www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ราคาข้าวไทยจ่อร่วง 15% เทรดเดอร์ชี้เห็นผลเดือนก.ค.-เหตุอินเดียเร่งระบายสต๊อก


เทรดเดอร์คาดข้าวไทยร่วง 15% ในเดือนก.ค.นี้ จากผลผลิตข้าวเพิ่ม อินเดียระบายสต็อก หลังเพิ่มขึ้น 3 เท่า พาณิชย์ชี้อินเดียได้เปรียบจากต้นทุนต่ำ-ค่าเงินอ่อน คู่แข่งสำคัญส่งออกไทย เอกชนเผยโอกาสราคาขยับขึ้นมีน้อย

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวเปิดเผยว่าในสิ้นเดือนก.ค.นี้ ราคาข้าวไทยในตลาดโลกจะลดลง 15% จากระดับปัจจุบัน 611 ดอลลาร์/ตันเนื่องจากอินเดียจะเริ่มระบายสต็อกข้าวจากปริมาณที่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งจะส่งผลราคาในตลาดโลกลดลง

สำหรับราคาส่งออกข้าว ราคา FOB ของอินเดียยังอยู่ในระดับต่ำกว่าไทยโดยเฉลี่ยประมาณ 160-185 ดอลลาร์/ตัน และต่ำกว่าราคาส่งออกข้าวของเวียดนามอยู่เล็กน้อย เช่น ข้าวขาว 100% เกรดบีและข้าวขาวเมล็ดยาว 5% ราคา FOB ของไทยอยู่ที่ 605-610 ดอลลาร์/ตัน ในขณะที่ของอินเดียอยู่ที่ 420-425 ดอลลาร์/ตัน ซึ่งเป็นราคาต่ำที่สุด

ในขณะที่ราคาของเวียดนามใกล้เคียงกับราคาข้าวของอินเดียมาก แต่สูงกว่าเล็กน้อย คือ 420-430 ดอลลาร์/ตัน แต่ที่น่าจะส่งผลกระทบกับการส่งออกข้าวของไทยมาก คือ ข้าวนึ่ง ซึ่งราคา FOB ของไทยอยู่ที่ 600-610 ดอลลาร์/ตัน ในขณะที่อินเดียราคาเพียง 375-385 ดอลลาร์/ตัน ซึ่งถือว่าต่ำมาก ทำให้ราคาแตกต่างกันอย่างมากถึง 225 ดอลลาร์/ตัน

นอกจากนั้นข้าวที่ไทยจะถูกกระทบอย่างมาก ก็คือ ข้าว 25% ซึ่งราคาของไทยอยู่ที่ 510-515 ดอลลาร์/ตัน ในขณะที่ราคาข้าวชนิดเดียวกันของอินเดียอยู่ที่เพียง 350-360 ดอลลาร์/ตัน ซึ่งราคาแตกต่างกันถึง 160 ดอลลาร์/ตัน

ทั้งนี้ การแข่งขันในตลาดโลก ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยลดลง โดยในวันที่ 1-21 มิ.ย. 2555 มีปริมาณ 325,437 ตันข้าวสาร ลดลง 59.59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อรวมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-21 มิ.ย. 2555 มีปริมาณส่งออก 3.24 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 45.66%

ก่อนหน้านี้ สมาคมผู้ส่งออกไทยคาดว่าการส่งออกข้าวในปีนี้ มีปริมาณ 7 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 10.5 ล้านตันข้าวสารในปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่ส่งออกข้างสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสาเหตุส่งออกลดลงมาจากตลาดมีการแข่งขันรุนแรง จากอินเดียและเวียดนาม

เอกชนเผยเหลือแต่สต็อกข้าวรัฐ

ด้านนางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ทิศทางราคาข้าวจากนี้ไม่น่าจะมีความเคลื่อนไหวรุนแรงเพราะประเทศผู้ส่งออก ทั้งอินเดียและเวียดนามต้องการขายข้าวในขณะนี้ โดยการหารือกับผู้ส่งออกเวียดนามช่วงก่อนหน้านี้ได้แสดงความเป็นห่วงสต็อกข้าวของรัฐบาลไทยที่มีถึง 15 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 8 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งเท่ากับปริมาณส่งออกข้าวของไทยทั้งปี ทำให้สต็อกข้าวของไทยเป็นแรงกดดันไม่ให้ราคาปรับเพิ่มขึ้น และมีโอกาสที่ราคาจะลดต่ำลงไปหากไทยระบายสต็อกข้าว

เธอกล่าวว่า ขณะนี้ข้าวในท้องตลาดลดลงคือไม่มีข้าวในมือชาวนาแล้ว เช่นเดียวกับโรงสีที่น่าจะเหลือสต็อกน้อยมาก ส่วนผู้ส่งออกน่าจะเหลือเฉลี่ยรวมกันไม่เกิน 1 ล้านตัน โดยสต็อกข้าวส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาล

"ราคาข้าวน่าจะตกลงไปกว่านี้แต่ก็ไม่มาก แต่ถ้าจะขึ้นก็ไม่น่าจะขึ้นมากเช่นกันเพราะทุกคนทั้งอินเดียและเวียดนามต้องการขาย ไม่ได้ยินว่าคู่แข่งขายข้าวหมดแล้ว" นางสาวกอบสุขกล่าว

พาณิชย์ชี้อินเดียผลิตข้าวเพิ่ม

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครมุมไบ อินเดีย รายงานว่ารัฐบาลอินเดียได้ปรับเป้าหมายการผลิตข้าวสำหรับปีการผลิต 2555-2556 (ต.ค. 2555-ก.ย. 2556) ใหม่ จากที่เคยกำหนดไว้เดิม 103.41 ล้านตัน เป็น 104 ล้านตัน เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนด้านบวก โดยเฉพาะการนำข้าวพันธุ์ทาง (Hybrid Rice) มาปลูกมากขึ้นทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น และคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในเดือน มิ.ย.-ก.ย. 2555 อยู่ในระดับปกติ ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลผลิตข้าวในรัฐทางภาคตะวันออกของประเทศยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

การสำรองข้าวของรัฐบาลอินเดีย ในวันที่ 1 พ.ค. 2555 เกินกว่าสต็อกมาก โดยกระทรวงกิจการผู้บริโภค อาหารและการกระจายสู่สาธารณชน ได้มีการกำหนดมูลภัณฑ์กันชน (Buffer Stock) และสำรองเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร (Strategic Reserve) สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคา หรือแทรกแซงตลาดโดยกำหนดปริมาณขั้นต่ำที่ต้องรักษาไว้สำหรับข้าวทุกไตรมาสไม่ต่ำกว่า 11.8 ล้านตัน

เผยสต็อกข้าวอินเดียเกิน 3 เท่าตัว

รายงานระบุอีกว่า ปริมาณข้าวสำรองข้าวจริงของอินเดียมีปริมาณสูงถึง 32.92 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวในสต็อกปริมาณ 32.681 ล้านตันกับข้าวที่กำลังขนส่งมาเก็บในสต็อกอีก 0.242 ล้านตัน เกินกว่าที่กำหนดไว้เกือบ 3 เท่าตัวและมีแนวโน้มว่าปริมาณข้าวสำรองในช่วงเดือน พ.ค. 2555 อาจจะสะสมเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ประมาณการปริมาณสำรองข้าวจริงของอินเดีย ณ วันที่ 1 มิ.ย.อยู่ที่ 33.0 ล้านตัน ซึ่งรัฐบาลอินเดียอาจจะระบายข้าวออกสู่ตลาดโลกได้อีก ขึ้นอยู่กับอุปสงค์ในตลาดโลก

อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญที่ทำให้อินเดียมีขีดความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกข้าวก็คือ ราคารับซื้อจากเกษตรกรที่อยู่ในระดับต่ำกว่าไทยเกือบครึ่ง คือตันละ 7,500 บาท

ส่วนการส่งออกข้าวของอินเดียตั้งแต่รัฐบาลอนุญาตให้ส่งออกในเดือน ก.ย. 2554 ทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวของอินเดียเพิ่มตามลำดับ จนถึงเดือน พ.ค. 2555 ปรากฏว่าอินเดียส่งออกข้าวไปแล้วเป็นปริมาณ 6.805 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวบาสมาติ 2.20 ล้านตัน และไม่ใช่บาสมาติ 4.605 ล้านตัน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจากเดือน มิ.ย.-ส.ค. 2555 อินเดียจะสามารถส่งออกข้าวได้อีกในปริมาณ 2.4 ล้านตัน ทำให้คาดว่าอินเดียจะส่งออกได้ถึง 9 ล้านตัน

ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกข้าวที่สำคัญคือ ค่าเงินรูปีที่อ่อนลงจากประมาณ 49-50 รูปี/ดอลลาร์ เป็น 55.38 รูปี/ดอลลาร์ รวมทั้งปริมาณสำรองข้าวที่เกินจากรัฐบาลกำหนดเกือบ 3 เท่าตัวและราคารับซื้อจากเกษตรกรต่ำเพียง 7,500 บาทเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านอุปสงค์ในตลาดก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะเป็นตัวกำหนดการส่งออกข้าวของอินเดียด้วย

รายงานระบุว่า จากข้อมูลจะเห็นได้ว่ารัฐบาลอินเดียออกประกาศอนุญาตให้ส่งออกข้าวได้หลังจากที่ได้ประกาศห้ามส่งออกมาหลายปี ข้าวจากอินเดียโดยเฉพาะข้าวนึ่งและข้าว 25% ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทยค่อนข้างมาก ทั้งในด้านราคาและปริมาณ อินเดียจึงกลายเป็นคู่แข่งสำคัญที่ออกมาแข่งขันในตลาด

นักวิชาการชี้งานวิจัยข้าวไร้ทิศทาง

ด้านนายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยในงานเสวนา "อนาคตข้าวไทย ฝากไว้ในมือท่าน" ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำเป็นต้อง หารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อจัดหาข้อมูลด้านการตลาด โดยอาศัยทูตในทุกประเทศเก็บข้อมูลพันธุ์ข้าว แล้วนำมาวิเคราะห์วิจัยพัฒนาพันธุ์ที่ตลาดต้องการ เนื่องจากปัจจุบันกรมการข้าวมุ่งผลิตข้าวพันธุ์ดี แต่ไม่สอดคล้องกับตลาด เช่น ข้าวหอมมะลิ 105 ดีมากแต่ขายในลาวไม่ได้เพราะส่วนใหญ่กินข้าวเหนียว

"การวิจัยและพัฒนา ต้องให้ความสำคัญ เชื่อมโยง กับระบบตลาดและระบบโรงสีข้าว ซึ่งเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุด ว่าการขายข้าวโดยแยกเป็นสายพันธุ์ทำได้อย่างไร นอกจากนี้การวิจัยและพัฒนาต้องมีการพิจารณาด้านการสูญเสียจากการเก็บเกี่ยวของไทยที่สูงถึง 11% ซึ่งไม่รวมกับการสูญเสียจากการขนส่ง (โลจิสติกส์)"นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า วงการข้าวของไทยขณะนี้ถึงจุดวิกฤติด้านงานวิจัยแล้ว เพราะแต่ละปี มีงบประมาณด้านวิจัยข้าวเพียง 200 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดีย และน้อยกว่า งานวิจัยและพัฒนาปาล์ม ที่ใช้งบประมาณปีละประมาณ 3,500 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่า 7 เท่าตัว อีกทั้งงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาข้าวไทยยังถูกนำไปใช้ในด้าน การส่งเสริมเป็นส่วนใหญ่

ปัญหาทางด้านงานวิจัย ส่งผลให้การส่งออกข้าวไทยจึงมีปัญหาด้านคุณภาพ การแก้ไขเพื่อให้ไทยอยู่รอดในการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จำเป็นต้องตั้งกองทุนวิจัยข้าวโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะกรมการข้าวเพียงฝ่ายเดียว ส่วนเงินจากการอุดหนุนจะนำมาจากรายได้การส่งออกข้าวประมาณ 0.5% ซึ่งจะได้เงินมากขึ้น 1,000 ล้านบาท/ปี เงินจำนวนนี้หากรวมงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาที่มีอยู่เดิมประมาณ 200 ล้านบาท ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการแข่งขันในอนาคต โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว และ การทำวิจัยต้องทำเป็นแผนงาน 3-5 ปี ไม่ใช่ปีต่อปี

ชี้ไทยยังไม่พร้อมรับเออีซี

นายปราโมทย์ วานิชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ในการเปิดเสรีเออีซีในปี 2558 ปัญหาที่ไทยยังไม่เตรียมรับมือ คือเรื่องของข้าวราคาถูกจากเพื่อนบ้าน เช่น พม่า เวียดนาม กัมพูชา และฟิลิปปินส์ จะทะลักเข้ามาเป็นทางเลือกให้คนไทยในระดับล่าง

ดังนั้นเพื่อเตรียมรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเออีซี การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวถือว่าสำคัญ และที่ผ่านมาไทยก็มีการวิจัยมาไว้จำนวนมาก แต่มีการมองข้าม หากนำวิจัยเก่าๆ ที่มีการวิจัยข้าวจากพันธุ์ข้าวหอมมะลิ นำมาปัดฝุ่น ก็สามารถนำมาขายให้ตลาดที่มีกำลังซื้อ

อัมมารชี้นโยบายจำนำทำลายคุณภาพ

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรมุ่งผลิตข้าวเพื่อรับรายได้จากภาครัฐเท่านั้น ขณะที่ภาครัฐก็มีหน้าที่รับซื้อข้าวจากเกษตรกรไปดองไว้ ซึ่งระบบจำนำแบบนี้ถือเป็นการทำลายคุณภาพข้าวโดยตรง

"หากภาครัฐไม่เลิกวิธีการรับจำนำข้าวในแบบปัจจุบัน การวิจัยและพัฒนาข้าว ที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ก็ไม่คุ้มกับการพัฒนา เพราะข้าวในโกดังก็มีสูงถึง 12 ล้านตันข้าวสาร ไม่ใช่สิ่งที่ผู้เสียภาษีจะมารับผิดชอบ เพราะภาครัฐพูดเสมอว่า ยอมขาดทุนเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร แต่เงินที่เสียไปมาจากเงินภาษีของเราทั้งสิ้น เราไม่พร้อมจะขาดทุนกับข้าวเน่าในโกดังรัฐบาล"

เชื่อนโยบายจำนำไปไม่รอด

นางสาวกอบสุข กล่าวว่า การผลิตข้าวของไทยที่มีมากกว่าความต้องการบริโภคข้าวในประเทศถึง 2 เท่า ส่งผลให้ไทยต้องมีการส่งออกให้มากที่สุดแต่เนื่องจากโครงการรับจำนำทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าราคาตลาดผู้ส่งออกจึงต้องแข่งขันสูงในตลาดโลก และเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เกษตรกรมองว่าผู้ส่งออกเป็นผู้เอาเปรียบมากที่สุดในอุตสาหกรรมข้าว

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาในภาพรวมไทยต้องปล่อยให้ราคาข้าวเป็นไปตามกลไกตลาด

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

TREA on Facebook


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2012 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.