ุ
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ( กขช.)วันที่ 11 มีนาคม 2556ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบกรอบการดำเนินโครงการ และหลักเกณฑ์การรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังรอบ 2 ฤดูการผลิต ปี 2555/2556 (เริ่ม 14 มี.ค.-ก.ย.56) ซึ่งคาดว่าจะมีเกษตรกรนำข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการปริมาณ 7 ล้านตันข้าวเปลือก โดยคาดการณ์ตามประมาณการผลผลิตของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)ที่คาดว่า จะมีผลผลิตประมาณ 9 ล้านตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดน้อยลง สำหรับราคารับจำนำยังคงใช้อัตราเดิม
โดยข้าวเปลือกเจ้า 100% ราคาตันละ 1.5 หมื่นบาท ข้าวเปลือกปทุมธานี1 ตันละ 1.6 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเหนียวตันละ 1.5-1.6 หมื่นบาท โดยจะใช้วงเงินในการรับจำนำประมาณ 1.05 แสนล้านบาท จะเป็นทุนหมุนเวียนจากเงินระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะไม่มีการขอกรอบงบประมาณเพิ่มเติมมารับจำนำ นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มหลักเกณฑ์สำหรับข้าวที่เข้าร่วมโครงการต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 100 วัน เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพมารฐาน ขณะเดียวกันได้เพิ่มมาตรการในการตรวจสอบการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวให้เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการสวมสิทธิ ซึ่งจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงการคลังตรวจสอบอย่างเข้มงวด รวมถึงการตรวจสอบการลักลอบนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิในโครงการรับจำนำ ส่วนการออกหนังสือรับรองให้กับเกษตรกรนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่า จะออกหนังสือรับรองให้กับเกษตรกรไก้ภายในวันที่ 14 มีนาคมนี้ซึ่งจะสามารถเปิดรับจำนำได้ในทันที
ส่วนการดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 นั้นอาจจะพิจารณาทบทวนในการการกำหนดราคารบจำนำเจ้าเปลือกเจ้าใหม่เนื่องจากว่ารัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบายโซนนิ่งในการเพาะปลูกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่ในการปลูกให้มีความเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตลดลง รวมทั้งมาตรการลดต้นทุนตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เรื่องเมล็ดพันธุ์ และการใช้ปุ๋ย นอกจากนี้ยังจะมีการส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวอินทรีย์ที่มีคุณภาพ ให้จำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่าข้าวเปลือกทั่วไป โดยอาจจะพิจารณาให้มีการรับจำนำข้าวเปลือกอินทรีย์เพิ่มขึ้น โดยกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าข้าวเปลือกทั่วไป เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรหันมาปลูกข้าวอินทรีย์เพิ่มขึ้น ส่วนกรณีที่เกษตรกรไม่ได้ปลูกพืชตามพื้นที่โซนนิ่งแล้วจะไม่ได้ราคารับจำนำนั้นก็อาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐในเรื่องของการลดต้นทุนการปลูก ทั้งนี้คาดว่า จะมีความชัดเจนภายใน 2 เดือนนับจากนี้เนื่องจากต้องนำผลการศึกษาของทั้ง 2 หน่วยงานมาพิจารณากำหนดเพดานราคารับจำนำข้าวในฤดูปลูกข้าวนาปรังปีหน้าต่อไป
“การรับจำนำนาปรังในฤดูกาลต่อไป จะนำระบบโซนนิ่งมาใช้ และจะการทบทวน หรือปรับเปลี่ยนเรื่องราคารับจำนำ ซึ่งข้าวหรือพืชชนิดใดที่ปลูกตามพื้นที่โซนนิ่ง ภาครัฐก็จะเข้าไปส่งเสริมส่วนเกษตรกรที่ไม่ได้ทำตามก็จะไม่ได้รับการส่ง เสริม ซึ่งวิธีนี้จะทำให้สามารถกำหนดปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่จะออกมาในแต่ละปี ได้ กระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นหน่วยงานปลายน้ำก็จะได้รับประโยชน์ทำให้สินค้าเกษตร ได้ราคาที่ดีและส่งผลดีต่อประเทศในภาพรวม” นายบุญทรง กล่าว
ส่วนการสั่งสีแปรและการส่งมอบ ให้จังหวัดแต่งตั้งคณะทำงานระดับอำเภอเข้มงวดในการกำกับดูแล เชื่อมโยงระบบไอทีระหว่างหน่วยงานเพื่อตรวจสอบข้อมูลซึ่งกันและกันในกรณีที่โรงสีหรือท่าข้าวที่เปิดจุดนอกพื้นที่ หรือจุดรวบรวมของสหกรณ์กระทำผิดและได้ถูกขึ้นบัญชีไว้และมีการเปลี่ยนแปลงชื่อจะไม่ให้เข้าร่วมโครงการ3-5ปี และในกรณีที่โรงสีไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์จะถูกขึ้นบัญชีและไม่ให้เข้าร่วมโครงการ 3-5 ปีเช่นกัน
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติอนุมัติให้ขายข้าวขาว5% จำนวน 1.5แสนตัน ให้กับประเทศกีนีแต่เนื่องจากกีนียังมีหนี้คงค้างกับไทยจากการขายข้าวในอดีตประมาณ 1.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นคณะกรรมการกขช.จึงเห็นชอบให้เจรจาขายข้าวพร้อมกับเจรจาการชำระหนี้ไปพร้อมๆกัน
ส่วนการชำระหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ชำระหนี้ให้ไปแล้ว 6 หมื่นล้านบาท และเป้าจะชำระหนี้ในปีนี้อีก 1.6 แสนล้านบาท (รวมเป็น 2.2 แสนล้านบาท) ซึ่งทางกรมการค้าต่างประเทศจะได้ดำเนินการชำระเป็นรายสัปดาห์ ส่วนแผนการส่งเงินคืนปีหน้านั้น ขึ้นอยู่กับราคาข้าวหากราคาข้าวดีก็น่าจะคืนเงินได้สูงกว่าปีนี้
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|