สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ชี้ว่า โดยรวมแล้วทิศทางราคาข้าวปีนี้แม้จะต่ำกว่าปี 2551 ที่ราคาสูงเป็นประวัติการณ์ แต่จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2552 โดยผลผลิตข้าวทั่วโลกปีนี้จะมีประมาณ 450 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2553 เล็กน้อย ใกล้เคียงกับความต้องการบริโภคข้าวทั้งโลกใน ปีนี้ที่มีประมาณ 452 ล้านตัน สูงขึ้นจาก ปี 2553 ที่ความต้องการบริโภคข้าวทั้งโลกที่ 437 ล้านตันข้าวสาร
โดยผู้ผลิตรายใหญ่ประกอบด้วย จีน 136 ล้านตันข้าวเปลือก อินเดีย 97 ล้านตันข้าวเปลือก อินโดนีเซีย 38 ล้านตันข้าวเปลือก บังกลาเทศ 32 ล้านตันข้าวเปลือก เวียดนาม 24 ล้านตันข้าวเปลือก และไทย 20 ล้านตันข้าวเปลือก ฯลฯ ส่วนความต้องการในการบริโภคข้าว จีนยังเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุด 135 ล้านตันข้าวสาร อินเดีย 96 ล้านตัน อินโดนีเซีย 38.55 ล้านตัน บังกลาเทศ 32.7 ล้านตัน
ในส่วนของประเทศไทย ผลผลิตข้าวนาปีนี้คาดว่าจะมี 22.18 ล้านตันข้าวเปลือก แม้บางส่วนจะได้รับความเสียหายจากการเกิดน้ำท่วม สาเหตุมาจากมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น สำหรับข้าวนาปรังซึ่งมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเช่นเดียวกัน น่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดรวม 9.5 ล้านตันข้าวเปลือก รวมแล้วผลผลิตข้าวนาปีและนาปรังจะอยู่ในระดับ 31 ล้านตันเศษ ใช้บริโภคภายในประเทศประมาณ 18 ล้านตัน เหลือส่งออกประมาณ 12 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 8-9 ล้านตันข้าวสาร
เทียบกับปริมาณการส่งออกช่วงปี 2553 ที่ผ่านมา ซึ่ง สศก.ประมาณการว่ามีการส่งออกข้าวประมาณ 8.5 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นมูลค่ารวม 1.59 แสนล้านบาท จากปี 2549 มีปริมาณการส่งออก 7.49 ล้านตันข้าวสาร มูลค่ารวม 9.82 หมื่นล้านบาท
โดยสรุป สศก.คาดการณ์ถึงปริมาณการส่งออกของประเทศต่าง ๆ ไว้ดังนี้ ไทย 8.5-9 ล้านตันข้าวสาร เวียดนาม 5.8 ล้านตัน สหรัฐ 3.55 ล้านตัน ทั้งนี้หากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ไทยจะมีส่วนแบ่งในตลาดส่งออกข้าวสูงที่สุดที่ 29.72% รองลงมาคือ เวียดนาม 19.15% สหรัฐ 11.72% ปากีสถาน 8.75% อินเดีย 8.26% จีน 2.97% กัมพูชา 2.81% อุรุกวัย 2.64%
ขณะที่ความต้องการในการนำเข้าข้าวรายใหญ่ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ 2 ล้านตันข้าวเปลือก ไนจีเรีย 1.9 ล้านตัน สหภาพยุโรป 1.35 ล้านตัน ซาอุดี อาระเบีย 1.3 ล้านตัน อิหร่าน 1.2 ล้านตัน อิรัก 1.15 ล้านตัน ฯลฯ
ส่งผลให้บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2554 ที่ สศก.คาดการณ์ไว้มีดังนี้ สต๊อกต้นปี 95.373 ล้านตันข้าวสาร ผลผลิต 452 ล้านตันข้าวสาร ปริมาณการนำเข้าข้าวทั่วโลก 30.28 ล้านตันข้าวสาร ปริมาณความต้องการใช้บริโภคภายในประเทศรวม 452 ล้านตันข้าวสาร ปริมาณการส่งออก 30.28 ล้านตันข้าวสาร ส่วน สต๊อกปลายปีจะอยู่ที่ 94.26 ล้านตันข้าวสาร
ในจำนวนนี้แบ่งเป็นสต๊อกปลายปีของจีน 41.27 ล้านตันข้าวสาร อินเดีย 19 ล้านตันข้าวสาร อินโดนีเซีย 7.25 ล้านตันข้าวสาร ฟิลิปปินส์ 2.34 ล้านตันข้าวสาร เวียดนาม 1.71 ล้านตันข้าวสาร ญี่ปุ่น 2.95 ล้านตันข้าวสาร สหรัฐ 1.52 ล้านตันข้าวสาร และประเทศอื่น ๆ ที่เหลือรวม 18.19 ล้านตันข้าวสาร
แม้โดยรวมแล้วทิศทางราคาข้าวทั้งในประเทศและในตลาดโลกน่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ในส่วนของไทยนั้นจากที่รัฐบาลยังมีสต๊อกข้าวอยู่ในมือประมาณ 3.5 ล้านตัน ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่อยู่ในระดับ 4 ล้านตัน ฉุดให้ราคาข้าวภายในประเทศมีแนวโน้มลดลง ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิฤดูการผลิตปี 2553/2554 อยู่ที่ 12,650-14,000 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ราคาอยู่ที่ 13,400-15,500 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 8,400-8,500 บาท/ตัน ลดลงจาก 8,800-9,300 บาท/ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุม 10,400-12,000 บาท/ตัน ลดลงจาก 12,000-14,000 บาท/ตัน ส่วนราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวอยู่ที่ 13,500-16,00 บาท/ตัน ลดลงจาก 14,000-16,350 บาท/ตัน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|