ุ
กรณีที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ "อนุมัติ" ให้ บริษัทสยามอินดิก้า เป็นผู้ปรับปรุงข้าวขาว 5% เพื่อส่งมอบให้กับรัฐบาลอินโดนีเซียปริมาณ 300,000 ตันเริ่มบานปลาย เมื่อสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยออกมาทำหนังสือทวงถามถึงความโปร่งใสในการเลือกบริษัทดังกล่าว
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวยืนยันการอนุมัติให้ บริษัทสยามอินดิก้า เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก ให้ปรับปรุงข้าวส่งมอบรัฐบาลอินโดนีเซีย ว่า กระบวนการเสนอราคาดังกล่าวดำเนินการไปตามระบบ หลังจากที่อินโดนีเซียได้ส่งรายชื่อผู้ส่งออกที่ ทำการค้าปกติกับอินโดนีเซียหรือเป็น ผู้ส่งออกที่อินโดนีเซียให้ความเชื่อถือ และต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าต่างประเทศไว้แล้วจำนวนหนึ่ง
"เราก็นำมาพิจารณาต่อรองกับหลายรายแล้ว ได้ผู้ชนะเป็นบริษัทดังกล่าว"
ส่วนกรณีที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มีหนังสือมาถึงตน เพื่อให้ชี้แจงและทบทวนเรื่องดังกล่าวนั้น ยืนยันว่าจะไม่มีการนำผลการพิจารณาดังกล่าว กลับมาทบทวนใหม่ และหากสมาคมหรือผู้ส่งออกข้าวต้องการที่จะปฏิบัติงานร่วมกับรัฐบาลต่อไป
"ก็ควรไปปรับทัศนคติการทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะมุ่งเสริมการยกระดับราคาสินค้าเกษตร ให้มีระดับที่สูงขึ้น เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร เพราะที่ผ่านมายังไม่ เคยมีใครปฏิบัติได้"
สำหรับนโยบายการดูแลระดับราคาสินค้าเกษตรต่อไปนั้น กระทรวงพาณิชย์จะต้องปรับบทบาทให้ องค์การคลังสินค้า (อคส.) เข้ามาซื้อสินค้าเกษตร ในท้องตลาด ตามนโยบายของรัฐบาล
ด้านนางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สมาคมได้ทำหนังสือไปถึงนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง จำนวน 2 ฉบับ โดยฉบับแรกเป็นการ ขอทราบข้อเท็จจริงเรื่องการอนุมัติ ให้ผู้ส่งออกข้าวบางรายส่งมอบข้าวให้รัฐบาลอินโดนีเซีย จำนวน 300,000 ตัน เพราะตอนนั้นยังไม่แน่ใจว่ามีเหตุการณ์ที่แท้จริงเกิดขึ้นหรือไม่ และทางสมาคมยังไม่ได้รับแจ้งประกาศเปิดประมูล ของรัฐบาล กับ ฉบับที่ 2 เพื่อขอ ทราบรายละเอียดของการประมูล เงื่อนไข การประมูลเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบว่า ผู้ส่งออก รายดังกล่าวใช้ข้าวรัฐบาลส่งมอบหรือใช้ข้าวจากระบบปกติ มีการ ร่าง TOR หรือไม่ ประกาศเมื่อไหร่ และใครทราบ แต่ทั้งหมดยังไม่ได้รับ คำตอบจากกระทรวงพาณิชย์ ทั้งทางวาจาและลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด
"สมาคมไม่รู้ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ในการประชุมหอการค้าที่ผ่านมา ท่านกิตติรัตน์ก็บอกว่า ยินดีสนับสนุนการทำงานของภาคีต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งจริง ๆ แล้วมันอยู่ที่สปิริต ใครกันแน่ที่ต้องปรับทัศนคติต่อกัน ถ้าหากให้เราปรับทัศนคติ เราอยากทราบว่า ถ้าจะเป็นผู้ส่งออกที่ต้องการทำการค้ากับรัฐบาลจะต้องทำอย่างไรและการสอบถาม ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องผิดในสังคมประชาธิปไตยหรือไม่" นางสาวกอบสุขกล่าว
สำหรับกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว สมาคมได้แจ้งไปยังภาคี ต่อต้านคอร์รัปชั่นแล้ว เพื่อดำเนินการต่อไป และอีกทางหนึงขึ้นอยู่กับกระบวนการของทางรัฐสภา หากคณะกรรมาธิการตั้งประเด็นและเชิญเราไปให้ข้อมูล "เราก็จะไป" แม้ว่าสมาคมไม่ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการประมูล ข้าวดังกล่าว พร้อมกันนี้ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่นายกิตติรัตน์มอบหมายให้ อคส. ตั้งโต๊ะรับซื้อสินค้าเกษตรกร เพื่อพยุงราคาและนำไปทำธุรกิจนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 หรือไม่ เพราะอาจจะเป็นการทำธุรกิจแข่งกับภาคเอกชน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|