ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ถึงผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตร นับตั้งแต่เกิดอุทกภัยใหญ่จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก ที่เริ่มตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย.จนถึงล่าสุดวันที่ 17 พ.ย.54 ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรใน 68 จังหวัด ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่ามีพื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย 11.48 ล้านไร่ แบ่งเป็นด้านพืช เสียหาย 11.19 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวมากสุด 9.18 ล้านไร่ รองลงมาคือพืชไร่ 1.50 ล้านไร่ พืชสวนอื่นๆ 511,284 ไร่ และแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ 19,501 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีด้านประมง เสียหาย 230,906 ไร่ และด้านปศุสัตว์ 28.74 ล้านตัว
ส่วนมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ เบื้องต้น สศก.ประเมินว่ามีมูลค่ารวม 76,673 ล้านบาท แบ่งเป็นความเสียหายด้านพืช 66,420 ล้านบาท ด้านปศุสัตว์ 5,474 ล้านบาท แปลงหญ้า 49 ล้านบาท และด้านประมง 4,779 ล้านบาท ขณะที่เมื่อคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร (จีดีพีภาคเกษตร) รวมทั้งสิ้น 14,646 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนความเสียหายต่อจีดีพีภาคเกษตร 3.66% จากประมาณการจีดีพีภาคเกษตรในปีนี้ที่ 399,911 ล้านบาท และคาดว่าความเสียหายดังกล่าวจะทำให้จีดีพีภาคเกษตรปีนี้ลดลง 3.84% จากเดิมคาดทั้งปีจะขยายตัว 4.80% คงเหลือ การขยายตัวเพียง 0.96% เท่านั้น
สศก.ชี้ปีหน้าสุดหินส่งออกข้าว
ด้านนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการ สศก. กล่าวถึงผลสำรวจการผลิตข้าวนาปี ปี 54/55 เมื่อวันที่ 18 ต.ค.54 ว่า คาดจะมีผลผลิตประมาณ 20 ล้านตันข้าวเปลือก ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 25 ล้านตันข้าวเปลือก เพราะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมประมาณ 5 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนการผลิตข้าวนาปรังปี 55 คาดว่าเนื้อที่ปลูกและผลผลิตข้าวจะเพิ่มขึ้น เพราะมีปริมาณน้ำในเขื่อนและน้ำในคลองมากเพียงพอ ประกอบกับแรงจูงใจด้านราคาจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล คาดจะมีผลผลิตข้าวนาปรังปี 55 มากถึง 10 ล้านตันข้าวเปลือก สูงกว่าปีปกติที่มีผลผลิตประมาณ 8 ล้านตันข้าวเปลือก เมื่อรวมกับผลผลิตข้าวนาปีปี 54/55 อีก 20 ล้านตันข้าวเปลือก จะทำให้ไทยมีผลผลิตข้าวรวมเป็น 30 ล้านตันข้าวเปลือก และหากรวมกับข้าวในสต๊อกของรัฐบาลในช่วงสิ้นปีนี้อีก 11-12 ล้านตันข้าวเปลือก จะทำให้ปี 55 ไทยมีผลผลิตข้าวทั้งประเทศรวม 41-42 ล้านตันข้าวเปลือก
“ปริมาณผลผลิตข้าวรวมดังกล่าว จะไม่มีปัญหาด้านการบริโภคในประเทศเฉลี่ยประมาณ 20 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนการส่งออกปีหน้าก็ยังมีปริมาณข้าวส่งออกได้เพียงพอ เพราะเราตั้งเป้าส่งออกไว้ที่ 12 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 8 ล้านตันข้าวสาร ต่ำกว่าปีนี้ไทยส่งออกได้ถึง 10 ล้านตันข้าวสาร เพราะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ กำลังซื้อลด หากเป็นเช่นนั้นสต๊อกข้าวในประเทศช่วงปลายปี 55 จะเหลือประมาณ 10 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งค่อนข้างสูง”
นอกจากนี้ ประเทศคู่แข่งอย่างอินเดีย ที่งดส่งออกข้าวประมาณ 2 ปี ได้กลับมาส่งออกข้าวขาว และข้าวนึ่ง ซึ่งจะมีมาแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวโลกอีก 2.5 ล้านตัน เพราะราคาข้าวอินเดียถูกกว่าไทยตันละเกือบ 100 เหรียญสหรัฐฯ เป็นผลจากนโยบายรับจำนำข้าว ทำให้ข้าวไทยมีราคาสูงกว่าคู่แข่งมาก ขณะเดียวกัน เวียดนาม ซึ่งถูกน้ำท่วมหนักในปีนี้ สามารถฟื้นตัวและจะกลับมาส่งออกได้ในเร็วๆนี้ ซึ่งจะทำให้ส่วนแบ่งตลาดและราคาข้าวส่งออกของไทยลดลง สำหรับข้าวหอมมะลิ น่าจะยังดี เพราะตลาดส่งออกหลักคือ จีน ยังเข้มแข็งมาก
จำนำข้าวเหลวเหตุไม่ดึงราคาขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปีหน้าไทยจำเป็นต้องวางแผน การระบายข้าวอย่างรอบคอบ เพราะสต๊อกข้าวในประเทศมีมาก แต่การส่งออกจะทำได้ยาก เพราะแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรเป็นขาลงตามเศรษฐกิจโลก หากไทยไม่สามารถระบายข้าวออกได้ดี จะทำให้สต๊อกในประเทศสูงขึ้น ผู้ซื้อข้าวต่างประเทศจะกดราคาซื้อข้าวไทยได้ ดังนั้น ผู้ส่งออกต้องทำงานหนัก เพราะการระบายข้าวของรัฐบาลแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ยังไม่แน่ว่าจะระบายข้าวออกจากประเทศได้มาก อีกทั้งราคาขายมักจะต่ำ ส่วนราคาข้าวในประเทศนั้น รัฐบาลได้ประกาศรับจำนำข้าวในราคาสูง โดยกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 20,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท และข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท แต่ราคาที่เกษตรกรจะขายได้จริงอยู่ที่เท่าไร อยู่ที่การบริหารจัดการโครงการรับจำนำ หากไม่ถึงราคารับจำนำ รัฐต้องดูว่าปัญหาเกิดจากส่วนใด
“นโยบายรับจำนำราคาข้าวเปลือกในประเทศปีนี้ถือว่ายังไม่เข้าเป้าราคาที่โรงสีรับจำนำในพื้นที่จริงวันนี้จึงยังไม่ถึงเป้าที่รัฐบาลวางไว้ เพราะโรงสีที่เปิดรับจำนำจริงยังมีจำนวนน้อยมาก บางพื้นที่ไม่มีโรงสีเลย ทำให้เกษตรกรจำนวนมากจึงไม่อยากขนข้าวไปจำนำที่โรงสีในพื้นที่ไกลออกไป เพราะมีต้นทุนค่าโสหุ้ยมาก ทั้งค่าจ้างรถบรรทุก ค่าจ้างขนของ ค่าแรง ค่าเสียเวลา เมื่อไปถึงโรงสีแล้วยังต้องถูกหักค่าเปอร์เซ็นต์ความชื้นในข้าวอีก ท้ายที่สุด ราคารับจำนำจริงที่ปลายทางก็ไม่ต่างจากราคาขายให้กับพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อถึงยุ้งฉาง เกษตรกรจึงตัดสินใจขายให้พ่อค้าแทนที่จะขนข้าวมาจำนำ ซึ่งตอนนี้กระทรวงพาณิชย์ก็เร่งแก้ไขปัญหาแล้ว โดยอนุญาตให้โรงสีนอกพื้นที่สามารถเข้าไปรับจำนำในพื้นที่อื่นที่มีจำนวนโรงสีเข้าร่วมโครงการไม่เพียงพอ”
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
|