ุ
เมื่อวันอังคารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกรายงานเศรษฐกิจไทยเสนอให้รัฐบาล ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวต จาก 7% เป็นระดับใกล้เคียงประเทศเพื่อนบ้านที่ 10% ให้ขึ้นภาษีทรัพย์สิน และตัดค่าลดหย่อนทางการภาษีบุคคลธรรมดา เพื่อเพิ่มรายได้ภาษีให้มากขึ้น
รัฐบาลกลางจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มเป็น 3.4 % ต่อจีดีพีในปีนี้ เพิ่มจาก 1.7% ต่อจีดีพี ในปี 2554 และหนี้สาธารณะจะเกิน 53% ของจีดีพี ภายในปี 2561 ในขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะรักษาหนี้สาธารณะไว้ไม่ให้เกิน 50% ต่อจีดีพี และทำให้งบประมาณสมดุลภายในปี 2560 ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของไทยปีนี้จะขยายตัวในระดับต่ำที่ 3.1% แต่เติบโตสูงขึ้นเป็น 5.2% ในปีหน้า
ไอเอ็มเอฟยังระบุว่า เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายงบประมาณสมดุล รัฐบาลจึงต้องหารายได้เพิ่มด้วยการขึ้นภาษีและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง และให้รัฐบาลยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว เพื่อลดภาระทางการคลัง โดยเสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินโดยตรงเพื่อช่วยเหลือชาวนาที่ยากจนแทนการรับซื้อข้าวในราคาสูงกว่าตลาดดังเช่นที่รัฐบาลปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ ไอเอ็มเอฟยังเสนอให้ยุติการอุดหนุนราคาพลังงาน
นอกจากนี้ยังแนะนำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับปกติ หากมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อสูงขึ้น โดยดอกเบี้ยนโยบายของไทยขณะนี้อยู่ที่ 2.5% ซึ่งไอเอ็มเอฟและธนาคารแห่งประเทศเป็นระดับที่ต่ำกว่าปกติ
แต่นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนกรานว่า การดำเนินโครงการรับจำนำยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และเมื่อเทียบสัดส่วนการช่วยเหลือสินค้าเกษตรของไทยกับประเทศอื่นๆ จะพบว่าไทยมีสัดส่วนการช่วยเหลือที่ไม่ได้สูงมาก และเมื่อเทียบกับเงินสำรองที่ไทยมีอยู่ ไทยยังมีฐานะทางการคลังที่ดี
อย่างไรก็ตาม การที่โครงการรับจำนำใช้เงินในการดำเนินโครงการแล้ว 6 แสนล้านบาทนั้น เป็นการดำเนินโครงการในช่วงเวลานาน 3 ปี ซึ่งยังเป็นไปตามกรอบการใช้เงินที่มติคณะรัฐมนตรีให้ไว้คือ ไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ใน 2 ปี แบ่งเป็นเงินหมุนเวียนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 9 หมื่นล้านบาท และเงินกู้โดยรัฐบาลค้ำประกัน 4.1 แสนล้านบาท และกำหนดให้มีการขาดทุนจากการดำเนินโครงการไม่เกินปีละ 8 หมื่น - 1 แสนล้านบาท
ด้านนายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และโฆษก ป.ป.ช. แถลงถึงความคืบหน้าการไต่สวนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลของทางเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ที่ได้ลงพื้นที่ไปในหลายจังหวัด จึงต้องรอฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ก่อน ซึ่งจะนำมาสรุปและรายงานเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีทุจริตจำนำข้าวของรัฐบาล ภายในสิ้นเดือน พ.ย.นี้ ขณะเดียวกัน ในช่วงนี้ได้มีการเรียกพยานมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมอีกหลายคน คงต้องรอให้ครบถ้วนก่อน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการตรวจสอบเส้นทางการเงินจากเช็คนั้น ได้ยุติเสร็จแล้ว ตอนนี้เป็นการตรวจสอบในส่วนของบุคคล
ถามว่า เรื่องนี้ถูกหยิบยกไปเป็นประเด็นปราศรัยบนเวทีผู้ชุมนุมล้มรัฐบาล นายวิชากล่าวว่า ป.ป.ช.ไม่เกี่ยว แต่ ป.ป.ช.ทำงานตามเป้าหมายที่ได้วางแผนการทำงานไว้ ตั้งแต่เก็บข้อมูลให้ละเอียด เรียกพยานสอบเพิ่มเติม ซึ่งเป็นพยานปากสำคัญ
ซักว่า จะมีการชี้มูลในวันที่ 20 พ.ย.นี้หรือไม่ นายวิชาตอบว่า ไม่มี เป็นไปไม่ได้ที่จะชี้มูลการไต่สวน ยืนยันว่ายังไม่ใช่การชี้มูลอย่างแน่นอน เราจะทำงานชุ่ยๆ ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องระดับประเทศ เป็นเรื่องระดับโลกที่จับตามอง และเพิ่งทราบว่าทางไอเอ็มเอฟ ต้องการให้ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวนี้เสีย เพราะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
|