www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

เสนอดึงประกันรายได้ควบจำนำ


นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผย สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยปี 2555 ว่า คาดว่าไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้เพียง 8 ล้านตัน  ลดลงจากปี 2554 ที่มีการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 10.5 ล้านตัน ภายใต้สมมติฐาน 1. รัฐบาลอินเดียอนุญาตให้ส่งออกข้าวนึ่งเพียง 2 ล้านตัน และมีการส่งมอบแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปีนี้   2. รัฐบาลทำสัญญาขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี)สำเร็จ แต่ทั้งนี้หากอินเดียส่งออกมากกว่า 2 ล้านตัน จะทำให้การส่งออกข้าวของไทยลดลงเหลือเพียง 6.5 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเสียแชมป์การส่งออกข้าวให้กับประเทศเวียดนามเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นผลจากโครงการรับจำนำข้าว ที่ทำให้ราคาข้าวไทยสูงที่สุดในโลกไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้
 
"รัฐบาลได้ตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิสูงถึงตันละ 20,000 บาท และข้าวเปลือกเจ้า 100 % ที่ 15,000 บาท ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างราคาข้าวไทยและประเทศคู่แข่งมีมากยิ่งขึ้น อาทิ ข้าวขาว 5%.  ของอินเดีย  เสนอขายที่ (เอฟโอบี) 435 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ข้าวขาว 5%. ของไทย เสนอขายที่ (เอฟโอบี) 533 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่วนข้าวนึ่งอินเดียเสนอขายที่ (เอฟโอบี) 450 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน  ขณะที่ข้าวนึ่งไทยเสนอขายที่ (เอฟโอบี) 533 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน"
 
ส่วนตลาดข้าวหอมมะลิ ขณะนี้ประเทศเวียดนามได้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมของตนเองซึ่งมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับจากลูกค้า โดยเฉพาะตลาดประจำของไทย  เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน เป็นต้น ในขณะที่ราคาต่ำกว่าไทยมาก ปัจจุบันข้าวหอม 5% ฤดูใหม่ของเวียดนามราคาอยู่ที่ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่วนข้าวหอมมะลิ  100% ราคาอยู่ที่ 950-1,050 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จะเห็นได้ว่าต่างกันถึงตันละ 350-450 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันทำให้เวียดนามสามารถแย่งตลาดข้าวหอมมะลิของไทยได้เพิ่มขึ้นและนับวันก็จะขยายกว้างขึ้น
 
ปีนี้ประเทศเวียดนามประกาศผลักดันการส่งออกข้าวนึ่ง  400,000 ตัน และข้าวหอมปีละ 800,000 ตัน นอกจากนี้การแข่งขันในตลาดยังรุนแรงมากขึ้นจากการที่ประเทศกัมพูชาประกาศนโยบายส่งออกข้าวให้ได้ 1 ล้านตันภายในปี 2558  ส่วนพม่า เริ่มผลิตข้าวนึ่งและมีการส่งออกไปยังรัสเซียแล้ว , ด้าน บราซิล อุรุกวัย ตั้งเป้าขยายตลาดข้าวในแอฟริกา ,และปากีสถานตั้งเป้าส่งออกเพิ่มขึ้นหลังผลผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นต้น"
 
นางสาวกอบสุข กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงเกษตรฯของสหรัฐอเมริกา คาดว่าปริมาณการค้าข้าวโลกจะลดลงจาก 34.78 ล้านตัน ข้าวสารในปี 2554 เหลือเพียง 31.88 ล้านตัน ข้าวสาร โดยคาดว่าประเทศไทยจะส่งออกข้าวลดลงเหลือเพียง 7 ล้านตัน จากปี 2554 ที่มีปริมาณส่งออกสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 10.5 ล้านตัน  เนื่องจากประเทศอินเดียเริ่มกลับมาส่งออกอีกครั้ง หลังจากที่รัฐบาลห้ามส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ รวมถึงข้าวนึ่ง มาตั้งแต่ต้นปี 2551 โดยกลับมาเป็นคู่แข่งของไทยทั้งตลาดข้าวนึ่งและข้าวขาว จะส่งผลทำให้ผู้ส่งออกข้าวไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นยังส่งผลถึงเวียดนามด้วยเช่นกัน
 
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย  กล่าวว่า ประเทศไทยแม้จะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 แต่มีผลผลิตข้าวเพียง 7% จากผลผลิตข้าวทั่วโลก 460 ล้านตัน เพราะฉะนั้นอำนาจการต่อรองไม่เหมือนกับกลุ่มเอเปก ที่จะสามารถกำหนดราคาขายเองได้ เพราะผู้ผลิตส่วนใหญ่ คือปลูกเอง กินเองจำนวนมาก เพราะถ้าหากราคาสูงขึ้น ประเทศเหล่านี้จะเพิ่มการปลูกและลดการนำเข้า และในขณะเดียวกันยังมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อีกมากมายเป็นตัวกำหนดราคา อาทิ ภัยธรรมชาติ คู่แข่งขันในตลาด อัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น
 
"ทางสมาคมอยากให้รัฐบาลจำกัดปริมาณข้าวเปลือกโครงการรับจำนำ ส่วนข้าวที่เหลือให้นำโครงการประกันรายได้มาใช้ควบคู่เพื่อให้กลไกตลาดไม่บิดเบือนจนเกินไปนัก แต่ถ้าหากรัฐบาลเดินหน้าต่อโครงการรับจำนำข้าว จะมีผลทำให้ประเทศผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวจากแหล่งที่ราคาถูกกว่า จะทำให้ไทยมีโอกาสเสียตลาดไปแบบถาวร"

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

TREA on Facebook


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2010 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.