ุ
นายวัลลภ พิชญ์พงศ์ศา รองกรรมการผู้จัดการบริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด เปิดเผยถึงสถานการณ์ส่งออกข้าวว่า โดยภาพรวมปีนี้ไม่ค่อยสดใสสาเหตุเพราะนโยบายรับจำนำราคาสูงของรัฐบาลและประเทศอินเดียเปิดตลาดส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติซึ่งหมายถึงข้าวขาวและข้าวนึ่งหลังจากที่ระงับส่งออกมาระยะหนึ่งประกอบกับข้าวอินเดียราคาถูกกว่าข้าวไทย ทำให้ปลายปีที่ผ่านมาถึงต้นปีนี้ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวนึ่ง
อย่างไรก็ดีจากการที่ประเทศไนจีเรียได้ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าข้าว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 สำหรับข้าวกล้องเดิมภาษีนำเข้า (ภาษีศุลกากรบวกค่าธรรมเนียม) อยู่ที่ร้อยละ 5 ปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ข้าวสารทุกชนิด ภาษีนำเข้าจากร้อยละ 33 เป็นร้อยละ 53 นอกจากนี้ปลายปีนี้อาจมีการปรับค่าธรรมเนียมการนำเข้าจากปัจจุบันค่าธรรมเนียมการนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 25-40 ขึ้นอีกเท่าตัว คาดว่าประเทศไทยจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายดังกล่าว
"คิดว่าช่วงครึ่งแรกของปีนี้ก่อนที่การปรับขึ้นภาษีนำเข้าข้าวของไนจีเรียมีผลบังคับใช้ จะทำให้ผู้นำเข้าข้าวของไนจีเรียเร่งนำเข้า เพราะหากนำเข้าหลังขึ้นภาษีสินค้าที่จะนำไปขายปลีกในประเทศมีราคาแพงผู้บริโภคไม่สามารถรับภาระที่เพิ่มขึ้นได้ คนที่เร่งนำเข้าไปสต๊อกไว้ก่อนจะมีความได้เปรียบ และเชื่อว่าช่วงเวลาสั้นๆ อินเดียไม่สามารถส่งมอบข้าวให้กับไนจีเรียได้ทัน เพราะอินเดียยังมีปัญหาระบบการส่งมอบ ประเทศไทยน่าจะได้รับอานิสงส์"
นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าประเทศไทยน่าจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลไนจีเรีย ซึ่งเวลานี้เริ่มมีความเคลื่อนไหวคำสั่งซื้อข้าวเข้ามาบ้างแต่ไม่มาก แต่สถานการณ์โดยรวมดีกว่าปลายปีที่ผ่านมา โดยมีคำสั่งซื้อจากประเทศตะวันออกกลางเข้ามา สำหรับประเทศอินเดียหากราคาข้าวไทยกับข้าวอินเดียมีความแตกต่างกันไม่มากตันละ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐฯ เชื่อว่าผู้ซื้อจะเลือกซื้อจากประเทศไทยมากกว่าเพราะมีความพร้อมด้านระบบการส่งมอบที่ดีกว่า
ข้อมูลสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รายงานว่าช่วงปี 2551-กลางปี 2554 ประเทศอินเดียได้ระงับการส่งออกข้าวนึ่ง ทำให้ประเทศไทยส่งออกข้าวนึ่งได้ปริมาณมากกว่าข้าวขาว กล่าวคือปี 2551 ส่งออกข้าวนึ่งได้ 2,752,668 ตัน ปี2552 ส่งออกได้ 2,876,986 ตัน ปี 2553 ส่งออกได้ 3,169,732 ตัน ปี 2554 ส่งออกได้ 3,431,770 ตัน แต่หลังจากที่อินเดียมีนโยบายส่งออกข้าวเสรีตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554ถึงมีนาคม 2555 การส่งออกข้าวนึ่งของไทยเริ่มลดลงเห็นได้จากเดือนพฤศจิกายน 2554 ส่งออกได้เพียง 60,236 ตัน ธันวาคม 2554 ส่งออก 78,658 ตัน จากช่วงปี 2551- 9 เดือนแรกปี 2554 ไทยส่งออกข้าวนึ่งเฉลี่ยเดือนละ 300,000 ตันเศษ
สำหรับปริมาณการส่งออกข้าวไทยปี 2555 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-7กุมภาพันธ์ ส่งออกได้ 511,359 ตัน เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาซึ่งส่งออกได้ 1,141,599 ตัน ลดลงถึงร้อยละ 55.21
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)มีมติให้เปิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปีการผลิต 2555 เริ่มวันที่ 1 มีนาคมถึงวันที่ 15 กันยายน 2555 หลังจากที่โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปีการผลิต 2554/55 จะสิ้นสุดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 โดยกำหนดราคารับจำนำเท่าเดิม อาทิข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท แต่ได้มีการปรับหลักเกณฑ์ให้มีความรัดกุมขึ้นคือเกษตรกรสามารถนำข้าวเปลือกมาจำนำได้ครัวเรือนละไม่เกิน 500,000 บาท คาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังจะมีประมาณ 6-7 ล้านตัน
นายบุญทรง กล่าวเพิ่มเติมว่าได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกรมการค้าภายในศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำข้าวเปลือกหอมมะลินอกฤดูกาลหรือข้าวหอมมะลินาปรัง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกประมาณ 40,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 20,000 ตัน โดยให้ศึกษาว่าข้าวหอมมะลินอกฤดูกาลมีคุณสมบัติเทียบเท่าข้าวหอมมะลิที่ปลูกในฤดูปกติหรือไม่ หากคุณสมบัติเท่าเทียมกันจะจำนำตันละ 20,000 บาท หากไม่เท่าราคาต้องลดลง
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|