นายปราโมทย์ วานิชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย และกรรมการนโยบายการข้าวแห่งชาติ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้ (31 ม.ค.) กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้รายงานผลจากมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกด้วยวิธีการตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวจากเกษตรกรและเสนอให้ กขช.พิจารณามาตรการตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวในระยะต่อไป แต่ยังไม่มีการระบุว่าจะตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวในช่วงเวลาใด
“ฝ่ายเลขานุการยังไม่ส่งรายละเอียดการตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวมาให้กรรมการฯ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ กรรมการฯควรมีข้อมูลเพื่อจะได้มีเวลาไตร่ตรองเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ใช่ประชุมกัน 3-4 ชั่วโมงแล้วตัดสินใจเลย" นายปราโมทย์ กล่าว
นายปราโมทย์ กล่าวว่า การแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกเป็นวิธีการที่จำเป็น หากพบว่าช่วงเวลานั้น มีการกดราคาข้าวของเกษตรกรจากโรงสี เช่น ราคาอ้างอิงอยู่ที่ 8.5 พันบาทต่อตัน แต่โรงสีรับซื้อที่ 8 พันบาทต่อตัน เป็นต้น หรือกรณีที่มีการโรงสีไม่ยอมรับซื้อข้าว เพราะต้องการทุบราคาข้าว แต่ตนมองว่าสถานการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะการผลิตข้าวนาปี 2553/2554 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 2553-กลางเดือนก.พ. พบว่าโรงสีข้าวยังไล่รับซื้อข้าวจากเกษตรกรตามปกติ เพราะราคามีแนวโน้มที่ดี
นอกจากนี้ เนื่องจากช่วงนี้อยู่ในช่วงปลายฤดูกาลแล้ว ข้าวส่วนใหญ่ของเกษตรกร ซึ่งมีประมาณ 22 ล้านตัน ได้ขายให้โรงสีหมดแล้ว คือ แทบไม่มีข้าวเปลือกเหลืออยู่ในมือเกษตรกรแล้ว ดังนั้น ตนเห็นว่าการตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวขณะนี้ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด เพราะถ้ามีการตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวประโยชน์ก็จะตกอยู่กับผู้ที่มีข้าวเปลือกเก็บไว้ในมือ ขณะที่รัฐบาลจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาและค่าสีแปรสภาพข้าว ซึ่งตนจะคัดค้านทันที หากมีการเสนอให้มีการตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวในช่วงนี้
ส่วนกรณีที่มีการกระแสข่าวว่ารัฐบาลระบายข้าวในสต็อกออกมาแล้ว 4 ล้านตันจากข้าวในสต็อกที่มีทั้งสิ้น 5 ล้านตัน นั้น นายปราโมทย์ กล่าวว่า กรรมการ กขช.ไม่มีใครรับทราบการระบายข้าวครั้งนี้เลย ว่ามีการระบายข้าวจำนวนเท่าใด และที่ราคาเท่าใด เพราะเป็นการเจรจาระบายข้าวทางลับ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และเมื่อมีการดำเนินการกันเองและกรรมการไม่รู้เรื่องอย่างนี้แล้ว หากว่ามีการทุจริต คนที่เกี่ยวข้องก็ต้องรับผิดชอบเอง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|