www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ข้าวหอมมะลิมีลุ้นแล้ว'ปินส์'เร่ซื้อ 3.8 แสนตัน


แหล่งข่าวจากวงการส่งออกข้าวเปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้วงการส่งออกข้าวไทย กำลังเฝ้าติดตามการนำเข้าข้าว โดยภาคเอกชนของประเทศฟิลิปปินส์ หลังจากที่องค์การอาหารแห่งชาติฟิลิปปินส์ (Nation Food Authority : NFA) ได้จัดสรรปริมาณการนำเข้าให้กับภาคเอกชน รวมถึงกลุ่มสหกรณ์ แต่ละแห่งเรียบร้อยแล้ว โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์จะให้เอกชนนำเข้าข้าว รวมทั้งสิ้น 380,000 ตัน ข้าวจำนวนนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้าว 500,000 ตัน ที่ฟิลิปปินส์ต้องนำเข้าในปีนี้
 
"จริงอยู่ที่การนำเข้าข้าวของประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่จะนำเข้าจากประเทศเวียดนาม แต่ก็ถือว่าเป็นอีกความหวังของตลาดส่งออกข้าวของไทย หลังจากที่เงียบเหงามาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งขันมาก มีความเป็นไปได้ที่ผู้ส่งออกไทยบางราย ที่มีข้าวต้นทุนต่ำอยู่ในมือ อาจเสนอขายข้าวราคาถูกให้กับเอกชนของฟิลิปปินส์ และเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาข้าวของประเทศเวียดนาม เพราะเวลานี้ถึงแม้ว่าราคาข้าวโดยรวมของประเทศไทย จะสูงกว่าประเทศคู่แข่ง แต่ผู้ส่งออกข้าวบางรายมีสต๊อกต้นทุนต่ำอยู่ในมือ การนำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์อาจมีความพลิกล็อกเกิดขึ้น คือเป็นการนำเข้าข้าวจากประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ก็เป็นได้"
 
ขณะที่นายแองเจลิโต บานาโย ผู้อำนวยการเอ็นเอฟเอ กล่าวว่า กำลังพิจารณาที่จะสั่งซื้อข้าวปริมาณ 120,000 ตัน จากประเทศเวียดนามหรือไทยแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนเมษายนศกนี้
 
ทั้งนี้ปี 2554 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้ลงนามบันทึกช่วยจำ (เอ็มโอยู) กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ มีสาระสำคัญคือ รัฐบาลฟิลิปปินส์จะนำเข้าข้าวจากประเทศไทย 3 ปี (2554-2556) ปีละ 1 ล้านตัน ซึ่งการทำเอ็มโอยู เป็นผลดีกับประเทศไทย คือทำให้ไทยมีโอกาสขายข้าวฟิลิปปินส์มากขึ้น หากฟิลิปปินส์มีความต้องการนำเข้า ประกอบกับรัฐสภาไทยได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ว่าด้วยการทำหนังสือหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเหมือนก่อนหน้านี้ ส่งผลให้หน่วยงานของรัฐเกิดความคล่องตัวในการเจรจาหรือเซ็นสัญญาขายสินค้ามากขึ้น
 
นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเซียโกลเด้นไรซ์ จำกัด กล่าวว่า ออร์เดอร์ที่ผู้ส่งออกข้าวไทยจะได้จากประเทศฟิลิปปินส์ครั้งนี้  มีความหวังได้ในส่วนของข้าวหอมมะลิและข้าวขาว 100% ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพสูง ส่วนข้าวคุณภาพต่ำโอกาสแข่งขันกับประเทศคู่แข่งมีความเป็นไปได้ยาก เพราะราคาข้าวไทยยังสูงกว่ามาก แต่ผู้ส่งออกยังคงเฝ้าติดตามการนำเข้าข้าวของเอกชนฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิด ว่าจะนำเข้าจากประเทศใดบ้าง
 
ด้านนายวัลลภ พิชญ์พงศ์ศา รองกรรมการผู้จัดการบริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด กล่าวว่า แม้จะทราบดีว่าปกติแล้วฟิลิปปินส์จะนำเข้าข้าวจากประเทศเวียดนาม แต่เท่าที่ทราบเวลานี้ ประเทศเวียดนามได้รับคำสั่งซื้อข้าวจากประเทศจีนไว้มากราว 500,000 ตัน เวียดนามอาจจะมีปัญหาส่งมอบข้าวให้ไม่ทัน เพราะฉะนั้นผู้นำเข้าฟิลิปปินส์อาจหันมาสั่งซื้อจากประเทศไทยได้ แต่ทั้งนี้ต้องติดตามต่อไป เพราะราคาข้าวไทยยังอยู่ในเกณฑ์สูงอยู่เมื่อเทียบกับคู่แข่ง
 
ขณะที่นายเสริมศักดิ์ ควรทรงธรรม ผู้จัดการบริษัท ข้าวไชยพร จำกัด กล่าวว่า คำสั่งซื้อข้าวจากเอกชนของฟิลิปปินส์มีความหวังได้ แต่คงไม่มากหลัก โดยอยู่ในหลักหมื่นตัน เพราะเท่าที่ทราบเอกชนของฟิลิปปินส์ที่ได้รับจัดสรรโควตา ต้องเสียค่าโควตาสูงสุดถึงตันละ 160 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะฉะนั้นราคาข้าวไทยที่แพงอยู่แล้ว เมื่อผู้นำเข้าต้องบวกค่าโควตา ยิ่งทำให้ข้าวไทยในฟิลิปปินส์มีราคาแพงมากขึ้น
 
อย่างไรก็ดีนายเสริมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความต้องการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เวลานี้ จะมีความต้องการนำเข้าข้าวนึ่งจากประเทศไนจีเรีย เพราะว่ารัฐบาลไนจีเรีย จะขึ้นภาษีนำเข้าข้าวนึ่ง 20-25% มีผลกรกฎาคมศกนี้ ผู้นำเข้าจึงต้องเร่งนำเข้าก่อนที่ภาษีใหม่จะมีผลบังคับใช้ ผู้ส่งออกส่วนใหญ่จึงมีออร์เดอร์ข้าวนึ่งอยู่ในมือ
 
สำหรับความต้องการนำเข้าข้าวขาวจากต่างประเทศ วันที่ 1 เมษายน 2555 ประเทศอิรักได้ประกาศเปิดประมูลซื้ออย่างเป็นทางการ 30,000 ตัน แต่ในความเป็นจริงจะเปิดประมาณ 90,000 ตัน ซึ่งการประมูลครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้ โดย 3 ครั้งที่ผ่านมาผู้ส่งออกไทยชนะประมูล 2 ครั้ง คิดเป็นปริมาณข้าวประมาณ 90,000 ตัน ในครั้งนี้มั่นใจว่าจะชนะอีก หากผู้ส่งออกไทยไม่ชนะโดยตรง เทรดเดอร์ที่ยื่นประมูลมักจะแจ้งว่า ข้าวที่ส่งมอบให้เป็นข้าวจากประเทศไทย รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา หรือเวียดนาม แต่ทางอิรักจะนิยมบริโภคข้าวไทยมากกว่าข้าวจากประเทศอื่น ๆ
 
นายมนัส ห้วยหงษ์ทอง นายกสมาคมโรงสีข้าว จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า แม้จะมีสัญญาณจากประเทศฟิลิปปินส์และประเทศอิรัก ที่จะมีการนำเข้าข้าวเร็ว ๆ นี้ แต่ขณะนี้ไม่มีความเคลื่อนไหวของผู้ส่งออก ที่ออกไปรับซื้อข้าวจากโรงสีแต่อย่างใด ประกอบกับโรงสีข้าวขาวเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเกือบทั้งหมด หรือหากจะซื้อข้าวเปลือกเพื่อสีเป็นข้าวขาวขายให้กับผู้ส่งออก ซื้อได้เพียงตันละ 11,000 บาท เท่านั้น เพราะราคาข้าวสารที่ผู้ส่งออกซื้อกระสอบ(100 กิโลกรัม) ละ 1,570 บาท ขณะที่รัฐบาลรับจำนำที่ตันละ 14,800 บาท  จึงไม่มีชาวนานำข้าวเปลือกมาขายให้กับโรงสี
 
สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รายงานปริมาณการส่งออกข้าววันที่ 1 มกราคม-20 มีนาคม 2554 ส่งออกได้ทั้งสิ้น 2,631,993 ตัน วันที่ 1 มกราคม-20 มีนาคม 2555 ส่งออกได้ 1,326,523 ตัน หรือเท่ากับการส่งออกช่วงเดียวกันปีนี้เทียบกับปีที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 49.6

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

TREA on Facebook


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2012 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.