นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยภายหลังที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขอความร่วมมือไปยังหัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจำนวน 65 แห่ง ที่ประจำอยู่ทั่วโลก รวมทั้งผู้แทนภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าข้าว ให้ช่วยสอดส่องดูแลปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของข้าวไทยที่ส่งออกไปขายยังตลาดโลก เพื่อให้ไทยสามารถคงความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดข้าวของโลก สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทย และป้องกันการแอบอ้างนำชื่อข้าวไทยไปใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาจากประเทศไทย
"ตอนนี้ได้ขอความร่วมมือไปยังหัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งผู้แทนภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าข้าว ให้ช่วยสอดส่องดูแลปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของข้าวไทยที่ส่งออกไปขายยังตลาดโลก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทย และป้องกันการแอบอ้างทำให้เสียชื่อเสียง" นางปัจฉิมา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ข้าวไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกว่าเป็นข้าวชั้นดี มีคุณภาพมาตรฐาน ทำให้มีพ่อค้าบางรายในบางประเทศ ทำการปลอมปนข้าวไทย ซึ่งมีทั้งการแอบอ้างชื่อ แอบอ้างเครื่องหมายการค้า และตรารับรองมาตรฐานข้าว ซึ่งส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของข้าวไทย กรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงได้ขอความร่วมมือให้ทูตพาณิชย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้าวไทย ทั้งผู้ส่งออก สมาคมข้าว ให้ช่วยสอดส่องดูแลอีกทาง หากพบปัญหาจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที ทั้งนี้ ข้าวไทยที่ถูกละเมิดในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นข้าวหอมมะลิ ที่มักจะมีการลอกเลียนแบบเครื่องหมายรับรองของกรมการค้าต่างประเทศ ด้วยการนำข้าวไปบรรจุใหม่ แล้วแอบอ้างว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทย หรือการปลอมปนเครื่องหมายการค้า ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเป็นข้าวของไทย ทำให้ชื่อเสียงข้าวไทยเสียหาย และยังมีการละเมิดด้วยการลักลอบนำสายพันธุ์ข้าวของไทยไปพัฒนาต่อยอดโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่แบ่งปันผลประโยชน์ให้ไทย
นอกจากการป้องกันการละเมิด กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังจะเดินหน้าเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับข้าวไทย ด้วยการสนับสนุนการสร้างแบรนด์ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรองคุณภาพ และชื่อสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวของไทย ซึ่งล่าสุด กรมฯ กำลังผลักดันการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ของไทยในสหภาพยุโรป (อียู) แม้ว่าขณะนี้ยังมีบางประเทศที่คัดค้านอยู่
สำหรับการพัฒนาในด้านอื่นๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพยายามพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตสูงและมีต้นทุนต่ำลง และเน้นการพัฒนาคุณภาพข้าวไทย และสายพันธุ์ข้าวไทยให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก รวมทั้งอาจพิจารณาปรับปรุงรูปแบบการกำหนดมาตรฐานข้าว เพื่อให้สามารถแบ่งระดับการตลาด และราคาได้อย่างเหมาะสม
ที่มา หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
|