สถานการณ์ข้าวในช่วงรอยต่อของรัฐบาลชุดใหม่กำลังเต็มไปด้วยความสับสน ในเมื่อยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการเปลี่ยนนโยบายจากการประกันราคาข้าวมาเป็นการรับจำนำข้าว พร้อมกับเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในวงการค้าข้าว ที่ว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังอาศัยระยะเวลาในช่วงสุดท้ายของรัฐบาลรักษาการ เสนอที่จะขายข้าวในสต๊อกรัฐบาล มากกว่า 800,000 ตัน ออกสู่ตลาด
แหล่งข่าวในวงการค้าข้าวเปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ได้รับการยืนยันอย่างไม่เป็นทางการในความพยายามของกระทรวงพาณิชย์ ที่จะระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลมากกว่า 800,000 ตัน ออกสู่ตลาดในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างรัฐบาลชุดเก่ากับรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ โดยอ้างเหตุความจำเป็นที่จะต้องระบายก่อนที่ข้าวฤดูกาลใหม่จะออกสู่ตลาด
"ขณะนี้ผู้ส่งออกข้าวหลายรายได้รับการติดต่อว่า สนใจที่จะซื้อข้าวในสต๊อกรัฐหรือไม่ โดยขอค่าใช้จ่ายพิเศษบวกเข้าไปในราคาข้าว ยกตัวอย่าง ข้าวขาว เสนอขายในราคาตันละ 12,000 บาท บวกค่าใช้จ่ายพิเศษไม่เกินตันละ 1,000 บาท เป็น 13,000 บาท ซึ่งราคานี้สามารถขายต่อภายในประเทศได้ในราคาไม่เกิน 14,000 บาท หรือถูกกว่า ราคาข้าวปัจจุบันที่อยู่ระหว่าง 15,000 บาท แต่ผู้ส่งออกข้าวส่วนใหญ่ไม่กล้า เสี่ยงที่จะซื้อข้าวตอนนี้ เนื่องจากไม่มั่นใจว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาจะต้องจ่าย ค่าใช้จ่ายพิเศษซ้ำซ้อนอีกหรือไม่"
อย่างไรก็ตามผลจากข่าวความพยายามที่จะเร่งระบายสต๊อกข้าว ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้น มีผลทำให้ราคาข้าวในประเทศตกลง โดยข้าวหอมมะลิจากราคาประมาณ 30,000 บาท/ตัน ในสัปดาห์นี้ราคาอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 28,800 บาท/ตัน ส่วนข้าวขาวเดิมราคาอยู่ที่ 15,200-15,500 บาท/ตัน สัปดาห์นี้ราคาอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 14,200-14,500 บาท/ตัน "นอกจาก 2 เหตุผลข้างต้น ด้านผู้ส่งออกข้าวที่ซื้อข้าวใน สต๊อกรัฐบาลลอตที่ผ่านมา ต่างเร่งขนข้าวในโกดังรัฐบาลกันใหญ่ เนื่องจาก ไม่มั่นใจที่จะให้สต๊อกข้าวที่ตนเองทำสัญญาซื้อขายไปแล้วคาอยู่ในโกดังรัฐบาล" แหล่งข่าวกล่าว
ด้านนางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ภายหลังจากการหารือกับสมาชิกว่า สมาคมพร้อมที่จะเสนอความเห็นต่อรัฐบาลชุดใหม่เกี่ยวกับการเตรียมมาตรการรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2554/2555 รวมไปถึงการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำเหมือนในอดีต
"เราคิดว่าการจำนำข้าวต้องกลับมาแน่ในรัฐบาลชุดนี้ สมาคมจึงมาตั้งต้นคิดว่า การรับจำนำนิวเวอร์ชั่นควรจะทำอย่างไร หรือทำอย่างไรให้เวิร์ก ตรงเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ส่งออกข้าวทั้งระบบทำอย่างไรไม่ให้ล้มหายตายจากเหมือนกับโครงการรับจำนำข้าวในอดีต โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการ สต๊อกและการระบายข้าวของรัฐ" นางสาวกอบสุขกล่าว
โดยข้อเสนอแนะที่จะเสนอรัฐบาลชุดใหม่ ประกอบด้วย 1)รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้าวในสต๊อกของรัฐบาลอย่างเท่าเทียมกัน 2)วิธีการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลควรเปิดประมูลเป็นการทั่วไป เพื่อใช้ทั้งภายในประเทศและส่งออก เพราะการประมูลเป็นวิธีการที่โปร่งใส ต้องเปิดโอกาสให้ทั้งผู้ส่งออกรายเล็กและรายกลาง รายใหญ่ หรือผู้ประกอบการข้าวถุง โรงสี สามารถเข้าถึงข้าวได้เท่าเทียมกัน และนำไปสู่การแข่งขันเสนอราคา ซึ่งจะสะท้อนราคาตลาดและจะเป็นวิธีที่ภาครัฐบาลได้รับประโยชน์สูงสุด
"เราไม่สนับสนุนให้มีการขายข้าวที่รัฐรับจำนำแล้วคืนให้กับโรงสีเพียงกลุ่มเดียว เพราะโรงสีที่รับฝากข้าวก็ได้รับค่าฝากเก็บอยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องกำหนดให้ขายคืนเฉพาะการส่งออก เพราะต้องยอมรับความจริงว่าที่ผ่านมามีการหมุนเวียนข้าวส่งออกกลับมาขายภายในประเทศอยู่แล้ว เพราะทั้งสองคนเป็นผู้เล่นคนเดียวกัน" นางสาวกอบสุขกล่าว
3)ระยะเวลาระบาย รัฐบาลควรกำหนดให้การระบายข้าวในสต๊อกรัฐเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันผลกระทบจากการกักตุนเก็งกำไร เช่น ประมูลทุกเดือนเดือนละ 100,000-200,000 ตัน ไม่ควรเก็บสต๊อกเอาไว้จนข้าวมีปริมาณมากเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ผู้ซื้อต่างประเทศกดราคารับซื้อข้าวไทยและจะเกิดปัญหาด้านคุณภาพข้าวตามมา 4)ต้องกระจายข้าวในสต๊อกขายให้กับผู้ซื้อหลาย ๆ ราย โดยกำหนดจำนวนผู้ซื้อว่าครั้งหนึ่งจะขายให้ 10 ราย ตามระดับราคาเท่าไหร่ หรือกำหนดปริมาณต่ำสุด-สูงสุด ไม่สูงมากนัก เพื่อเปิดโอกาสให้รายย่อยเงินทุนน้อยสามารถเข้าร่วมประมูลได้
"ถ้ารัฐบาลใหม่มีความจริงใจ มองว่าผู้ส่งออกเป็นองคาพยพของธุรกิจค้าข้าว ก็ควรที่นำข้อเสนอของสมาคมไปพิจารณา อย่ามองว่าหากผู้ส่งออกขายข้าวไม่ได้แล้วรัฐบาลจะขายเองทั้งหมด สมาคมยอมรับให้รัฐบาลเป็นเจ้ามือในการเปิดรับจำนำข้าว แต่ขออย่าตัดเราออกจากวงจร ขอโอกาสที่จะ input จะช่วยให้ระบบนี้ยั่งยืนขึ้น เพราะการที่รัฐบาลจะหาตลาดมาซับข้าว 8-10 ล้านตันไม่ใช่เรื่องง่าย" นางสาวกอบสุขกล่าว
สำหรับสาเหตุที่ผู้ส่งออกข้าวกำหนดท่าทีนี้ขึ้นมา เป็นเพราะความกังวลที่ว่าหลังเปิดโครงการรับจำนำข้าว จะมีผู้ส่งออกข้าวเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ถูกเลือกให้เข้ามาซื้อข้าวในสต๊อกรัฐ ส่งผลให้เกิดการผูกขาดเฉพาะผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ เหมือนกับที่เกิดกับโครงการรับจำนำข้าวในอดีต
ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการเปลี่ยนนโยบายการรับประกันราคาข้าวมาเป็นการรับจำนำนั้น มีสิ่งที่ต้องกังวล 3 ประการคือ 1)การจำนำอาจจะต้องมีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากเข้าไปรับจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าตลาด 60-70% ทำให้ไม่มีพ่อค้าข้าวรายใดมาซื้อข้าวแข่งกับรัฐบาล สุดท้ายรัฐบาลอาจจะต้องใช้เงินทั้งหมด 400,000 ล้านบาท เข้าไปรับซื้อข้าว
2)เรื่องเม็ดเงินภาษีอาจจะไม่ถึงมือเกษตรกร โดยพ่อค้าคนกลางอาจจะ มาดักซื้อข้าวจากชาวนาแล้วเอาไปขายให้รัฐบาลผ่านโครงการจำนำ และ 3)ผลกระทบกับผู้บริโภค เมื่อมีการสร้างราคาข้าวเปลือกให้สูง ราคาข้าวสารก็สูงขึ้นตามด้วย อาจจะถึงขั้นขาดตลาด อย่างเช่นในตอนนี้ก็เริ่มมีการกักตุน ข้าวถุงกันแล้ว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|