www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

อ.ต.ก.ของบซื้อหอมมะลินาปรัง


นายกมลวิศว์ แก้วแฝก กรรมการ รักษาการผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าได้รับการติดต่อจากกรมการค้าภายใน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ให้ อ.ต.ก. เป็นหน่วยงานตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลินาปรังจำนวน 40,000 ตัน ในราคาเดียวกับราคารับจำนำข้าวหอมมะลินาปี  คือตันละ 20,000 บาท โดยข้าวที่ตั้งโต๊ะซื้อให้อ.ต.ก.นำมาสีแปรเป็นข้าวสารบรรจุถุงขนาดถุงละ 5 กิโลกรัม จำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรดต่างๆ  เหตุที่กขช.ไม่รับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลินาปรัง เพราะมีปลูกจำนวนไม่มากในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ หากนำมาเข้าโครงการจำนำจะเป็นจุดอ่อนข้าวหอมมะลิไทยในตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันมีจุดแข็งคือปลูกได้เพียงปีละครั้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือที่รู้จักกันดีคือทุ่งกุลาร้องไห้
 
ทั้งนี้ข้าวเปลือกหอมมะลิปริมาณ 40,000 ตัน หากนำมาสีแปรจะได้ข้าวสารประมาณ 25,000 ตัน หรือ 5,000,000 ถุง ราคาที่จำหน่ายจะเป็นไปตามกลไกตลาด ไม่ดัมพ์หรือขายแข่งกับเอกชน และเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อราคาข้าวถุงในท้องตลาดอย่างแน่นอน เพราะปริมาณข้าวไม่มาก
 
นายกมลวิศว์ กล่าวต่ออีกว่า เร็วๆ นี้จะเสนอของบประมาณดำเนินการ ต่อคณะกรรมการกขช. ซึ่งคาดว่าจะใช้งบสำหรับรับซื้อข้าวราว 800 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการประมาณ 2 ล้านบาท (ตันละ 50 บาทเท่ากับโครงการรับจำนำ) เมื่อนำมาสีแปรและจำหน่ายหมดแล้ว รายได้จากการจำหน่ายข้าวหอมมะลิบรรจุถุง ก็จะคืนรัฐบาลโดยอ.ต.ก.จะได้รับค่าบริหารจัดการเท่านั้น  นับได้ว่าเป็นการระบายข้าวอีกวิธีหนึ่งที่ไม่กระทบตลาดส่งออก
 
นอกจากนี้เขายังกล่าวเพิ่มเติมถึงความพร้อมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปีการผลิต 2555 ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม - 15 กันยายน 2555ว่า ทาง อ.ต.ก. มีความพร้อมแล้ว เพราะเป็นนโยบายต่อเนื่องจากโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 หลักเกณฑ์ต่างๆ ยังเหมือนเดิม แต่เพื่อเป็นการป้องกันการสวมสิทธิ์ จึงเพิ่มความเข้มงวดในด้านปริมาณรับจำนำ ซึ่งหากชาวนานำข้าวมาจำนำเกินกว่า 20 % ของผลผลิตเฉลี่ยของจังหวัดก็จะมีการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น
 
สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 ในส่วนของ อ.ต.ก. มีโรงสีเข้าร่วมโครงการ จำนวน 252 โรง  ใน 38 จังหวัด มีโกดังกลาง 76 แห่ง 18 จังหวัด มีจำนวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 343,231 ราย มีข้าวเปลือกเข้าโครงการรวมทุกชนิด  จำนวน 1,798,566 ตัน  ปัจจุบันกำลังคัดเลือกโรงสี เพื่อเข้าร่วมโครงการนาปรัง หากเคยร่วมโครงการนาปีแล้ว สามารถแจ้งความจำนงได้ทันทีโดยไม่ตรวจ สามารถนำเงินมาวางเงินค้ำประกันในวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อรับจำนำได้ทันทีในวันที่ 1 มีนาคม 2555 ส่วนโรงสีใหม่ ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการจะต้องมีการตรวจสอบว่าได้มาตรฐานตรงตามนโยบายกขช.หรือไม่ เช่น  มีกล้องโทรทัศน์วงจรปิด เป็นต้น 
 
พ.ต.ต.สราวุฒิ สกุลมีฤทธิ์ ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.)กล่าวถึงความพร้อมรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังว่า อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครโรงสีเข้าร่วมโครงการ ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ มีโรงสีเข้าร่วมโครงการแล้ว 378 แห่ง ในพื้นที่ 43 จังหวัด สาเหตุที่โรงสีเข้าร่วมจำนวนน้อย เพราะปัจจุบันโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปียังไม่สิ้นสุด ขณะเดียวกันนาปรังจะมีเฉพาะภาคเหนือตอนล่างกับภาคกลางเท่านั้น เพราะภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีข้าวนาปรัง
 
ขณะที่นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงความคืบหน้าการขึ้นทะเบียนเกษตรกรนาปรังทั่วประเทศ  ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 มีเกษตรกรได้มาลงทะเบียน จำนวน 343,786 ครัวเรือน  พื้นที่จำนวน  7.698 ล้านไร่   ขณะนี้กำลังทยอยการทำประชาคม และคาดการณ์ว่าข้าวนาปรังปี 2555 จะมีข้าวเข้าร่วมโครงการจำนวน 11.11 ล้านตัน ทั้งนี้เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องเริ่มปลูกตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน และเริ่มเก็บเกี่ยวในวันที่ 1-29 กุมภาพันธ์  2555 ซึ่งเป็นช่วงผลผลิตข้าวนาปรังตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนด โดยให้องค์การสินค้า กระทรวงพาณิชย์ และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รับฝากข้าวเปลือก และออกใบประทวนให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ
 
ด้าน พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบกลั่นกรองเรื่องการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของวุฒิสภา  ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)ได้พิจารณาให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 นั้น ทางรัฐบาลได้ให้กรมส่งเสริมการเกษตรขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2555 และให้เริ่มรับจำนำข้าวนาปรังในวันที่  1 มีนาคม 2555 ว่า 1.ทำไมไม่ให้เป็นข้าวนาปี ทั้งๆ ที่โครงการยังไม่สิ้นสุด  2.การเก็บข้าวไว้กับโรงสี หวั่นโรงสีนำข้าวคุณภาพไม่ดีมาผสม หรือสวมสิทธิ์แทน  พิจารณาแล้วเป็นการส่อให้เกิดช่องว่างทุจริตได้ และจะทำให้รัฐเสียค่าโง่ โดยผลประโยชน์ตกอยู่ในมือโรงสีมากกว่าเกษตรกร

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

TREA on Facebook


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2010 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.