รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและปรับปรุงข้าวหอมมะลิพันธุ์ใหม่โดยเพิ่มคุณสมบัติเด่นคือ มีดัชนีน้ำตาลต่ำ ซึ่งการวิจัยในห้องปฏิบัติการเสร็จสิ้นแล้วหลังใช้เวลาทดลองกว่า 2 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมทดลองปลูกในพื้นที่ภาคกลางหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่าจะเริ่มปลูกได้ในปีหน้า โดยเริ่มนำร่องที่วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
รศ.ดร.อภิชาติกล่าวอีกว่า การพัฒนาและปรับปรุงข้าวหอมมะลิดังกล่าวเกิดขึ้นโดยมีแนวคิดจากความต้องการให้มีคุณสมบัติดี และขายได้ในราคาสูงเทียบเท่าข้าวบาสมาติ (Basmati rice) ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวหอมของอินเดีย เพื่อช่วยเพิ่มศักย ภาพการแข่งขันข้าวไทยในตลาดโลกได้ หลังจากที่ปล่อยให้ประเทศอื่นๆ พัฒนาสายพันธุ์ข้าวเลียนแบบข้าวหอมมะลิของไทยมาหลายปี
"เนื่องจากข้าวบาสมาติ ซึ่งเป็นข้าวหอมของอินเดีย มีจุดเด่นคือ ดูดซึมน้ำตาลต่ำกว่าข้าวหอมมะลิของไทย เราจึงได้นำข้าวหอมพันธุ์ปิ่นเกษตร เบอร์ 3 มาเป็นหลักในการปรับปรุงข้าวพันธุ์ใหม่ให้มีคุณสมบัติเหมือนข้าวบาสมาติ แต่ไม่มีการนำข้าวบาสมาติมาปรับปรุง เราศึกษาโครงสร้างของยีนแป้งที่ทำให้มีดัชนีน้ำตาลต่ำเพื่อทำให้เหมือนกัน อีกทั้งยังสามารถปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมให้สามารถต้านทานโรค แมลงเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและทนน้ำท่วมฉับพลันอีกด้วย" รศ.ดร.อภิชาติเผย
รศ.ดร.อภิชาติได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จำนวน 41 ล้านบาท ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิให้เมล็ดมีความยืดตัวสูงขึ้นเมื่อหุงต้ม และมีดัชนีน้ำตาลต่ำ เพื่อให้เหมาะแก่ผู้บริโภคที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่ระมัดระวังเรื่องน้ำตาล และสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงเช่นเดียวกับข้าวบาสมาติของอินเดีย
"เราไม่ได้ต้องการพัฒนาพันธุ์ใหม่เพื่อเป็นคู่แข่งของข้าวหอมมะลิเดิมของเรา แต่ต้องการทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไป เพื่อเป็นการเสริมตลาดข้าวหอมมะลิที่มีอยู่เดิมให้เป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากขึ้น โดยคาดว่าสัดส่วนการตลาดข้าวหอมพันธุ์ใหม่ดัชนีน้ำตาลต่ำจะมีการบริโภคภายในประเทศประมาณ 50% และมีการส่งออกไปยังประเทศแถบตะวันออกกลางอีก 50%" รศ.ดร.อภิชาติกล่าว และว่า ข้าวพันธุ์ใหม่นี้เป็นข้าวแข็ง ไม่นุ่มเหมือนข้าวหอมมะลิ เมื่อนำมาหุงจะขึ้นหม้อ เหมาะเป็นข้าวราดแกง และใช้ทำแป้งอุตสาหกรรม เส้นก๋วยเตี๋ยวเพื่อสุขภาพ และเส้นสปาเกตตีส่งขายยุโรป
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่นาข้าวในภาคกลาง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวแนะนำว่า ก่อนที่ชาวนาจะลงมือปลูกข้าวชนิดใดก็ควรศึกษาคุณสมบัติพันธุ์ข้าวให้ดีก่อน ตนคิดว่าจะต้องปลูกข้าวนาปี ไม่ควรปลูกข้าวนาปรัง และเลือกข้าวทนน้ำท่วมโดยเริ่มปลูกในเดือนสิงหาคม เก็บเกี่ยวเดือนธันวาคม ก็จะทำให้ได้ผลผลิตข้าวมากขึ้น
ที่มา ไทยโพสต์
|