ุ
โครงการรับจำนำข้าวรอบที่ 2 ของปี 2556 ที่สิ้นสุดลงไปเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา เกิดปัญหาขึ้นเมื่อชาวนาภาคกลางยังมีปริมาณข้าวในมือกว่า 3 แสนตัน ที่ไม่สามารถเก็บเกี่ยวเข้าร่วมโครงการได้ทัน หากนำเข้าโครงการใหม่ที่จะเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้จะทำให้เสียสิทธิในการรับจำนำไป 1 รอบการผลิต รัฐบาลจึงต้องเร่งหาทางออกกับปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ผลผลิตข้าวในภาคกลางเพิ่มสูงขึ้นมากหลังโครงการรับจำนำราคาสูง ส่งผลให้เกิดแรงจูงใจชาวนาเร่งผลิตมากขึ้น ซึ่งข้าวที่เป็นส่วนเกินจากโครงการดังกล่าว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่กล้าที่จะจ่ายเงินให้กับชาวนา เพราะเกรงว่ารัฐจะไม่รับรองการจ่ายเงินในภายหลัง
นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า วันนี้ (1 ต.ค.) คณะอนุกรรมการกำกับโครงการจำนำข้าวที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จะพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่มีข้าวอยู่ในมือปริมาณ 3 แสนตัน คิดเป็นเงินประมาณ 4-5 พันล้านบาท ซึ่งได้เข้ามาจำนำเกินกรอบระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนด คือ ในวันที่ 15 ก.ย. 2556
ทั้งนี้ กรอบในการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลในฤดูกาลผลิต 2555/56 มีปริมาณ 22 ล้านตัน เป็นเงิน 3.45 แสนล้านบาท ล่าสุดในวันที่ 24 ก.ย. มีเกษตรกรเข้าโครงการจำนวนประมาณ 2 ล้านราย ปริมาณข้าวเปลือก 21.4 ล้านตัน เป็นเงินประมาณ 3.4 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ มีข้าวประมาณ 3 แสนตัน ที่เข้ามาจำนำเกินระยะเวลาที่กำหนด คาดว่าจะใช้เงิน 4-5 พันล้านบาท
"ในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวภาคใต้นั้น เราได้กันวงเงินไว้สำหรับการรับจำนำเรียบร้อยแล้ว ไม่เช่นนั้น เกษตรกรภาคใต้จะเสียสิทธิ เพราะว่าบางรายไม่เคยเข้าโครงการเลย ส่วนจำนวนข้าวที่เกินมานั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรภาคกลาง ซึ่งอาจปลูกข้าวมากกว่า 2 ครั้ง เราก็จะคุยกันว่า จะช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มนี้อย่างไร"นายสุพัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลได้เปิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกมาตั้งแต่ฤดูกาลผลิต 2554/55 โดยในปี 2554/55 นั้น มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 2.16 ล้านราย ข้าวเปลือก 21.65 ล้านตัน เป็นเงิน 3.37 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับการรับจำนำในฤดูกาลผลิต 2555/56 จะมีข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 43.05 ล้านตัน เป็นเงิน 6.77 แสนล้านบาท
ยังไม่สรุปแหล่งเงินจำนำรอบใหม่
สำหรับการเปิดรับจำนำข้าวในฤดูกาลผลิตใหม่ คือ ปี 2556/2557 ซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 1 ต.ค. นี้ นายสุพัฒน์กล่าวว่า ขณะนี้ ทางรัฐบาลยังไม่สรุปว่า จะใช้เม็ดเงินจากแหล่งใดมาใช้เพื่อโครงการรับจำนำ คาดว่าจะหาข้อสรุปได้ในเร็วๆ นี้ หรือ ภายในสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกของการเริ่มต้นโครงการนั้น จะเป็นขั้นตอนการเตรียมการต่างๆ เช่น การลงทะเบียนสำหรับโรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการ เป็นต้น และแม้จะมีเกษตรกรที่สามารถเข้าโครงการได้ทันที แต่การจ่ายเงินสำหรับการรับจำนำจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ฉะนั้น รัฐบาลจึงยังมีเวลาในการเตรียมเม็ดเงิน ทั้งนี้ ในระยะแรกจนถึงเดือนมกราคม 2556 ธ .ก.ส.คาดว่าจะใช้เม็ดเงินไม่เกิน 8 พันล้านบาท
ด้าน นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2555/56 ในฐานะที่เป็นประธานจะเร่งดำเนินการปิดบัญชีให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้
นิวัฒน์ธำรงปัดขาดทุน 4 แสนล้าน
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ประเมินเบื้องต้น คาดว่าการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ผ่านมา จะมีมูลค่าไม่ถึง 4 แสนล้านบาท ตามที่อนุคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวอ้าง โดยข้าวที่เข้าร่วมโครงการจะมีปริมาณ 60% ของข้าวที่ผลิตได้ทั้งหมด 22 ล้านตัน มีการใช้เงินในโครงการเฉลี่ย 3.2 แสนล้านบาทต่อปี ประเมินมูลค่าการขาดทุนไม่เกิน 7-8 หมื่นล้านบาทต่อปี เพราะยังมีข้าวอีกมากกว่า 50% ที่ยังไม่ได้ขาย ถือเป็นมูลค่าสินทรัพย์ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ได้รายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรไปก่อนหน้านี้แล้ว
"อ้างว่าขาดทุน 4 แสนล้านบาทช่วงที่ดำเนินโครงการมาแล้ว 2 ปี ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะว่า 2 ปี ใช้เงินไป 6.7 แสนล้านบาท และการขายข้าวเรามั่นใจว่าจะได้เงินไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท หากคิดคร่าวๆ ก็จะมีการขาดทุนไม่น่าจะมากกว่า 2 แสนล้านบาท เพราะมีข้าวบางส่วนในสต็อกไม่ได้นำมาคำนวณด้วย แต่ผมก็ได้สั่งการให้หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ เร่งส่งข้อมูลที่จำเป็นให้คณะอนุกรรมการฯ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการคิดคำนวณการปิดบัญชีเพิ่มเติมแล้ว"นายนิวัฒน์ธำรง กล่าว
ขายข้าวคืนเงินคลังแล้ว 1.6 แสนล้าน
สำหรับเงินที่ส่งคืนให้กระทรวงการคลัง ล่าสุดตั้งแต่เปิดโครงการรับจำนำมา มีการระบายข้าว จากโครงการรับจำนำปี 2554/55 นาปรัง 2555 นาปี 2555/56 และนาปรัง 2556 ไปแล้ว รวมเป็นเงิน 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งการระบายจะขายคละจากข้าวในช่วง 1-2 ปีที่ผ่าน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้การปิดบัญชีทำได้ ส่วนประเด็นที่ ธ.ก.ส.หยุดจ่ายเงินค่าข้าวให้ชาวนาที่ร่วมโครงการฯนั้น ต้องไปถาม ธ.ก.ส.
นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวอีกว่า ข้าวในสต็อกรัฐบาลขณะนี้มีประมาณ 10 ล้านตัน ข้าวสาร ในจำนวนนี้มีภาระผูกพันเพื่อรอการส่งมอบแล้ว 5 ล้าน ซึ่งการส่งมอบล็อตสุดท้ายจะสิ้นสุดปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้สามารถส่งเงินคืนให้กระทรวงการคลังเพิ่มขึ้นได้อีก แต่ยังไม่ระบุว่าเป็นจำนวนเท่าใด อย่างไรก็ตาม ใน อีก 2 สัปดาห์จากนี้ จะลงนามเซ็นสัญญา ขายข้าวให้บริษัท เป่ยต้าฮวง กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้นำเข้าจากเมืองฮาบิน มณฑลเฉยหลงเจียง ปริมาณรวม 1.2 ล้านตัน
อคส.ยัน 400 โรงสีพร้อมรับจำนำ
นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/57 รอบแรก (ข้าวนาปี) ที่จะเริ่มรับจำนำวันที่ 1 ต.ค. นี้ ว่า ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ อคส.มีความพร้อมในการรับจำนำแล้ว ส่วนโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ ในเบื้องต้นที่มีความพร้อมรับจำนำได้ทันทีกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ แต่คาดว่าน่าจะเข้าร่วมโครงการได้ไม่น้อยกว่าโครงการปีก่อนที่มีประมาณ 590 แห่ง ส่วนโรงสีที่เข้าร่วมโครงการก่อน และยังค้างการส่งมอบข้าวเข้าโกดังกลางของรัฐบาลนั้น ยังไม่สามารถเข้าร่วมโครงการใหม่ได้ จนกว่าจะส่งมอบข้าวเก่าให้หมดก่อน โดยขณะนี้ มีโรงสีที่ค้างส่งมอบข้าวราว 100 แห่ง ปริมาณข้าวกว่า 400,000 ตัน และคาดว่าในอีก 1 สัปดาห์ น่าจะทยอยส่งมอบจนหมดได้
ส่วนกรณีน้ำท่วมในหลายพื้นที่ปลูกข้าว โดยเฉพาะ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา และ จ.ศรีสะเกษ นั้น เมื่อเกษตรกรนำข้าวมาเข้าโครงการ และโรงสีสีแปรสภาพข้าวสารเป็นข้าวเปลือกแล้ว จะสั่งให้นำข้าวไปส่งที่โกดัง หรือคลังสินค้ากลางที่ปลอดภัยจากน้ำท่วมทันที
"บริษัทประกันภัย ที่จะรับประกันภัยโกดัง และคลังสินค้ากลาง อคส.ได้คัดเลือกบริษัทที่มีศักยภาพ และทำงานรวดเร็วครอบคลุมทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ 8 บริษัท โดยจะคุ้มครองอัคคีภัย ภัยจากน้ำท่วม และพายุด้วย"นายชนุตร์ปกรณ์ กล่าว
โกดัง 370 แห่งพร้อมรับฝากข้าวรัฐ
สำหรับโกดัง และคลังสินค้าที่รัฐจะฝากเก็บข้าวในโครงการรับจำนำนั้น สำหรับโครงการปี 2556/57 จะมีเพียงพอกับปริมาณข้าวแน่นอน โดยเบื้องต้นมีโกดังและคลังสินค้าเข้าร่วมโครงการ 370 แห่ง รวม 874 หลัง ใน 48 จังหวัด แต่ อคส.จะเชิญชวนให้ภาคเอกชนสร้างไซโลเก็บข้าวให้มากขึ้น เพราะจะสามารถเก็บรักษาคุณภาพข้าวได้นานกว่าโกดัง ขณะเดียวกัน อคส.ก็มีแผนที่จะก่อสร้างไซโลเองด้วย โดยคาดว่าน่าจะสร้างในพื้นที่ของ อคส.เอง ที่ จ.สระบุรี
ทั้งนี้ ล่าสุด อคส.ค้างค่าเช่ากับเจ้าของโกดังและคลังสินค้าที่เช่าฝากเก็บข้าวรัฐรวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการรับมอบข้าวของผู้ซื้อล่าช้ากว่ากำหนด หรือรัฐขายข้าวได้ล่าช้ากว่าคาดการณ์ จึงทำให้ต้องจ่ายค่าเช่าอย่างต่อเนื่อง
ฟันเซอร์เวเยอร์ปลอมหนังสือค้ำประกัน
นายชนุตร์ปกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่ตรวจสอบพบว่าบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (บริษัทเซอร์เวย์) 1 ราย ที่เข้าร่วมตรวจสอบคุณภาพข้าวในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ปลอมแปลงหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทย รวม 9 ฉบับ คิดเป็นเงินราว 10 ล้านบาท เพื่อให้ได้เข้าร่วมโครงการฯ ว่า ล่าสุด ธนาคารกรุงไทย ได้ยืนยันมาแล้วว่า ไม่ได้ออกหนังสือค้ำประกันทั้ง 9 ฉบับให้กับบริษัทเซอร์เวย์รายดังกล่าว ซึ่ง อคส.ได้ขอความร่วมมือให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีดังกล่าวไปทำแล้ว
"บริษัทเซอร์เวย์ ที่ปลอมหนังสือค้ำประกันของธนาคาร อาจหมุนเวียนเงินไม่ทัน เลยต้องทำหนังสือค้ำประกันปลอม เพื่อให้ได้เข้าร่วมโครงการ เรื่องที่เกิดขึ้น แม้ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับข้าวของรัฐบาล แต่ถือว่า บริษัทมีเจตนาทุจริต จึงต้องฟ้องร้องดำเนินคดี และจะเอาผิดตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด และจะไม่ให้เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวกับ อคส.อีก"นายชนุตร์ปกรณ์ กล่าว
สำหรับกรณีดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะ อคส.ได้ส่งหนังสือค้ำประกันไปให้ธนาคารกรุงไทยตรวจสอบ และธนาคารยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้ออกให้ จึงเป็นที่มาของการตรวจสอบอย่างละเอียด และฟ้องร้องดำเนินคดี
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
|