ุ
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานในวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า กรมการค้า ต่างประเทศได้ออกประกาศการจำหน่ายข้าวสารตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปีการผลิต 2554/55 และนาปรังปี 2555 แบ่งเป็นข้าวขาว 5% ปริมาณ 101,304.72 ตันเพื่อการส่งออก กับข้าวหอมจังหวัด/ข้าวเหนียวขาว 10% จำนวน 100,361.22 ตัน เพื่อใช้ภายในประเทศหรือส่งออกต่างประเทศ โดยวิธีการ ยื่นซองเสนอราคาที่กรมการค้าต่างประเทศ ในวันที่ 19 สิงหาคม 2556
ทั้งนี้ เงื่อนไขการประมูลข้าวขาว 5% เพื่อการส่งออก กรมการค้าต่างประเทศยังใช้หลักวิธีการเดิมเหมือนกับการประมูลรอบที่ 1 ด้วยการกำหนดให้ผู้ซื้อต้องเป็นนิติบุคคลที่มีประวัติการขึ้นทะเบียนเป็น ผู้ส่งออกข้าวกับกรมไม่น้อยกว่า 1 ปี ส่วนผู้ที่มาขึ้นทะเบียนใหม่ในปี 2556 ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
ส่วนการประมูลข้าวเหนียวและข้าวหอมจังหวัดสำหรับใช้ภายในประเทศและหรือส่งออกนั้น ผู้ซื้อต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่ประกอบกิจการพาณิชย์ ตาม พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 หรืออาจจะเป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ ประกอบกิจการข้าว ทั้งนี้ผู้ซื้อจะต้องไม่มีประวัติการทิ้งสัญญาซื้อขายกับทางราชการ และต้องไม่มีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าสมยอมกันในการเสนอราคา หรือขัดขวางการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม หากขาดคุณสมบัติก็ให้ถือว่าการเสนอราคาของรายนั้นเป็นโมฆะ
สำหรับหลักเกณฑ์การยื่นซองทั้งสองกรณีกำหนดไว้เหมือนกันคือ ให้ผู้เสนอราคายื่นซองให้เสนอราคาซื้อ ณ หน้าคลังสินค้าที่ขอซื้อเป็นเงินบาท (Ex-Warehouse) พร้อมทั้งหลักทรัพย์ค้ำประกันซองอัตรา 2% ของมูลค่าสินค้าที่ยื่นเสนอซื้อ โดยจะต้องเสนอซื้อแบบยกคลัง และให้ยืนราคาเป็นเวลา 20 วัน ทั้งนี้ ผู้ซื้อตรวจสอบสภาพข้าวในคลังที่จะประมูลได้
"การต่อรองราคาทางคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวจะเจรจาต่อรองกับผู้เสนอซื้อที่อยู่ในเกณฑ์ราคาเท่านั้น และหาก ต่อรองแล้วให้ราคาเสนอเท่ากันก็จะคัดเลือกให้ผู้เสนอราคาซื้อสูงกว่าครั้งแรก และให้มีการยืนยันราคา โดยคณะทำงานสามารถสงวนสิทธิ์ไม่รับราคาเสนอซื้อราคา โดยอาจจะพิจารณาขายทั้งหมดหรือบางส่วน หรือยกเลิกการขายทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ เพื่อประโยชน์ต่อราชการมากที่สุด" นางปราณีกล่าว
ทั้งนี้ ผู้ที่ชนะการประมูลที่ได้รับการแจ้งผลเป็นลายลักษณ์อักษรจากกรมแล้ว ต้องมาทำสัญญาใน 10 วัน พร้อมทั้งวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 5% ของมูลค่าข้าวที่ตกลงซื้อ และทยอยชำระเงินค่าสินค้าก่อนรับมอบในแต่ละครั้ง และต้องเริ่มรับมอบและขนย้ายข้าวสารใน 3 วัน นับแต่วันชำระเงินในแต่ละคราว โดยมีกำหนดระยะเวลารับมอบข้าวให้เสร็จตามกำหนด กล่าวคือ หากข้าวปริมาณ 20,000 ตันต้องให้เสร็จใน 30 วัน ปริมาณ 20,000-50,000 ตันใน 60 วัน ปริมาณ 50,000-100,000 ตันใน 90 วัน นับตั้งแต่ทำสัญญา แต่หากผู้ซื้อไม่สามารถรับมอบและขนย้ายภายในเวลาที่กำหนด จะต้องเสียค่าปรับวันละ 0.2% ของมูลค่าข้าวที่ยังไม่รับมอบ แต่หากต้องการบอกเลิกสัญญาโดยบอก ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน และมีค่าปรับในอัตรา 25% ของมูลค่าปริมาณข้าวสารที่ไม่ได้รับมอบ และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อันเกิดจากการรับมอบด้วยตัวเอง
ในกรณีที่เป็นการประมูลเพื่อการ ส่งออกนั้นผู้ซื้อต้องดำเนินการส่งออกภายใน 45 วัน นับแต่วันที่รับมอบข้าวสาร หากไม่ส่งออกจะต้องถูกปรับในอัตรา 25% ของข้าวสารที่รับมอบไปแล้วไม่ส่งออก และต้องแสดงหลักฐาน ได้แก่ สำเนาใบ ขนสินค้าที่กรมศุลกากรประทับตราตรวจปล่อยสินค้า สำเนาใบรับรองจากบริษัทเรือส่งให้ผู้ส่งออกที่ขนสินค้าขึ้นเรือ สำเนาใบนำส่ง (B/L) สำเนาการชำระเงินจากต่างประเทศ
เป็นที่น่าสังเกตว่า การประมูลครั้งนี้ถือเป็นการประมูลเป็นการทั่วไปเป็นครั้งที่ 3 ในสมัยการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ในขณะที่การประมูลครั้งที่ผ่านมาจากจำนวนข้าวที่เปิดประมูลทั้งหมด 553,598 ตัน สามารถระบายออกไปได้เพียง 210,000 ตันเท่านั้น แบ่งเป็นข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาล 2554/55 ขายข้าวขาว 5% ปริมาณ 60,000 ตันให้กับ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัทแคปปิตัลซีเรียลส์, บริษัทเอเชีย โกลเด้น ไรซ์ และบริษัทไชยพรไรซแอนด์ฟู้ดโปรดักส์ และปลายข้าวเอวันเลิศอีกประมาณ 30,000 ตันให้กับบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด
ต่อมาได้อนุมัติขายข้าวเปลือกเจ้า 5% จากโครงการจำนำข้าวเปลือกรอบ 2 ปี 2555/56 รอบ 2 ปริมาณ 120,000 ตัน เพื่อทำเป็นข้าวนึ่งส่งออกให้กับผู้ส่งออกที่เสนอซื้อ 4 ราย ได้แก่ บริษัทนครหลวงค้าข้าว, บริษัทไชยพรไรซแอนด์ฟู้ดโปรดักส์, บริษัทเอเชีย โกลเด้น ไรซ์ และบริษัทกมลกิจ จากที่เสนอซื้อทั้งสิ้น 5 ราย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|