นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล เจ้าของโรงสีร่วมเจริญ 2 จังหวัดพิจิตร ในฐานะประธานกรรมการบริษัท ธนกรบรรจงสรร จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าบริษัท ธนกรบรรจงสรร จำกัด เป็นบริษัทที่เกิดจากการร่วมทุนของผู้ประกอบการโรงสีข้าว 3 โรง ประกอบด้วย โรงสีร่วมเจริญ 2 โรงสีธนกร999 และโรงสีสรรรวมผล เพื่อดำเนินธุรกิจโรงสีข้าวนึ่ง ขนาดกำลังผลิต 1,200 ตันต่อวันข้าวเปลือก มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท ใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 560 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้างอาคารและติดตั้งเครื่องจักรราว 500 ล้านบาท ค่าซื้อที่ดินและพัฒนาที่ดินพื้นที่ 230 ไร่ มูลค่า 60 ล้านบาท ขณะนี้โรงสีก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มเดินเครื่องผลิตแล้วเมื่อต้นปีนี้
"โรงสีธนกรบรรจงสรร ตั้งอยู่บนพื้นที่ 230 ไร่ ตำบล เนินปอ อำเภอ สามง่าม จังหวัดพิจิตร ขนาดกำลังผลิต 1,200 ตันต่อวัน นับได้ว่าเป็นโรงสีข้าวนึ่งขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีโรงสีข้าวนึ่งกำลังผลิตมากขนาดนี้ไม่กี่โรง สาเหตุที่ผู้ประกอบการโรงสีทั้ง 3 ราย ลงทุนร่วมกันสร้างโรงสีข้าวนึ่ง เพราะว่าตลาดข้าวนึ่งยังมีการเติบโตดี และเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันตามกลไกตลาดมากที่สุด ส่วนสาเหตุที่เลือกทำเลที่ตั้งจังหวัดพิจิตรนั้น เนื่องจากพื้นที่แถบนี้ยังไม่มีโรงสีข้าวนึ่งรองรับ โดยโรงสีธนกรบรรจงสรรมีเป้าหมายรองรับผลผลิตข้าวพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างได้แก่จังหวัดกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์"นายบรรจงกล่าวและว่า
ประกอบกับผู้ร่วมทุนคือโรงสีธนกร999 ปัจจุบันเป็นโรงสีข้าวนึ่งขนาดใหญ่ กำลังผลิต 1,200 ตันต่อวัน ตั้งอยู่ที่จังหวัดชัยนาท จึงมีประสบการณ์เรื่องของการทำตลาดข้าวนึ่งอยู่แล้ว ส่วนโรงสีร่วมเจริญ 2 จังหวัดพิจิตร แม้จะทำธุรกิจโรงสีข้าวขาว แต่มีประสบการณ์ทำธุรกิจโรงสีมายาวนาน ปัจจุบันมีกำลังผลิต 450 ตันต่อวัน นอกจากสีข้าวป้อนให้กับผู้ส่งออกแล้ว ยังได้ผลิตข้าวถุงตราลูกโลกคู่ จำหน่ายผ่านยี่ปั๊ว ซาปั๊ว เช่นเดียวกับโรงสีสรรรวมผล ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดชัยนาทเป็นโรงสีข้าวขาวขนาดใหญ่มีประสบการณ์ธุรกิจโรงสีมายาวนาน
นายบรรจง กล่าวว่าปัจจุบันโรงสีข้าวนึ่งมีประมาณ 200 โรง จากจำนวนโรงสีข้าวทั่วประเทศที่สีข้าวเชิงพาณิชย์อย่างจริงจังประมาณ 1,000 โรง เพราะจำนวนโรงสีที่มีสถิติเป็นจำนวน 20,000 กว่าโรง ได้เลิกกิจการกันไปเกือบหมดแล้ว โดยเฉพาะที่มีกำลังผลิตต่ำกว่า 50 ตันต่อวัน เวลานี้แทบไม่มีการดำเนินกิจการ เพราะไม่สามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้
นายบรรจง ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการประกันรายได้สินค้าข้าวว่า รัฐบาลน่าจะมีการทบทวนจุดอ่อนจุดแข็ง เพราะโครงการประกันรายได้มีส่วนทำให้ราคาข้าวไทยต่ำ โดยเฉพาะเวลานี้หากเปรียบเทียบสินค้าเกษตรทุกชนิดล้วนแต่ราคาสูง แต่กลับพบว่า ราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก เพราะผู้ซื้อกดราคารับซื้อข้าวให้ต่ำลง แต่ชาวนาไม่เดือดร้อนเพราะรัฐบาลชดเชยประกันรายได้ ทำให้รัฐบาลต้องชดเชยเงินประกันรายได้สูง อย่างไรก็ดีราคาข้าวที่เกษตรกรได้รับหากเป็นไปตามกลไกตลาดน่าจะสูงกว่านี้
อนึ่ง ปริมาณการส่งออกข้าวนึ่งของไทย 4 ปีที่ผ่านมา มีการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จากปี 2550 ปริมาณการส่งออก 2,135,751 ตัน ปี 2551 เพิ่มเป็น 2,747,422 ตัน ปี 2552 ปริมาณ 2,866,005 ตัน และปี 2553 ปริมาณส่งออก 3,166,117 ตัน ขณะที่การส่งออกข้าวโดยรวมทุกชนิดปี 2550 ส่งออก 9,501,143 ตัน ปี 2551 ส่งออก 9,968,412 ตัน ปี 2552 ส่งออก 8,524,635 ตัน ปี 2553 ส่งออก 9,003,421 ตัน จะเห็นได้ว่าปี 2552 ปริมาณการส่งออกข้าวโดยรวมทุกชนิดลดลง แต่ปริมาณการส่งออกข้าวนึ่งเพิ่มขึ้น
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|