www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

พาณิชย์ โชว์ส่งออกข้าว 2 เดือนอันดับหนึ่ง


นายทิฆัมพร นาทวรทัต รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการประชุมประเมินสถานการณ์ส่งออกข้าวในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) 2556 ไทยสามารถส่งออกได้เป็นอันดับหนึ่งปริมาณ 1.04 ล้านตัน รองลงมา คือ อินเดีย 9.6 แสนตัน และเวียดนาม 7.5 แสนตัน โดยราคาส่งออกเฉลี่ยตันละ 711 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงปลายปี 2555 ราคาเฉลี่ยตันละ 688 ดอลลาร์

ปีนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐ ประเมินว่า ราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยของไทยจะลดลง ตันละ 5 ดอลลาร์ เพราะปริมาณการค้าข้าวโลก มีแนวโน้มชะลอตัวลง และความต้องการข้าวตลาดจีนลดลง รวมทั้งผู้ซื้อยังรอดูผลผลิตข้าวของเวียดนามที่กำลังออกมาเร็วๆ นี้ ส่งผลให้ราคาข้าวภายในประเทศตกลงมาเล็กน้อย นายทิฆัมพร กล่าว

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการระบายข้าว ครั้งที่ 1/2556 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ไปเจรจาทบทวนราคาซื้อข้าวสารในสต็อกรัฐบาลตามที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เสนอซื้อเข้ามา 2 หมื่นตัน เพื่อนำไปผลิตเป็นข้าวถุงจำหน่ายในประเทศ ซึ่งราคาที่เสนอมาเบื้องต้นเป็นราคาต่ำกว่าตลาด จึงให้ไปเจรจาต่อรองราคาอีกครั้ง และเสนอในการประชุมครั้งต่อไป

อนุมัติซื้อข้าวหอมมะลิขายต่อจีน

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นชอบในส่วนที่ อคส.เสนอซื้อข้าวหอมมะลิ ปริมาณ 2 หมื่นตัน เพื่อนำไปบรรจุและจำหน่ายเป็นข้าวถุงขนาด 5 กิโลกรัมให้กับจีน เพราะว่าการเสนอซื้อล็อตนี้ได้ราคาที่เหมาะสมถึงตันละ 1,100 ดอลลาร์ นอกจากนี้ได้อนุมัติขายข้าวเปลือกที่ค้างสต็อกตั้งแต่ปี 2546-2548 ปริมาณ 4 หมื่นตัน ให้โรงสี 4 แห่ง ที่เสนอซื้อเข้ามา เพราะข้าวดังกล่าวหากเก็บเป็นระยะเวลานาน อาจเสื่อมสภาพไปมากกว่านี้ แต่ก็ยังมีส่วนที่เหลือของข้าวค้างสต็อก 2 หมื่นตัน โดยให้ อคส.เป็นผู้เจรจาต่อรองเสนอขายให้กับโรงสีต่อไป

ส่วนการระบายข้าวรอบใหม่ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศ ไปจัดทำรายละเอียดปริมาณ-ราคา และประเมินสถานการณ์ช่วงเวลาที่เหมาะสม หากตอนนี้ราคาข้าวยังต่ำก็คงต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อน แต่ตอนนี้ก็มีผู้ผลิตข้าวถุงได้เสนอซื้อข้าวรัฐก็ให้ คต.ไปดูรายละเอียดและนำเสนอให้พิจารณาต่อไป นายบุญทรง กล่าว

เว็บไซต์โอไรซา รายงานว่า ตลาดข้าวโลกแบ่งออกเป็น 2 โลกที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยข้าวที่มีต้นกำเนิดมาจากอินเดีย มักมีราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับข้าวที่มาจากแถบอเมริกา ยกเว้นข้าวไทย ที่ดูเหมือนว่าจะไม่ถูกขวางในเรื่องพรมแดน

ในขณะที่ข้าวขาวคุณภาพสูงจากสหรัฐและอเมริกาใต้ มีราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ราว 610-635 ดอลลาร์ต่อตัน ข้าวจากเวียดนาม ปากีสถาน และ อินเดีย กลับมีราคาถูกกว่าเกือบ 200 ดอลลาร์ต่อตัน โดยข้าว 5% ของเวียดนาม เคลื่อนไหวที่ประมาณ 400 ดอลลาร์ต่อตัน

นักวิเคราะห์บางรายแสดงความกังขา ว่า ความแตกต่างด้านราคาจะมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้ข้าวจากเอเชียข้ามฟากมาขายในฝั่งอเมริกาได้หรือไม่ ทั้งยังมีนักวิเคราะห์อีกจำนวนไม่น้อยที่ตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง จะถือเป็นพัฒนาการครั้งสำคัญในตลาด ที่นักวิเคราะห์จำนวนมากยืนกรานมาเป็นเวลานานแล้วว่า ตัดขาดจากข้าวราคาถูกของเอเชียอย่างสิ้นเชิงหรือไม่

ทั้งนี้ เวียดนามอยู่ระหว่างการจัดส่งข้าวไปยังเฮติ ซึ่งปกติแล้วเป็นตลาดข้าวส่งออกของสหรัฐ ซึ่งแหล่งข่าวในสหรัฐเผยว่า เวียดนามอาจจะส่งข้าวไปแทนสหรัฐ เพราะบริษัทในสหรัฐไม่สามารถจัดหาข้าวจากรัฐเทกซัส และพื้นที่ปลูกข้าวอื่น ในแถบตอนกลาง และตอนใต้ของสหรัฐได้มากพอ เพราะชาวนาในพื้นที่เหล่านี้ ยังไม่ยอมระบายข้าวออกสู่ตลาด เนื่องจากต้องการรอให้ราคาสูงขึ้น

ตปท.มองโอกาสทำกำไรข้าวเอเชีย

ในเชิงทฤษฎีนั้น ดูเหมือนว่าตลาดในปัจจุบัน กำลังเกิดการปรับทิศทางในโอกาสการทำกำไร ของข้าวราคาถูกจากเอเชีย และราคาแพงจากภูมิภาคอเมริกา โดยราคาข้าวในสหรัฐ และอเมริกาใต้ ต่างปรับตัวสูงขึ้น เพราะพื้นที่ในการเพาะปลูกที่จำกัด และสภาพอากาศที่ไม่เอื้อต่อการผลิต รวมถึง การเกิดภัยแล้ง ที่เป็นผลมาจากปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาโดยปัจจัยที่ทำให้ข้าวเอเชียมีราคาถูก รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน

ขณะที่ เวียดนามนั้น ระบบการจัดเก็บยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ดังนั้น จึงไม่สามารถเก็บข้าวส่วนเกินความต้องการไว้ได้นานนัก ทั้งเวียดนามยังต้องเจอกับแรงกดดันด้านการเก็บเกี่ยวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีพืชผลหลากชนิดที่ให้ผลผลิตเกือบตลอดทั้งปี

ขณะที่ ปากีสถาน สามารถเก็บรักษาข้าวส่วนเกินความต้องการไว้ได้ และเพิ่งจะส่งออกไปจีนเพียง 1 ใน 4 ของข้าวส่งออกเมื่อปีที่แล้ว ส่วนอินเดียมีปริมาณข้าวสำรองอยู่มากถึง 35 ล้านตัน และข้าวสาลีอีกราว 30 ล้านตัน เพราะราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น กระตุ้นให้มีการผลิตมากขึ้น ทั้งประเทศยังห้ามการส่งออกระหว่างปี 2550-2554 เพื่อรับมือกับภาวะขาดแคลนที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น

ปริมาณข้าวสำรองจำนวนมหาศาล ทำให้อินเดียต้องเผชิญกับบททดสอบอย่างจริงจังในเรื่องความสามารถทางการจัดเก็บ และอินเดียก็กำลังเร่งส่งออกข้าวเจ้า และข้าวสาลีอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ส่วนข้าวไทยนั้น ราคาเริ่มจะปรับลดลง เพราะเกิดการขาดความเชื่อมั่นในโครงการรับจำนำข้าว ที่ยังไม่แสดงผลสำเร็จออกมา ชาวนาไทยยอมขายข้าวให้กับพ่อค้าคนกลางในทันที ในราคาที่ถูกกว่าราคารับจำนำของรัฐบาล

ข้าวเอเชียตีตลาดโลกต้องใช้เวลา

จนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ ที่ข้าวจากเอเชียจะเข้าไปตีตลาดในโลกตะวันตกได้ เพราะปริมาณข้าวสำรองของเอเชียอาจลดลงจากหลายปัจจัย รวมถึงสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิต การรุกซื้อในปริมาณมากขึ้นจากผู้ซื้อรายสำคัญๆ อย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และหรือจีน

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหาจากศัตรูพืช ที่ทำให้ทางการสหรัฐปฏิเสธการรับข้าวหลายชนิด ที่ส่งมาจากอินเดีย ปากีสถาน และไทย มาแล้ว ทั้งอัตราค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้น และระยะทางในการขนส่งที่ไกลมาก ก็ล้วนเป็นอุปสรรค

ยิ่งกว่านั้น ยังมีปัญหาในเรื่องคุณภาพ โดยเวียดนามเคยพยายามขายข้าวในทวีปอเมริกามาหลายครั้งแล้ว ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่ความแตกต่างด้านราคาระหว่างข้าวเอเชียกับอเมริกา ยังอยู่ในระดับปกตินั้น เวียดนามเคยส่งออกข้าวจำนวนหนึ่งไปเฮติมาแล้ว แต่การทดลองเปิดตลาดใหม่ดังกล่าว ลงเอยด้วยความล้มเหลวของผู้เกี่ยวข้อง เพราะผู้บริโภคเฮติไม่ยอมรับคุณภาพข้าวเวียดนาม ทั้งเวียดนามก็เคยพยายามขายข้าวในตลาดบราซิลมาแล้ว ในช่วงที่บราซิลเจอปัญหาขาดแคลนข้าว แต่ก็ล้มเหลวในการเข้าสู่ตลาดเช่นกัน

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 

TREA on Facebook


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2013 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.