ุ
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวของไทยในครึ่งปีแรกของไทยอยู่ที่ 2.94 ล้านตัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 8.41% มูลค่า 61,988 ล้านบาท ลดลง 7.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เฉลี่ยราคาส่งออกที่ 21,090 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้น 0.7% หรือ 715 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.5% มูลค่าที่ลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินบาทของไทยแข็งมากในช่วงต้นปี
ทั้งนี้ ปริมาณการส่งออกดังกล่าว แยกเป็นการส่งออกข้าวขาว 1,223,919 ตัน เพิ่มขึ้น 8.22% เนื่องจากอิรักซื้อข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง แม้ราคาข้าวของไทยจะสูงมาก ปลายข้าวขาว 74,854 ตัน เพิ่มขึ้น 53.25% ข้าวหอมมะลิ 719,857 ตัน เพิ่มขึ้น 16.58% ขณะที่ปลายข้าวหอมมะลิส่งออกที่ 207,013 ตัน ลดลง 6.97% ข้าวนึ่ง 597,597 ตัน ลดลง 44.24% ข้าวเหนียว 89,863 ตัน เพิ่มขึ้น 22.33% และข้าวหอมปทุมธานี 26,059 ตัน ลดลง 40.90%
"ตลาดสหรัฐช่วงครึ่งปีแรกนำเข้าข้าวหอมมะลิไทยสูงมากถึง 1.2 แสนตัน เพราะข้าวหอมจากกัมพูชา เวียดนามมีต้นทุนขนส่งแพง ขณะนี้ต้องยอมรับผู้บริโภคในสหรัฐและเม็กซิโก มีกำลังซื้อสูงและหันมาบริโภคข้าวคุณภาพมากขึ้น เหมือนกับตลาดญี่ปุ่น ฮ่องกงที่หันมาบริโภคข้าวไทยมากขึ้นเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าตลาดข้าวหอมมะลิของไทยจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง"
ทั้งนี้ ตลาดส่งออกข้าวไทยที่ทำได้มากที่สุด คือ อิรัก 418,490 ตัน เพิ่มขึ้น 112.56%, เบนิน 338,079 ตัน เพิ่มขึ้น 257.59% โดยเป็นผลมาจากที่การส่งออกข้าวไทยในตลาดไนจีเรียลดลง เพราะมีการเรียกเก็บภาษีการนำเข้าที่สูงมากประมาณ 100% ขณะที่เบนินที่มีชายแดนติดกัน จึงต้องนำเข้าข้าวจากไทย และคาดว่าจะมีการส่งออกไปตลาดอิรักอีกครั้ง
ยูเอสดีเอ ชี้ค้าข้าวโลกลด 4%
สำหรับคาดการณ์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) ระบุว่า การค้าข้าวของโลกในปี 2556 จะมีประมาณ 37.58 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 4.01% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกข้าวมีผลผลิตมากขึ้น เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ทำให้มีการซื้อน้อยลง โดยปีนี้อินเดียจะส่งออกมากที่สุด 9 ล้านตัน ลดลง 12.20%, เวียดนาม 7.4 ล้านตัน ลดลง 4.15%, ไทย 7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.72%, สหรัฐ 3.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.10% และ ปากีสถาน 3 ล้านตัน ลดลง 11.76%
ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีการนำเข้าข้าวมากที่สุด คือ จีน 3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.45%, ไนจีเรีย 2.30 ล้านตัน ลดลง 32.35%, ฟิลิปปินส์ 1.50 ล้านตัน เท่ากับปีที่ผ่านมา, อิรัก 1.40 ล้านตัน ลดลง 5.41% และ อินโดนีเซีย 1 ล้านตัน ลดลง 48.98%
ผู้ส่งออกตั้งเป้า 6.5 ล้านตัน
สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดการณ์ใหม่ ว่าในปีนี้ไทยจะส่งออกได้ 6.5 ล้านตัน โดยเป็นอัตราลดลง 6.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา มูลค่า 145,000 ล้านบาท ต่ำกว่าคาดการณ์ของสหรัฐ และกระทรวงพาณิชย์ที่คาดว่าไทยจะส่งออกได้ 8.5 ล้านตัน มูลค่า 171,000 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์ส่งออกข้าวของไทยในช่วงครึ่งแรกของปีมีน้อย ผู้ส่งออกมีการแข่งขันสูง อุปสรรคการส่งออกมีมาก ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวในระดับปกติ
เขาคาดว่า ในช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกข้าวของไทย จะยังไม่สดใส ยกเว้นว่าหากรัฐบาลสามารถขายข้าวลักษณะรัฐต่อรัฐ (G to G) ได้จะทำให้การส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นได้ โดยการส่งออกของไทยมีปัจจัยเชิงบวกระยะสั้น คือ จีนยังมีการนำเข้าต่อเนื่อง ทำให้ เวียดนาม ปากีสถาน พม่า รวมทั้งอินเดียหันไปสนใจตลาดจีนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากกำหนดราคาประกันไว้สูง
ขณะที่ อิรักและญี่ปุ่น มีการเปิดประมูลซื้อข้าว โดยสองประเทศนี้จะมีการซื้อข้าวจากไทยอย่างต่อเนื่อง หากรัฐบาลไทยมีการระบายข้าวออกจากสต็อกจะส่งผลให้อุปทานข้าวที่เคยตึงตัว ผ่อนคลายลง รวมทั้งการเจรจาการข้าวรัฐต่อรัฐและเร่งส่งมอบให้เร็วขึ้น ในราคาตลาดโลก หรือยอมขาดทุนจะทำให้การส่งออกครึ่งปีหลังของไทยทำได้มากขึ้น
อานิสงส์อินเดียใช้ภายใน ดันไทยดีขึ้น
ในระยะกลางการส่งออกของไทยดีขึ้น โดยเป็นผลมาจากนโยบายความมั่นคงทางด้านอาหารของอินเดียฉบับใหม่ ที่จะทำให้รัฐบาลมีภาระในการจัดสรรธัญพืชให้ประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยอินเดียมีแผนขายข้าวให้ผู้มีรายได้ต่ำ ที่กิโลกรัมละ 1.50 บาท มีเป้าหมาย 40 ล้านตัน คาดว่าอินเดียจะต้องสต็อกข้าวมากขึ้นและส่งออกน้อยลงจะเป็นผลดีกับไทยได้ ในขณะที่สภาพอากาศของโลก ที่มีโอกาสเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่อาจทำให้ข้าวได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ คาดว่าไทยจะส่งออกข้าวขาวได้ 2.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ข้าวเหนียวคาดว่าจะส่งออกได้ 0.2 ล้านตัน ลดลง 5.6%, ข้าวหอมปทุมธานี คาดว่าจะส่งออกได้ 0.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 33.6%, ข้าวหอมมะลิ 2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3%,ข้าวนึ่ง 1.5 ล้านตัน ลดลง 31.1% เนื่องจากการแข่งขันในตลาดสูง จะเห็นได้จากการส่งออกครึ่งปีแรก ที่คาดว่าจะทำได้ 2 ล้านตัน แต่ในที่สุดทำได้เพียง 6 แสนตันเท่านั้น ทำให้การเร่งส่งออกทั้งปีทำได้ลำบาก
"นโยบายของรัฐที่จะขายข้าวเปลือกในโครงการรับจำนำให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เจาะตลาดข้าวนึ่งนั้นเป็นไปได้ยาก และไม่มีปัจจัยอื่นใดที่จะสนับสนุนให้การส่งออกข้าวนึ่งของไทยเจริญรุ่งเรืองเหมือนที่ผ่านมาได้อีก"
ปัจจัยลบระยะกลางที่จะส่งผลกระทบต่อข้าวไทย คือ กรณีที่ผู้นำเข้าหันไปซื้อข้าวที่ราคาต่ำกว่า ผู้ส่งออกรายใหม่ พม่า กัมพูชาหันมาส่งออกมากขึ้น และมีปัจจัยระยะยาวคือประเทศทั้งรายใหม่และเก่า หันมาผลิตข้าวคุณภาพสูงมากขึ้นเช่นข้าวหอมมะลิ อินเดียและเวียดนามมีผลผลิตข้าวมากขึ้นและราคาต่ำกว่าไทย
"อินเดีย จะมีผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 108 ล้านตัน เวียดนาม 27.7 ล้านตัน ในขณะที่ผลผลิตธัญพืชชนิดอื่นมีจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ข้าวสาลีจะมีมากถึง 698 ล้านตัน ทำให้ประเทศผู้ซื้อข้าวของไทย หันไปซื้อจากแหล่งอื่นทำให้ไทยสูญเสียตลาดข้าวอย่างต่อเนื่อง"
ระยะสั้นตลาดเป็นของผู้ซื้อ
นายชูเกียรติ กล่าวว่า การส่งออกข้าวของไทยมีปัจจัยในเชิงลบ ในระยะสั้น ที่ตลาดยังเป็นของผู้ซื้อจากที่ผู้ผลิตข้าวที่สำคัญยังผลิตได้มาก เช่น เวียดนาม อินเดีย ในขณะที่ผลผลิตธัญพืชชนิดอื่น ข้าวโพดข้าวสาลีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งเวียดนามและอินเดีย ยังแข่งขันด้านราคาทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ความต้องการตลาดข้าวที่มีน้อยอยู่แล้ว ทำให้เวียดนามหันมาแย่งตลาดข้าวของไทย
"การซื้อข้าวของประเทศผู้นำเข้า จะซื้อให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคเท่านั้น ไม่เก็บสต็อกเพราะเห็นว่าสต็อกข้าวโลก ยังมีมากราคาจะไม่ปรับตัวสูงขึ้นโดยอินเดียจะมีสต็อกสูงถึง 104 ล้านตัน เวียดนาม 27.3 ล้านตัน ไทย 17-18 ล้านตัน ในขณะที่ข้าวของไทยยังสูงกว่าคู่แข่ง"
โครงการรับจำนำข้าวของไทยที่กำหนดราคารับซื้อไว้สูงมาก และรัฐผูกขาดการรับซื้อไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าข้อครหา เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาที่ระบุผู้ส่งออกเป็นผู้ปั่นราคาข้าวในประเทศนั้น ไม่เป็นความจริง
ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง 100 ดอลล์
ราคาข้าวเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก เนื่องจากสูงกว่าคู่แข่งมาก โดยวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา ข้าวขาว 5% ไทย มีราคาที่ 527 ดอลลาร์ สูงกว่าเวียดนามที่ราคา 400 ดอลลาร์ สูงกว่าอินเดียที่ 440 ดอลลาร์, ข้าวขาว 10% ไทยราคา 521 ดอลลาร์ เวียดนาม 395 ดอลลาร์, ข้าวขาว 15% ไทยที่ 525 ดอลลาร์ เวียดนาม 380 ดอลลาร์ และข้าวขาว 25% ไทยราคา 523 ดอลลาร์ เวียดนาม 365 ดอลลาร์ และ อินเดีย 395 ดอลลาร์
ขณะที่ราคาข้าวเปลือกของไทย มีราคาที่ 482 ดอลลาร์, สหรัฐ 385 ดอลลาร์, เวียดนาม 260 ดอลลาร์, อินเดีย 237 ดอลลาร์, จีน 450 ดอลลาร์, กัมพูชา 270 ดอลลาร์ และ บราซิล 311 ดอลลาร์
"จากการวิเคราะห์ของสำนักวิจัยต่างๆ ระบุว่า ราคาข้าวโลกปีนี้ ราคาจะไม่ปรับตัวสูงขึ้น หากไม่มีสภาวะฝืดเคืองทางด้านอาหารอย่างร้ายแรง เพราะว่าผลผลิตข้าวที่ออกสู่ตลาดสูง ประเทศผู้ซื้อมีการผลิตมากขึ้น ผลผลิตธัญพืชอื่นก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล ควรดำเนินการในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก" นายชูเกียรติ กล่าว
พาณิชย์เคาะขายข้าวนึ่ง 1.2 แสนตัน
นางปราณี ศีริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการเปิดซองราคาเสนอซื้อข้าวเปลือกเจ้า 5% จากโครงการจำนำข้าวเปลือกปี 2555/56 รอบ 2 ปริมาณ 200,000 ตัน เพื่อทำเป็นข้าวนึ่งส่งออก ว่า น่าจะอนุมัติขายให้กับผู้ส่งออกที่เสนอซื้อ 4 ราย ได้แก่ บริษัท นครหลวงค้าข้าว, บริษัท ไชยพร ไรซ์ แอนด์ ฟู้ด โปรดักส์,บริษัท เอเชีย โกลเด้นไรซ์ และ บริษัท กมลกิจ คิดเป็นปริมาณรวม 120,000 ตัน เพราะว่าทั้ง 4 ราย เสนอซื้อในราคาสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนอีก 1 ราย ไม่อนุมัติขายให้ เพราะว่าเสนอราคาต่ำกว่าเกณฑ์มาก
"สัปดาห์หน้าน่าจะออกประกาศเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) รอบใหม่ได้ และน่าจะมีทั้งข้าวเจ้า ข้าวหอมมะลิ และข้าวเปลือกหอมมะลิ ซึ่งกระทรวงฯ ตั้งเป้าประมูลข้าวในสต็อกเดือนละ 2 ครั้งๆ ละประมาณ 200,000-300,000 ตัน เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาตลาด" นางปราณี กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ราคาข้าวเปลือกที่ผู้ส่งออกประมูลได้นั้น เมื่อนำไปทำข้าวนึ่งแล้ว น่าจะทำให้ผู้ส่งออกสามารถตั้งราคาส่งออกได้ประมาณตันละ 500 ดอลลาร์
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|