ุ
พ.ต.ต.ศราวุธ สกุลมีฤทธิ์ ผู้อำนวยการ องค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่า จากการที่ตนได้เดินทางไปพบกับผู้บริหารระดับสูงขององค์กรสำรองข้าวประเทศอินโดนีเซีย (บลูล็อก) ซึ่งทางบลูล็อกได้แสดงความสนใจที่สั่งซื้อข้าวจากประเทศไทย เนื่องจากภายในประเทศอินโดนีเซีย มีความต้องการบริโภคข้าวอีกจำนวนมาก และแม้ที่ผ่านมาทางประเทศอินโดนีเซียจะซื้อข้าวจากประเทศเวียดนามและอินเดีย แต่ทั้ง 2 ประเทศดังกล่าวมีปัญหาด้านการขนส่ง ทำให้ไม่สามารถส่งมอบข้าวได้ทันตามกำหนด ขณะที่ประเทศไทยไม่มีปัญหาเรื่องการส่งมอบ ทางประเทศอินโดนีเซียจึงสนใจซื้อข้าวจากประเทศไทย แม้จะมีราคาสูงกว่าก็ตาม
"นับว่าเป็นข่าวดีของไทยในการขายข้าว และเป็นความได้เปรียบที่ไทยมีระบบโลจิสติกส์ ที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทาง บลูล็อกยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสั่งซื้อข้าวจากไทยเป็นปริมาณเท่าไหร่ แต่ที่ผ่านมาอินโดนีเซียได้สั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศ เป็นหลักไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านตัน เพราะต้องใช้ ทั้งการบริโภคในครัวเรือนและใช้แจกตามประเพณีทางศาสนา"พ.ต.ต.ศราวุธ กล่าว
นอกจากนี้ ตนยังได้หารือร่วมกับ ผู้บริหารห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ของทางประเทศ อินโดนีเซีย คือ "เดอะ ฟู้ด ฮอลล์" ซึ่งมีสาขา อยู่ทั่วประเทศ โดยห้างค้าปลีกดังกล่าวมีความสนใจสั่งนำเข้าข้าวหอมมะลิบรรจุถุงจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เพื่อวางจำหน่ายภายในห้าง โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักเป็นระดับบนหรือพรีเมียม เนื่องจากข้าวหอมมะลิของประเทศไทยมีคุณภาพดีเป็นที่นิยมของลูกค้าในกลุ่มดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทางรัฐบาลอินโดนีเซีย ยังไม่อนุญาตให้นำเข้าข้าวหอมมะลิ เพราะต้องการปกป้องเกษตรกรภายในประเทศ แต่หลังจากที่ อคส.พบว่ามีความต้องการซื้อสูง ตนจึงแจ้งไปยัง รมว.พาณิชย์ ให้รับทราบถึงเรื่องดังกล่าว เพื่อทำหนังสืออย่างเป็นทางการไปยังรัฐบาลอินโดนีเซีย ให้ยกเว้นการห้ามนำเข้าข้าวหอมมะลิบรรจุถุงของประเทศไทยเข้าไปทำตลาดในประเทศอินโดนีเซีย จากนั้นจะทำการหารือกันอย่างเป็นทางการในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลต่อไป
พ.ต.ต.ศราวุธกล่าวว่า อคส.ยังได้หารือ กับอธิบดีกรมการค้าของประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเสนอขายหอมแดงจากประเทศไทยที่ผลผลิตกำลังออกมาเป็นจำนวนมากในช่วงนี้ ซึ่งทางประเทศอินโดนีเซียรับปากว่าจะเร่งผู้นำเข้าให้มาดูผลผลิตในประเทศไทยภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ โดยราคาเสนอขาย จะต้องเป็นราคาที่ อคส.รับซื้อจากเกษตรกร ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 15 บาท บวกกับค่าบริหารจัดการ ส่วนปริมาณการสั่งซื้อจะเป็น เท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับการเจรจากันอีกครั้ง แต่ อคส.มีสินค้าพร้อมส่งมอบในทันทีอยแล้ว
โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการนโยบาย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้อนุมัติ งบประมาณให้ อคส.รับซื้อหอมแดงจาก เกษตรกรในราคา กก.ละ 15 บาท เพื่อช่วย ดันราคาหอมแดงที่ตกต่ำเหลือ กก.ละ 7-9 บาท ซึ่งเริ่มรับซื้อจากจังหวัดศรีสะเกษที่เป็นแหล่งปลูกหอมแดงมากที่สุด และขณะนี้ก็ทยอย เข้าไปซื้อในจังหวัดอื่นๆ ทั้งเพชรบูรณ์ เชียงใหม่ และลำพูน เป็นต้น ทำให้ขณะนี้ราคาหอมแดงขยับสูงขึ้นมาเป็น กก.ละ 13-15 บาทแล้ว ตามขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ อย่างไรก็ตามปริมาณผลผลิตทั่วประเทศคาดว่าจะมีกว่า 84,000 ตัน ทำให้ อคส.ต้องของบประมาณจาก คชก. เพื่อไปรับซื้อหอมแดงเพิ่มเติม อีกไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
ที่มา แนวหน้า
|