่ลงนามเอ็มโอยูกันแล้ว จะทำให้ไทยมีโอกาสขายข้าวให้กับฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐสภาไทย ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ว่าด้วยการทำหนังสือหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเหมือนก่อนหน้านี้ ส่งผลให้หน่วยงานของรัฐ เกิดความคล่องตัวในการเจรจา หรือเซ็นสัญญาขายสินค้ามากขึ้น 
 
ดังนั้น หากฟิลิปปินส์จะซื้อข้าวด้วยวิธีเปิดประมูลซื้อหรือเจรจาซื้อ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ สามารถดำเนินการได้ทันที จากเดิมต้องรอขั้นตอนผ่านรัฐสภาก่อน ทำให้ล่าช้าไม่ทันกาล ขณะเดียวกันรัฐบาลใหม่ของฟิลิปปินส์ ได้เปิดโอกาสให้เอกชนสามารถนำเข้าข้าวได้ จากเดิมกำหนดให้องค์การอาหารแห่งชาติ (National Food Authority) เป็นผู้นำเข้าข้าวแต่เพียงผู้เดียว โดยปี 2553 ที่ผ่านมาฟิลิปปินส์มีการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศปริมาณ 2.4 ล้านตัน

+ข้าวจีทูจียังเดินหน้า:
 
ด้านนายมนัส  สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในการส่งออกข้าวของไทยในปีนี้มองว่า ยังมีแนวโน้มที่ดี โดยในส่วนของรัฐบาลยังมีการเจรจาขายข้าวแบบจีทูจี (รัฐต่อรัฐ) ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ซึ่งยังค้างการรับมอบข้าวในล็อตเก่าอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ก็มีการเจรจาซื้อขายในล็อตใหม่เพิ่มเติม นอกจากนี้ บังกลาเทศได้มีการเจรจาซื้อเพิ่มเติมเช่นกัน จากที่อยู่ระหว่างส่งมอบในล็อตเก่าจำนวนหนึ่ง ในส่วนของอิรักหลังสงครามโค่นล้มซัดดัม ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องระบบการเงิน ได้มีการติดต่อทำธุรกรรมผ่านประเทศที่สาม  เช่น ผ่านทางรัฐดูไบ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กรณีอิหร่าน ซึ่งถูกแซงก์ชันจากนานาชาติ กรณีการพัฒนานิวเคลียร์ ก็ได้ใช้วิธีขายทางอ้อมผ่านประเทศที่สาม รวมถึงมีอีกหลาย ๆ ประเทศ ที่อยู่ระหว่างการติดต่อประสานงาน

+มั่นใจส่งออกข้าว10ล.ตัน:
 
นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเซียโกลเด้นไรซ์ จำกัด กล่าวว่า นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่กรมการค้าต่างประเทศประสบความสำเร็จในการเซ็นเอ็มโอยูกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ ที่ผ่านมาประเทศไทยจะเสียเปรียบเวียดนาม แต่หลังจากนี้ หากฟิลิปปินส์ต้องการนำเข้าข้าว ไม่ว่าจะวิธีเจรจาหรือประมูลซื้อ กระทรวงพาณิชย์สามารถดำเนินการได้ทันที จากรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ได้รับการแก้ไขแล้ว
 
ประธานบริษัท เอเซียโกลเด้นไรซ์ฯ กล่าวอีกว่า ในปีนี้ประเทศไทยน่าจะส่งออกข้าวได้ทะลุ 10 ล้านตัน เพราะครึ่งแรกของปีนี้สามารถส่งออกได้เดือนละ 1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปกติที่ประเทศไทยจะส่งออกข้าวเฉลี่ยเดือนละ 700,000 ตัน เพราะฉะนั้นหากช่วงเวลาจากนี้ไป ไทยสามารถส่งออกข้าวได้เฉลี่ยเดือนละ 700,000 ตัน หรือ 6 เดือนเท่ากับ 4,200,000 ตัน เท่ากับทะลุ 10 ล้านตันแล้ว ซึ่งจะเป็นการสร้างสถิติใหม่ส่งออกข้าวของไทยอย่างแน่นอน

+โฟกัสตลาดนำเข้าเพิ่ม:
 
ทั้งนี้ การส่งออกที่คาดจะทะลุถึง 10 ล้านตัน มีส่วนสำคัญจากหลายตลาดที่จะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินโดนีเซีย บังกลาเทศ และจีน โดยอินโดนีเซียหยุดนำเข้าข้าวมา 2-3 ปี แต่ปีนี้กลายเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ ขณะที่จีนผลผลิตลดลง และเป็นที่น่าสังเกตว่า จากเดิมที่จีนนำเข้าข้าวหอมมะลิ แต่ระยะหลังได้หันมานำเข้าข้าวขาว เพราะฉะนั้น จีนจึงเป็นประเทศที่น่าจับตามอง เพราะไทยผลิตข้าวขาวมาก หากจีนนำเข้าเพิ่มขึ้น จะมีผลต่อการส่งออกและราคาข้าวของไทยอย่างมาก ส่วนบังกลาเทศ เนื่องจากอินเดียหยุดส่งออกข้าวนึ่ง จึงทำให้บังกลาเทศหันมานำเข้าข้าวนึ่งจากประเทศไทย ประกอบกับที่ผ่านมาบังกลาเทศไม่ใช่ตลาดหลักส่งออกของไทย เพราะนำเข้าจากอินเดียเป็นหลัก ดังนั้นในปีนี้จึงได้บังกลาเทศมาเสริมอีกประเทศหนึ่ง
 
"อย่างไรก็ดี เหตุที่การส่งออกข้าวครึ่งแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 30% แต่ราคาข้าวภายในประเทศไม่ขยับขึ้นเหมือนพืชผลเกษตรอื่น ๆ ทั้งที่ข้าวส่งออกได้มาก มีปัจจัยหลักจากปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ระบายสต๊อกข้าวออกมามาก ประมาณการร่วม 4 ล้านตัน ซึ่งถ้าไม่มีความต้องการของ 3 ตลาด คืออินโดนีเซีย จีน และบังกลาเทศ ราคาข้าวไทยจะต่ำกว่านี้"

+ข้าวครึ่งหลังราคาดี:
 
ส่วนแนวโน้มราคาข้าวช่วงครึ่งปีหลัง เขามองว่าราคาข้าวจะไม่ลง จะยืนหรือทรงตัวในระดับสูง เพราะสต๊อกรัฐบาลเหลือน้อยประมาณ 1 ล้านตันเศษเท่านั้น และข้าวที่เอกชนซื้อจากสต๊อกรัฐบาลมา ได้ระบายออกเกือบหมดแล้ว เพราะฉะนั้น หากรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามามีการบริหารสินค้าข้าวอย่างถูกต้อง ไม่น่ามีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่น่าจับตาคือ การระบายสต๊อกข้าวของประเทศอินเดีย เพราะเวลานี้อินเดียสต๊อกข้าวล้น ทั้งโรงสี ผู้ส่งออก เกษตรกร ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียระบายสต๊อกข้าวขาวและข้าวนึ่งออกมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาดโลกได้

+อินโดฯจ่อนำเข้าอีกล้านตัน:
 
สอดคล้องกับนายชูเกียรติ  โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไรนั้น มีปัจจัยเกี่ยวข้อง 2 ด้าน คือดีมานด์ และซัพพลาย โดยทางด้านดีมานด์ หรือความต้องการจากต่างประเทศ ยังค่อนข้างดี โดยในส่วนของตลาดจีนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง คงต้องติดตามว่า ผลผลิตข้าวของเขาจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะมีผลต่อความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ส่วนอินโดนีเซีย ในปีที่ผ่านมาได้ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ปริมาณข้าวสำรองในประเทศลดลง ซึ่งคงต้องติดตามว่า ในช่วงจากนี้ไปผลผลิตข้าวของอินโดนีเซียจะมีออกมามากน้อยเพียงใด แต่มั่นใจว่าในปีนี้อินโดนีเซียจะมีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากที่นำเข้าปกติ อีกระหว่าง 5 แสน- 1 ล้านตัน
 
วนฟิลิปปินส์ที่มีการสั่งนำเข้าจากต่างประเทศไปแล้วประมาณ 600,000 ตันในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และรัฐบาลได้ออกมาระบุว่าผลผลิตข้าวของฟิลิปปินส์ในปีนี้จะมีมากและคาดว่าจะมีการนำเข้าทั้งปีไม่เกิน 700,000 ตัน คงต้องติดตามว่าผลผลิตที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร (ปี 2553 ฟิลิปปินส์มีการนำเข้าข้าวประมาณ 2.4 ล้านตัน)

+จับตาอินเดียคัมแบ็กส่งออก:
 
สำหรับปัจจัยทางด้านซัพพลาย หรือปริมาณข้าวในตลาดโลก คงต้องจับตามองอินเดีย ว่าจะมีการเทสต๊อกข้าวที่มีอยู่อย่างมหาศาลออกสู่ตลาดหรือไม่ จากปีที่ผ่านมารัฐบาลห้ามส่งออกเพื่อสำรองไว้ใช้ในประเทศ หากอินเดียกลับมาส่งออกอีกครั้ง จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ของทั้งไทยและเวียดนาม ที่เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 และ 2 ของโลกอย่างแน่นอน เพราะจะมีตัวแชร์ตลาดเพิ่มขึ้น
 
"ล่าสุดผมได้ไปร่วมพิธีเปิดออฟฟิศเวียดนามฟู้ด หรือ สมาคมผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามเขาเชื่อว่าปีนี้อินเดียคงทนไม่ไหว และคงปล่อยข้าวออกมา ซึ่งจะไม่เป็นผลดีทั้งไทยและเวียดนาม แต่หากเขายังไม่ส่งออกในปีนี้ ผมเชื่อว่าการส่งออกข้าวของไทยจะถึง 10 ล้านตัน (ไทยเคยส่งออกข้าวระดับ 10 ล้านตันครั้งแรกเมื่อปี 2551) เพราะช่วง 5 เดือนของปีนี้เราส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านตัน ในอีก 7 เดือนที่เหลือ หากส่งออกได้ระดับเดือนละ 7.5 แสนตัน ก็จะได้ตามเป้าหมาย"

+ห่วงเพื่อไทยเป็นรัฐทำเจ๊ง:
 
อย่างไรก็ตามนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศว่า หากได้เป็นรัฐบาลจะนำโครงการรับจำนำข้าวกลับมาใช้อีกครั้ง และจะเพิ่มราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าเป็น 15,000 บาท/ตัน หากเป็นเช่นนั้นจริงจะกระทบต่อการส่งออกมาก เพราะราคารับจำนำที่ 15,000 บาท/ตัน จะทำให้ข้าวขาว 5% ส่งออกราคาเอฟโอบี ต้องขายสูงถึง 900 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน จากปัจจุบันราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 485 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน หรือสูงขึ้นเกือบเท่าตัว ทำให้การแข่งขันส่งออกของผู้ประกอบการไทยจะยากลำบากขึ้น

ขณะเดียวกันจะเป็นโอกาสของข้าวเวียดนามที่ราคาถูกกว่าข้าวไทยอยู่แล้วจะยิ่งได้เปรียบมากขึ้น เพราะจะสามารถขยับราคาขายข้าวได้เพิ่มขึ้น เช่น แทนที่จะขายได้เฉลี่ยที่ระดับ 460 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตันในปัจจุบันอาจขายได้สูงถึง 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน

+4 เดือนส่งออกแล้ว 3.9 ล้านตัน:
 
อนึ่ง รายงานจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยข้อมูล 4 เดือนแรกของปี 2554 ไทยส่งออกข้าวไปต่างประเทศแล้วปริมาณทั้งสิ้น  3,969,505.92 ตัน มูลค่า 67,770 ล้านบาท เทียบกับปี 2553  ช่วงเดียวกันมีการส่งออก 2,696,386.97 ตัน มูลค่า 54,926 ล้านบาท สำหรับ 10 อันดับแรกของประเทศผู้นำเข้าข้าวไทยช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ได้แก่ อินโดนีเซีย  ปริมาณ 486,269 ตัน ไนจีเรีย  453,967 ตัน บังกลาเทศ 389,670 ตัน อิรัก 310,404 ตัน อิหร่าน 248,913 ตัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้  155,780 ตัน มาเลเซีย 119,004 ตัน ญี่ปุ่น 113,975 ตัน เบนิน 113,670 ตัน และจีน 110,988 ตัน สำหรับในปี 2553 ที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกข้าว ประมาณ 9,047,386 ล้านตัน มูลค่า 168,634 ล้านบาท

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

TREA on Facebook


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.