ุ
มีรายงาน ข่าวจากกระทรวงการคลัง แจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ที่มีนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง เป็นประธาน เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน2556 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้รับรายงานสถานะโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร ปีการผลิต 2554/55 และปี 2555/56 ภายใต้กรอบวงเงินรับจำนำ 5 แสนล้านบาท
โดยในที่ประชุมรายงานว่า ตัวเลขการจ่ายเงินสำหรับโครงการรับจำนำ ณ วันที่ 31 สิงหาคม2556 วงเงิน 736,625 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินทุนจาก ธ.ก.ส. 90,000ล้านบาท , เงินกู้จากสถาบันการเงินที่ กระทรวงการคลังจัดหาให้ 378,756 ล้านบาท, เงินจากระบายผลิตผล 114,406 ล้านบาท และเงินที่ ธ.ก.ส.สำรองจ่าย 153,463 ล้านบาท โดยเงินที่จ่ายไปนั้นเป็นเงินที่ใช้สำหรับโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร ทุกโครงการตั้งแต่ปี 2554-2556 และหากรวมวงเงินช่วยเหลือยางพาราวงเงิน 30,000ล้านบาทด้วยจะ เป็นเงินถึง 7.66 แสนล้านบาท
“ที่ประชุมยังเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างธ.ก.ส.และ กระทรวงพาณิชย์ ถึงกรอบวงเงินที่ ใช้ในการรับจำนำ 5แสนล้านบาท โดยธ.ก.ส.ยึดตัวเลขการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรทุกโครงการทั้งมัน ปาล์ม แต่กระทรวงพาณิชย์นั้นยึดตัวเลขเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวเท่านั้น”
ทั้งนี้หากยึดเฉพาะตัวเลขรับจำนำข้าวอย่างเดียววงเงินจะอยู่ที่ 6.76 แสนล้านบาท แบ่งเป็นจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/2555?ปริมาณ 6.95 ล้านตัน เป็นเงิน 118,656 ล้านบาท ข้าวนาปรัง 2555 ปริมาณ 14.7 ล้านตัน เป็นเงิน 218,670 ล้านบาท จำนำข้าวเหลือกครั้งที่ 1 ปี 2555/56 ปริมาณ 14.63 ล้านตัน เป็นเงิน 234,504 ล้านบาท และจำนำข้าวเปลือกครั้งที่ 2 รอบล่าสุด ปริมาณ7.11?ล้านตัน เป็นเงิน 105,465 ล้านบาท
รายงานข่าว แจ้งอีกว่า ในที่ประชุมยังเห็นชอบการกู้เงินเพื่อบริหารจัดการหนี้โครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตรในปีงบ 2557 วงเงิน 141,971 ล้านบาท โดยมี กระทรวงการคลัง เป็นผู้จัดหา และค้ำประกันการกู้เงิน?รัฐบาล รับภาระต้นเงิน ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น จากการดำเนินโครงการทั้งหมด รวมทั้งอนุมัติการกู้เงินเพื่อบริหารจัดการเงินกู้จนกว่าชำระเสร็จสิ้น
ด้าน น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า สบน.ต้องจัดหาเงินกู้ให้กับ ธ.ก.ส.นำ ไปใช้รับจำนำข้าวในฤดูกาลล่าสุด ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) แต่วงเงินที่จะให้ สบน.กู้นั้นต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายใน 2 ส่วน คือ พิจารณาจากกรอบวงเงินค้ำประกันในภาพรวม ซึ่งในปีงบ 2557 สามารถค้ำประกันได้อีก 2.5 แสนล้านบาท และการเงินค้ำประกันให้ธ.ก.ส.ต้องไม่เกิน 6 เท่าของเงินกองทุน
“เงิน ที่จะนำมาใช้รับจำนำคงไม่สามารถกู้ได้ทั้งหมด 2.7 แสนล้านบาท ส่วนจะกู้จำนวนเท่าไรนั้นยังระบุไม่ได้เพราะธ.ก.ส.ยังไม่ได้ส่งผลการใช้เงิน มาให้ สบน. โดยในเดือนตุลาคมนี้ สบน.ยังไม่มีแผนที่จะกู้เงินให้ ธ.ก.ส.เพราะข้าวที่จะมาจำนำไม่น่าจะมากนัก เงินที่จะต้องใช้ยังไม่มาก น่าจะใช้เงินจากการระบายข้าวไปก่อนได้” น.ส.จุฬารัตน์ กล่าว
แหล่งข่าวจากวงการโรงสี กล่าวว่า การรับจำนำข้าวฤดูกาลนี้รัฐบาลได้เปิดจุดรับจำนำข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 56 แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องเรื่องการออกใบประทวนให้เกษตรกรได้ล่าช้าเหมือนเดิม เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์ของ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ยังมีปัญหาอยู่
"พื้นที่ที่จะมีผลผลิตข้าวออกมากจะอยู่แถวนครนายก และภาคเหนือ แต่เมื่อเกษตรกรนำข้าวเปลือกมาจำนำ และทางโรงสีไม่สามารถออกใบประทวนให้ได้ ความผิดจะมาตกอยู่ที่โรงสีอยู่ดี เพราะมีกำหนดเงื่อนไขจะต้องออกได้ไม่เกินภายใน 3 วัน แต่เพราะเพิ่งมีการเปิดโครงการรับจำนำมาได้ไม่กี่วันจึงยังไม่มีเกษตรกรเรียกร้องปัญหาต่างๆ"
อีกทั้งยังมีหลักเกณฑ์เรื่องการให้โรงสีทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยเพียง 8 บริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับอคส.เท่านั้น และต้องมีการซื้อขายผ่านส่วนกลางที่เป็นระบบออนไลน์ของ อคส. จึงจะได้เลขประกันภัย เพื่อจะออกใบประทวนได้ แม้ว่า อคส.จะระบุว่าให้โรงสีสามารถทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัย 8 แห่งในพื้นที่จังหวัดต่างๆได้ แต่มีเงื่อนไขจะต้องมีหนังสือสัญญาระหว่างโรงสีกับอคส. ซึ่งทางอคส.นั้นก็ยังไม่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ดังนั้นเอกชนจึงเตรียมหารือเพื่อหาทางออก โดยต้องการให้ อคส.อนุญาตให้สามารถซื้อประกันกับบริษัทใดก็ได้
ก่อนหน้านี้โรงสีจะมีการซื้อประกันภัยผ่านโบรกเกอร์ประกันภัยในต่างจังหวัด โดยจะมีค่าเบี้ยประกันประมาณ 0.18% ของวงเงินจำนำของโรงสีแต่ละแห่ง แต่ต่อมา อคส.มาทำหน้าที่เป็นเหมือนโบรกเกอร์ประกันเสียเอง และมีการกำหนดค่าเบี้ยประกันที่ 0.38% ของวงเงินจำนำของโรงสีแต่ละแห่ง ทำให้ต้นทุนของโรงสีเพิ่มอีก 0.2%
“ต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นมานั้นเป็นต้นทุนที่ไม่มีการแจ้งล่วงหน้ามาก่อน และเป็นการล็อกสเป็ค ซึ่งทางอคส.อ้างว่าการกำหนดหลักเกณฑ์เช่นนี้ ก็เพื่อป้องกันเรื่องกรมธรรม์ปลอม แต่ประเด็นนี้มันเป็นเรื่องของบริษัทเซอร์เวย์เยอร์ ไม่เกี่ยวกับโรงสีเลย ทำไมจึงบวกเข้าไปด้วย แต่ในความจริงแล้วเราไม่ได้คิดงอแงเลย หาก อคส.จะทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์แทนและกำหนดค่าเบี้ยประกันในอัตราเดียวกันหรือสูงกว่าเล็กน้อยก็ไม่เป็นไร แต่นี่สูงขึ้นกว่าเป็นเท่าตัว”แหล่งข่าวกล่าว
ที่มา หนังสือพิมพ์แนวหน้า
|