ุ
นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงนโยบายรับจำนำข้าวว่า เสนอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายรับจำนำข้าวในราคาสูงใหม่ เพราะเป้าหมายที่จะทำให้ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้นตันละ 15,000 บาท และราคาส่งออกรวมต้นทุนตันละ 800 เหรียญสหรัฐฯ แต่หลังดำเนินนโยบายเกือบ 4 เดือน ราคาข้าวเปลือกและราคาส่งออกยังไม่เข้าเป้าหมาย โดยราคาข้าวเปลือกตันละ 12,000 บาทเท่านั้น ราคาส่งออกตันละกว่า 500 เหรียญฯ นอกจากนั้น รัฐบาลยังแบกภาระขาดทุนอีก เพราะระบายข้าวออกจากสต๊อกไม่ได้ เกรงจะฉุดราคาในประเทศตกต่ำ ขณะที่ผู้ส่งออกก็ส่งออกยาก เพราะราคาสูงกว่าคู่แข่ง
“มีทางเดียวที่รัฐจะขายข้าวได้ราคาสูง คือ เกิดภัยพิบัติ และผลผลิตข้าวโลกเสียหายเหมือนปี 51 ที่ราคาข้าวโลกทะยานถึงตันละ 1,000 เหรียญฯ แต่วันนี้ข้าวเปลือกนอกโครงการตันละ 8,000 บาทเท่านั้น รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายว่าจะช่วยชาวนา หรือรักษาการส่งออก ผมไม่อยากให้คิดว่าพรรคเพื่อไทยจะนำนโยบายพรรคการเมืองอื่นมาใช้ไม่ได้ หากนักการเมืองไม่คิดถึงวิธีแสวงหาเงินมาหล่อเลี้ยงทางการเมือง ทุกคนก็เห็นว่าการรับจำนำมีแต่ข้อเสีย”
ด้านนายปราโมทย์ วานิชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า การตั้งราคารับจำนำข้าวสูง ทำให้คำสั่งซื้อจากต่างประเทศหายไปถึง 70% ผู้ส่งออกไทยต้องซื้อข้าวจากปากีสถาน และพม่าที่ราคาถูกมาส่งออก เพื่อรักษาลูกค้า “ปลัดกระทรวงพาณิชย์บอกข้าวไทยตันละ 610 เหรียญฯ ทั้งที่เป็นราคาเสนอซื้อขายกดดันกันในตลาด แต่ซื้อขายกันจริงหรือไม่ไม่ทราบ ขณะที่เวียดนาม ถูกกว่าตันละ 50 เหรียญฯ แต่ขายหมด ปีที่แล้วทำสถิติส่งออกข้าวได้มากถึง 7 ล้านตัน”
นอกจากนี้ ในโครงการยังมีทุจริตมากมาย เช่น โรงสีหลายรายจ่ายเงินใต้โต๊ะนับล้านบาท เพื่อให้ได้รับจำนำข้ามเขต ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกข้าวในปี 55 ที่ 9-10 ล้านตัน เป็นการตั้งเป้าที่ผิด เพราะปี 54 ที่ไทยส่งออกได้กว่า 10 ล้านตัน ไม่ใช่ข้าวใหม่ แต่กว่า 4 ล้านตันมาจากการระบายในสต๊อกรัฐราคาถูกตันละประมาณ 400 เหรียญฯ ทำให้รัฐขาดทุนจำนวนมาก
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
|