www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

"ไทย-เทศ"รวมหัวค้าน"จำนำข้าว" "หม่อมอุ๋ย"เตือน เสี่ยงขาดทุน 1.5 แสนล้าน


"หม่อมอุ๋ย" ออกโรงเขียนรายงาน "จำนำข้าว ใครได้ใครเสีย" เตือนสติ "ยิ่งลักษณ์" หากดันทุรังทำโครงการต่อไปต้องผลาญเงินมากกว่า 250,000 ล้านบาท แถมต้องแบกสต๊อกข้าวอ่วม เบ็ดเสร็จสุดท้ายขาดทุนโครงการ 150,000 ล้านบาท สูงที่สุดเท่าที่เคยรับจำนำข้าวกันมา เตือนหากไม่หยุด ปี 2555 ข้าวเวียดนามแซงข้าวไทยแน่ พร้อมเสนอตัวเป็นมือประสาน "โกร่ง-อัมมาร" ใช้โมเดลประกันรายได้รูปแบบ

ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาได้มีความเคลื่อนไหวจากหลายภาคส่วนออกมาคัดค้านโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 ที่กำหนดราคารับจำนำไว้สูงแบบ "ผิดปกติ" กล่าวคือ ราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท กับราคารับจำนำข้าวหอมมะลิตันละ 20,000 บาท โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์อ้างว่า ต้องประกาศราคารับจำนำไว้สูงตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน

กระบวนการคัดค้านโครงการรับจำนำข้าวเริ่มต้นมาจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยแสดงความกังวลราคาข้าวที่สูงเกินไปจะไม่สามารถแข่งขันกับข้าวเวียดนามซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งโดยตรงของข้าวไทยได้ ประกอบกับไม่มีความเชื่อมั่นในความโปร่งใสของการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล เกรงว่าจะเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับผู้ส่งออกข้าวเพียงบางกลุ่มเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ถัดมาไม่นาน สมาคมผู้นำเข้าข้าวฮ่องกง ได้ทำหนังสือแสดงความกังวลที่ราคาข้าวไทยจะสูงขึ้นจากราคารับจำนำของรัฐบาล

สˆวนกระทรวงเกษตรสหรัฐก็ออกมาแสดงความกังวล ผลผลิต สต๊อก และการบริโภคข้าว จะส่งผลกระทบต่อการค้าข้าวโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการรับจำนำข้าวไทยถือเป็นการอุดหนุนภายในอย่างชัดเจนและเตรียมที่จะสอบถามเรื่องนี้จาก คณะผู้แทนไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO)

ตามติดมาด้วย ดร.อัมมาร สยาม วาลา กับ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ออกมาคัดค้านโครงการรับจำนำอย่างรุนแรง ด้วยวาทกรรม "ดีแต่โม้" พร้อมกับตั้งข้อสงสัยว่า รัฐบาลจะบริหารจัดการกับข้าวที่รับจำนำไว้ในสต๊อก อย่างไร รวมไปถึงความโปร่งใสในกระบวนการรับจำนำข้าวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เต็มไปด้วยการทุจริต

ล่าสุด ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เผยแพร่รายงาน "จำนำข้าว 15,000 บาท ใครได้-ใครเสีย" ด้วยการย้อนอดีตเพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างของโครงการรับจำนำข้าวในช่วง 30 ปี นับจากปี 2524-2554 จะพบว่าโครงการรับจำนำข้าวช่วงแรก ปี 2524/2525 ถึงโครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2544 รัฐบาลมีเป้าหมายแค่ต้องการยกระดับราคาข้าวในประเทศ จึงตั้งราคาจำนำสูงคิดเป็น 80-95% จากราคาฐาน และตั้งเป้าหมายการรับจำนำเพียงแค่ 1-2.8 ล้านตัน

ปรากฏการรับจำนำข้าวในช่วงนั้นมีข้าวเข้าโครงการสูงสุดเพียง 1.6 ล้านตัน พอราคาสูงเกษตรกรมาไถ่ถอนคืน ซึ่งหมายถึง ข้าวในประเทศส่วนใหญ่อยู่ในสต๊อกเอกชนมากกว่าสต๊อกรัฐบาล ประกอบกับราคารับจำนำไม่เกินกว่าราคาตลาด ทำให้การส่งออกข้าวของไทยสูงกว่าข้าวเวียดนาม

แต่หลังจากโครงการรับจำนำข้าว ปี 2544/45 จนถึงโครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2547 รัฐบาลในขณะนั้นเริ่มกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาด 100% ทำให้ความสามารถในการส่งออกข้าวของผู้ส่งออกข้าวลดลง ข้าวในประเทศจากโครงการรับจำนำไหลเข้า สต๊อกรัฐบาลโดยชาวนาไม่มาไถ่ถอนมากขึ้น

"สต๊อกข้าวรัฐบาลเริ่มมากกว่าสต๊อกข้าวเอกชน ผลก็คือ การส่งออกข้าวของไทยลดลง ในขณะเดียวกันตัวเลขส่งออกข้าวของเวียดนามกลับเพิ่มสูงขึ้น ยกตัวอย่าง โครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2547 กำหนดราคาจำนำสูงกว่าตลาด มีข้าวไหลเข้าโครงการ 5.2 ล้านตัน จากเป้าหมายรับจำนำ 9 ล้านตัน ยอดส่งออกข้าวไทยกลับลดลงจาก 10.11 ล้านตัน เหลือเพียง 7.28 ล้านตัน แต่ยอดการส่งออกข้าวเวียดนามเพิ่มมากขึ้นจาก 4.30 ล้านตัน เป็น 5.17 ล้านตัน ขณะที่ปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่เกิดการรัฐประหาร โครงการรับจำนำข้าวนาปี 2549/2550 ตั้งเป้าจำนำ 9 ล้านตัน มีข้าวเข้าโครงการแค่ 1.8 ล้านตัน และยอดส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 7.36 เป็น 9.50 ล้านตัน ในทางกลับกัน การส่งออกของเวียดนามลดลงจาก 5.20 เหลือ 4.70 ล้านตัน แสดงว่าการเก็บข้าวในสต๊อกของรัฐบาลไว้มากไม่ได้ส่งผลดีกับระบบตลาดส่งออก" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 ที่มีการตั้งราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาดมาก ประกอบกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศที่จะรับจำนำข้าวโดยไม่จำกัดปริมาณ น่าจะทำให้ข้าวเปลือกไหลเข้าสู่โครงการมากถึง 27 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็น 90% ของผลผลิต 30 ล้านตันของประเทศ เท่ากับรัฐบาลจะต้องสูญเสียงบประมาณในการรับจำนำ ซึ่งคิดจากส่วนต่างราคาข้าวกับราคาตลาดเฉลี่ยตันละ 8,000 บาท เป็นเงินกว่า 250,000 ล้านบาท นับเป็นวงเงินรับจำนำข้าวที่สูงที่สุดในรอบ 30 ปี นับตั้งแต่ไทยมีโครงการจำนำข้าว

"กระบวนการจำนำจะเริ่มกลับมามีปัญหาเหมือนในอดีต อาทิ การออกใบประทวนปลอม การสวมสิทธิรับจำนำจากการตั้งราคาข้าวสูงกว่าราคาตลาดมาก ๆ พอข้าวเข้าสู่โครงการก็จะถูกเก็บไว้ในสต๊อกรัฐบาลจำนวนมาก ผู้ซื้อข้าวในตลาดโลกก็ยิ้ม รอกดราคาซื้อ ถ้าเก็บข้ามปี หรือ 2 ปี ก็ยิ่งจะเสี่ยงต่อปัญหาข้าวเสื่อมคุณภาพ และมีการหาประโยชน์จากข้าวขาดบัญชี เกิดเหลือบโครงการจำนำเกาะหลังชาวนา หรือจากพ่อค้าข้าวเจ้าเล่ห์ขึ้นมาอีก"

ถ้าหากรัฐบาลเลือกบริหารสต๊อกข้าวโดยใช้วิธีเร่งระบายข้าวออกทันทีจะยิ่งทำให้ราคาลดลง แต่หากทยอยระบายจะต้องใช้เวลานานมากเพราะปริมาณข้าวที่เก็บสต๊อกไว้สูงเป็น 3 เท่าจากที่เคยมีในอดีต ประกอบกับโลกยังมีผลผลิตข้าวสาลีและผลผลิตข้าวในประเทศอื่นก็เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวไทยลดลง หรือจะใช้วิธีรับจำนำไปควบคู่กับการระบายออก เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนก็ยิ่งทำไม่ได้ เพราะหากรับเข้าและจ่ายออกจะทำให้ราคาตลาดไม่ปรับตัวสูงขึ้นตามวัตถุประสงค์ของรับจำนำ

ผลเสียอีกด้านหนึ่งของการจำนำข้าวจะหนีไม่พ้นการใช้งบประมาณมหาศาล(เพราะประกาศรับจำนำข้าวทุกเมล็ด) และการตั้งราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดมาก ๆ จะทำให้โครงการเกิดภาวะการขาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งราคารับจำนำสูงมากเท่าใด การขาดทุนโครงการก็จะมากขึ้นเท่านั้น

โดยหากเทียบกับการรับจำนำที่มีการบิดเบือนกลไกตลาดมีการขาดทุนต่อเนื่องจำนวนมากตั้งแต่ปี 2547/2548 ขาดทุน 4,926 ล้านบาท, นาปรังปี 2548 ขาดทุน 341 ล้านบาท, นาปี 2548/2549 ขาดทุน 9,929 ล้านบาท, นาปรัง 2549 ขาดทุน 3,094 ล้านบาท แล้วจึงปรับลดลงในปี 2549/2550 ที่มีการรัฐประหาร ข้าวเหลือในมือรัฐบาลน้อย ขาดทุนน้อยเพียง 504 ล้านบาท

ส่วนปี 2551 รัฐบาลพรรคพลังประชาชนเข้ามาใหม่ไม่ขาดทุนเพราะราคาข้าวในตลาดโลกขณะนั้นสูง ต่อมาปี 2552 ทางรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ยังใช้นโยบายจำนำต่อเนื่อง และตั้งราคานำตลาดตันละ 2,000 บาท มีข้าวเข้าโครงการ 5.32 ล้านตัน จากที่ตั้งไว้ 8 ล้านตัน รัฐบาลต้องขายขาดทุน 28,474 ล้านบาท และเชื่อว่าในปีนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์น่าจะขาดทุนเพิ่มขึ้นมากกว่า 150,000 ล้านบาท หรือสูงมากที่สุดในประวัติการณ์เช่นเดียวกัน

"หลังจากการระบายสต๊อกข้าวลอตใหญ่ 4 ด้าน คือ ราคา FOB จะลดลง รัฐบาลใช้เวลาสต๊อกนานจนข้าวเสื่อม ราคาก็ลดลงอีก และที่สำคัญจะเกิดเหลือบเกาะหลังชาวนา รัฐบาลต้องสลัดให้ได้ ระยะยาวหากยังไม่หยุดโครงการนี้ ปี 2555 เวียดนามจะแทรกไทยเป็นปีแรกในประวัติศาสตร์ หากตั้งใจจริงที่จะช่วยชาวนาและรักษาระบบค้าเสรีไว้ ผมพร้อมจะหารือทางออกร่วมกับดร.วีรพงษ์ และ ดร.อัมมาร ครึ่งวันก็จะได้ข้อสรุป แต่คงไม่ใช่วิธีจำนำ อาจจะเป็นวิธีที่ 3 เป็นการประกันในรูปแบบใหม่" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (24 ก.ย.) สมาคมโรงสีข้าวไทยจะมีการเรียกประชุมสมาชิกเพื่อหารือเกี่ยวกับเงื่อนไขหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการรับจำนำโดยเฉพาะเรื่อง์การสีแปรสภาพข้าวที่กขช.กำหนดให้สีแปรข้าวเจ้าปริมาณ 100% ที่รับจำนำ ส่วนข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมจังหวัด และข้าวเหนียว กลับให้สีแปรตามความเหมาะสม แต่ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะอนุกรรมการฯก่อน

"เมื่อไม่อนุญาตให้สีแปร โรงสีก็จะ ไม่กล้าเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวซึ่งจะกลายเป็นการเปิดช่องให้โรงสีภาคกลางข้ามเขตขึ้นไปซื้อข้าวจากภาคอีสานอย่างในอดีต และเกิดการทุจริตตามมา"

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

TREA on Facebook


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.