ุ
ข้าวไทยเจอศึกหนัก ไตรมาสแรกส่งออกได้แค่ 1.6 ล้านตัน หายไปกว่า1.4 ล้านตัน หรือ 45% ทำเงินได้แค่ 3.3 หมื่นล้านบาท หรือหายไปกว่า? 1.87 หมื่นล้านบาท โดยมีไนจีเรียสั่งซื้อสูงสุด อีกทั้งข้าวขาวไทยยังแข่งขันลำบากเหตุราคาสูงกว่าคู่แข่ง ลูกค้าเมินหันไปสั่งซื้อจากอินเดีย ปากีสถาน และเวียดนามแทน
สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยสรุปสถานการณ์การส่งออกข้าวในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-มีนาคม2555) มีปริมาณทั้งสิ้น 1.6 ล้านตัน มูลค่า 33,667 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 ที่มีปริมาณ 3.0 ล้านตัน มูลค่า 52,370 ล้านบาท ลดลงในด้านปริมาณ 45% หรือลดลง? 1.4 ล้านตัน และ 35% ในด้านของมูลค่าหรือลดลงกว่า 18,703 ล้านบาท ทั้งนี้ ข้าวที่ส่งออกมีราคาเฉลี่ย 671 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปี 2554
โดยประเทศผู้นำเข้าข้าวไทย 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 1. ไนจีเรีย ปริมาณ 271,517 ตัน 2. อินโดนีเซีย ปริมาณ 258,795 ตัน3. สิงคโปร์ ปริมาณ 112,152 ตัน4. แอฟริกาใต้ ปริมาณ 76,673 ตัน5. ญี่ปุ่น ปริมาณ 70,383 ตัน
สถานการณ์ส่งออกในช่วงนี้มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากประเทศไนจีเรียได้ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าข้าวในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยข้าวสาร หรือข้าวขัดสี (Polished or milled rice)จะปรับอัตราภาษีนำเข้าขึ้นเป็น 53% จากเดิม 33% ของราคาอ้างอิง (Benchmark price) ซึ่งปัจจุบันประกาศไว้ที่ 600 เหรียญสหรัฐต่อตัน จึงทำให้ผู้นำเข้าข้าวของไนจีเรียต้องเร่งนำเข้ามากขึ้น ส่งผลให้ผู้ส่งออกของอินเดียประสบปัญหาด้านการส่งมอบไม่ทันเวลา ผู้ซื้อข้าวนึ่งบางส่วนจึงหันกลับมานำเข้าข้าวนึ่งจากไทย โดยจะเห็นได้จากนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์มาจนถึงเดือนมีนาคม ประเทศไนจีเรียได้นำเข้าข้าวนึ่งจากไทยจำนวน 47,894 ตัน และ 195,153 ตัน ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการส่งออกข้าวขาวนั้น ยังคงมีปริมาณลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีการส่งออกเดือนละกว่า 400,000 ตัน ทั้งนี้เนื่องจากราคาข้าวของไทยยังคงสูงกว่าคู่แข่งมาก ทำให้ผู้ซื้อส่วนใหญ่หันไปซื้อจากอินเดียปากีสถาน รวมถึงเวียดนาม ซึ่งเสนอราคาขายต่ำกว่าไทยมากยกตัวอย่างเช่น ข้าวขาว 5% ของอินเดีย เสนอขายที่ 430-440 เหรียญสหรัฐต่อตัน (เอฟโอบี) ปากีสถาน เสนอขายที่ 470-480 เหรียญสหรัฐต่อตัน (เอฟโอบี) และเวียดนาม เสนอขายที่ 425-435 เหรียญสหรัฐต่อตัน (เอฟโอบี) ขณะที่ข้าวขาว 100%ชั้น 2ของไทยเสนอขายที่ 566 เหรียญสหรัฐต่อตัน (เอฟโอบี)
ในเดือนเมษายน 2555 นี้ คาดว่าจะมีการส่งออกประมาณ 600,000 ตัน เนื่องจากในช่วงนี้ผู้ส่งออกต้องเร่งส่งมอบข้าวนึ่งให้กับไนจีเรียตามสัญญาที่ค้างอยู่เพื่อให้ทันเวลาที่รัฐบาลไนจีเรียจะขึ้นภาษีนำเข้าข้าวในเดือนกรกฎาคมนี้ นอกจากนี้ ผู้ส่งออกยังคงมีสัญญาค้างส่งมอบข้าวขาวให้ประเทศอิรักตามที่ประมูลได้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามสมาคมฯ คาดการณ์ว่าหลังจากเดือนเมษายน ปริมาณส่งออกอาจจะลดลงเหลือประมาณเดือนละ 500,000 ตัน เนื่องจากคาดว่าการส่งออกข้าวนึ่งจะเริ่มชะลอตัวลง
โดยก่อนหน้านี้น.ส.กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การที่ส่งออกข้าวไทยลดลงเนื่องจากรัฐบาลอินเดียซึ่งเป็นคู่แข่งตลาดข้าวนึ่งและข้าวขาว อนุญาตให้เอกชนส่งออกได้เพิ่มจาก 2 ล้านตัน เป็น 4 ล้านตัน และการแข่งขันลดราคาเพื่อแย่งตลาดส่งออกระหว่างอินเดียและเวียดนามที่รุนแรง ขึ้น ?อีกทั้งข้าวไทยขายในราคาสูงเพราะได้รับผลกระทบจากโครงการรับจำนำของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังมีหลายประเทศเข้ามาเป็นคู่แข่งเพิ่มอีกมาก ทั้งพม่า กัมพูชา เป็นต้น ส่วนคู่แข่งเดิม อย่างเวียดนาม อินเดีย สหรัฐ ประกาศจะเพิ่มปริมาณส่งออกอีกเท่าตัว
ขณะเดียวกันสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกมาเปิดเผยว่า พม่าตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวระหว่างปี 2555-2556 เป็น 1 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงปี 2554-2555 ที่ส่งออก 844,200 ตัน คิดเป็นรายได้ 324 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10,000 ล้านบาท) ทั้งนี้ สถิติการส่งออกย้อนหลังในปี 2553-2554 อยู่ที่ 536,800 ตัน
แนวโน้มการเติบโตด้านการส่งออกของพม่า อาจทำให้พม่ากลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดอีกครั้ง เช่นเดียวกับช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ส่งออกปีละถึง 3 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม พม่ากำลังอยู่ระหว่างการจัดหาผู้ร่วมลงทุนและศึกษาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการส่งออกข้าว เบื้องต้นได้ขอความช่วยเหลือจากบังคลาเทศในการเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่เพาะปลูกแล้วนอกจากการวางเป้าส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นแล้ว พม่ายังขยายระยะเวลายกเว้นภาษีส่งออกสินค้าเกษตรไปจนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2555นี้ สำหรับข้าว ถั่ว งา ยางพารา และผลิตภัณฑ์ประมงทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม
ที่มา หนังสือพิมพ์แนวหน้า
|