นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า สถานการณ์การค้าอาหารไทยในไตรมาสแรกของปี 2554 ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งการนำเข้าและส่งออก โดยการส่งออกมีมูลค่า 2.22 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.5% นำเข้า 7.86 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.5%
สินค้าหลักที่ส่งออกมากขึ้น ได้แก่ ข้าว ไก่ ทูน่ากระป๋อง ผักและผลไม้สด เนื่องจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและนอกประเทศยังขยายตัวได้ดี และค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 30.50 เหรียญสหรัฐ เป็นปัจจัยเอื้อต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทำให้ผลตอบแทนของธุรกิจมีแนวโน้มลดลง ซึ่งการนำเข้าที่ขยายตัวเพิ่ม 32.2% ขณะที่ส่งออกโต 8.5% สะท้อนว่ารายได้จากการส่งออกปรับตัวไม่ทันกับการนำเข้า แม้ตัวเลขส่งออกจะเพิ่มขึ้น แต่ราคาวัตถุดิบสูงขึ้นมากกว่า ทำให้กำไรผู้ประกอบการลดลง
ขณะที่แนวโน้มส่งออกอาหารไตรมาส 2 คาดว่าจะมีมูลค่า 2.11 แสนล้านบาท ขยายตัว 2.6% โดยเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดีทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่ผู้ผลิตมีข้อจำกัดในการเพิ่มกำลังผลิต เนื่องจากหลายอุตสาหกรรมยังประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะกุ้ง มันสำปะหลัง และน้ำมันปาล์ม
สรุปภาพรวมทั้งปี คาดว่าจะขยายตัวใกล้เคียงปีที่แล้ว โดยส่งออกจะมีมูลค่า 8.55 แสนล้านบาท ขยายตัว 6.5% เนื่องจากความต้องการอาหารโลกขยายตัว เศรษฐกิจโลกเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดี ผลผลิตสินค้าเกษตรในประเทศผู้ผลิตและผู้นำเข้ารายสำคัญเสียหายจากภัยธรรมชาติ จึงต้องการสินค้าอาหารเพิ่ม โดยเฉพาะญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ผลกระทบจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น จะทำให้ไทยได้ส่งออกอาหารมากขึ้น เช่น ไก่สุกแปรรูป อาหารทะเลสดและแปรรูป ผักผลไม้สดและแปรรูป อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน แต่การส่งออกยังมีข้อจำกัดในเรื่อง กำลังซื้อของคนญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลง คู่แข่งมาก เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ครองตลาดอาหารในญี่ปุ่น จึงอาจทำให้การส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นไม่ได้เพิ่มมากขึ้น และจากตัวเลขการส่งออกไปญี่ปุ่นในปัจจุบันก็ยังขยายตัวในระดับปกติ
ปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นๆ ที่ต้องระวังด้วย คือ ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในภาคใต้ จะทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบ ภาวะเงินเฟ้อ แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นของประเทศในกลุ่มด้อยพัฒนา จะกระทบต่อกำลังซื้อ และความไม่สงบในประเทศแอฟริกาตอนเหนือ อาจกระตุ้นให้ราคาน้ำมันพุ่งแรง
ที่มา โพสต์ทูเดย์
|