ุ
นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำบัญชีหมุนเวียนและกรอบส่งเงินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ซึ่งมีตัวแทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ร่วมประชุมด้วย ว่า ได้มีการประเมินวงเงินที่จะใช้ในการรับจำนำข้าวฤดูกาลใหม่ ปีการผลิต 2555/2556 ทั้งนาปี และนาปรัง โดยคาดว่าจะใช้เงินกว่า 320,000 ล้านบาท แบ่งเป็นใช้สำหรับนาปี 2 แสนล้านบาท และนาปรังประมาณ 1 แสนล้านบาท
โดยคาดการณ์ผลผลิตข้าวที่จะเข้าสู่โครงการในปีนี้อาจจะลดลง เนื่องจากประสบภาวะภัยแล้งรุนแรงในบางพื้นที่ ทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังจะลดลงเหลือเพียง 6 ล้านตัน ข้าวเปลือก จากปีที่ผ่านมาที่มีผลผลิตกว่า 14 ล้านตันทำให้วงเงินในการรับจำนำรอบนี้ น่าจะลดลงเหลือเพียงไม่เกิน 3 แสนล้านบาท น้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่ใช้วงเงินประมาณ 330,000 ล้านบาท
เม็ดเงินที่จะนำมาใช้ในการรับจำนำ รอบฤดูกาลผลิตนี้ ส่วนหนึ่งให้ทาง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เป็นผู้จัดหาซึ่งได้วงเงินมาประมาณ 140,840 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะนำมาจากเงินที่ได้จากการขายข้าวในฤดูกาลผลิต ปี 54/55 ที่ผ่านมา ทั้งจากการขายแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี และขายให้กับเอกชน ที่ ณ สิ้นเดือนกันยายน มีเม็ดเงินจากการขายข้าวประมาณ 180,000 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะใช้ในการรับจำนำ โดยจะนำผลการประชุมครั้งนี้เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว ( กขช.)? ในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้? ทั้งนี้ปัจจุบัน สตอกข้าวมีอยู่ประมาณ 5 ล้านตัน เป็นปลายข้าว 3 ล้านตัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ทำความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับการคืนเงินจากการขายข้าวในโครงการรับจำนำกับ ธ.ก.ส. แล้ว และยืนยันว่า ไม่มีปัญหาในเรื่องการคืนเงินนำส่ง และมีเงินหมุนเวียนเพียงสำหรับบจำนำรอบใหม่ โดยในรอบปีบัญชีที่ผ่านมา สิ้นสุด เดือนกันยายน 2555 กระทรวงพาณิชย์ มีเงินจากการขายข้าวจากโครงการรับจำนำเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และตามกรอบวงเงินที่กำหนดกันไว้ตั้งแต่ต้น แต่ยอมรับว่าอาจเกิดความไม่เข้าใจในเรื่อง ปีบัญชีของแต่ละฤดูการผลิตในอดีต แต่ได้ทำความเข้าใจกันแล้ว
ก่อนหน้านี้นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยให้ความเห็นว่ารัฐบาลควรปรับลดราคาการรับจำนำในส่วนของข้าวเปลือกเจ้า มาอยู่ที่ตันละ 13,000 บาท จากเดิมกำหนดราคาที่ตันละ 15,000 บาท เพื่อให้ราคาใกล้เคียงกับราคาตลาด ที่ปัจจุบันอยู่ที่ราคาตันละประมาณ 10,000 บาท เพราะการกำหนดราคาที่สูงเกินจริง ทำให้ราคาข้าวไทยในตลาดโลก สูงกว่าหลายประเทศ และทำให้ไม่สามารถส่งออกได้ ซึ่งการกำหนดราคาที่ 15,000 บาท รัฐบาลดำเนินการตามที่หาเสียงไว้ และเมื่อสถานการณ์ความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น จึงควรที่จะปรับลดราคาเพดานลง เพื่อลดการใช้งบประมาณในการรับจำนำ แก้ไขปัญหาสภาพคล่องของธ.ก.ส. รวมทั้งลดปริมาณข้าวในสต๊อกของรัฐบาล ทำให้การส่งออกข้าวดีขึ้นด้วย
ที่มา หนังสือพิมพ์แนวหน้า
|