ุ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ ขณะนี้กรมการค้าต่างประเทศ อยู่ระหว่างการเจรจาขายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลที่ได้จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 54/55 และปี 55/56 รวมถึงโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 55 และปี 56 แบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับหลายประเทศเช่น บางประเทศในแอฟริกาและจีน เป็นต้น ซึ่งบางประเทศสามารถเจรจาขายได้จนสำเร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ พิจารณา ก่อนเสนอให้รัฐบาลอนุมัติ และทำสัญญากับประเทศเหล่านั้น
ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณที่จะทำสัญญาซื้อขายแบบจีทูจี น่าจะอยู่ที่หลายล้านตันข้าวสาร ซึ่งเมื่อรวมกับสัญญาจีทูจีที่ทำเมื่อปี 55 อีก 7.3 ล้านตัน จะรวมเป็นกว่า 10 ล้านตัน ส่งผลให้ไทยมีสต๊อกคงเหลือขณะนี้ประมาณ 4-8 ล้านตันข้าวสาร ยังไม่นับรวมข้าวเปลือกนาปรังปี 56 ที่อยู่ระหว่างการรับจำนำ และจะสิ้นสุดโครงการวันที่ 15 ก.ย.นี้ สำหรับเงินจากการขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่จะส่งคืนกระทรวงการคลังนั้น ตั้งแต่เดือน ต.ค.55 จนถึงเดือน เม.ย.56 ส่งคืนให้แล้วกว่า 80,000 ล้านบาท และจนถึงสิ้นปีนี้ จะส่งคืนได้ตามแผนที่ประมาณ 260,000 ล้านบาท
นายทิฆัมพร นาทวรทัต รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ปี 56 กระทรวงพาณิชย์กำหนดเป้าหมายการส่งออกข้าวอยู่ที่ปริมาณ 8.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 22% และมีมูลค่า 5,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 19% แม้จะมีหลายฝ่ายกังวลว่า เป้าหมายอาจไม่ถึง แต่กระทรวงพาณิชย์ยังยืนยันจะทำให้ได้ และทำให้ดีที่สุด ตามกรอบที่ได้รับมอบหมายใน 5 แนวทางคือการระบายแบบจีทูจี, เปิดประมูลทั่วไป, จัดทำข้าวสารบรรจุถุง, จำหน่ายในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าและเพื่อการบริจาค โดยตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค. 56 ส่งออกข้าวไปแล้ว 2.01 ล้านตัน มูลค่า 1,416 ล้านเหรียญฯ ตลาดส่งออกข้าวหลัก 3 อันดับแรกได้แก่ อิรัก สัดส่วน 17.38%, เบนิน สัดส่วน 9.36% และไอวอรีโคสต์ สัดส่วน 7.01%
“ตามแผนงาน กรมฯ จะเร่งผลักดันการส่งออก และประชาสัมพันธ์ถึงคุณภาพข้าวไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ข้าวไทยขายได้ราคาสูงและมูลค่าเพิ่ม ต่อไปไทยจะเน้นการเพิ่มมูลค่ามากกว่าปริมาณ”
ส่วนกรณีที่หลายประเทศในเอเชียหันนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น ญี่ปุ่น นำเข้าจากพม่านั้น ไม่ใช่เรื่องน่าห่วง เพราะข้าวไทยและข้าวพม่าเป็นคนละชนิดกัน โดยข้าวของพม่าเป็นข้าวเมล็ดสั้น และเป็นที่ต้อง การของตลาดญี่ปุ่น ส่วนข้าวไทยเป็นข้าวเมล็ดยาว ไทยจึงส่งออกข้าวไปขายที่ญี่ปุ่นไม่มากนักในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม ในอนาคต ไทยจะมีความร่วมมือค้าข้าวกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม ซึ่งนอกจากจะมีการแบ่งตลาดกันขายอย่างชัดเจนแล้ว ไทยยังอาจนำข้าวของประเทศเพื่อนบ้านไปทำตลาด หรือไปส่งออกให้ด้วย
ทั้งนี้ ในปลายเดือน ส.ค. นี้ กรมฯ จะจัดประชุมความร่วมมือภาคเอกชนโรงสี ผู้ส่งออกและเกษตรกรครั้งแรกที่ประเทศไทย เพื่อจัดตั้งสมาพันธ์โรงสีของ 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนามและไทย เพื่อร่วมมือในการจัดระบบการผลิต แปรรูปและการค้าข้าว
อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันที่ 26-28 พ.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะจัดการประชุมไทยแลนด์ ไรซ์ คอนเวนชั่น ที่จ.เชียงใหม่เพื่อแสดงถึงศักยภาพการเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตและการค้าข้าวของโลก โดยจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการข้าวจากกว่า 40 ประเทศ กว่า 500 คนเข้าร่วมงานด้วย
ด้านนางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สมาคมฯ กำลังติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทและเศรษฐกิจโลกว่า จะมีผลทำให้การส่งออกข้าวไทยเฉพาะในส่วนของภาคเอกชนในปีนี้ จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 6.5 ล้านตันหรือไม่ เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้ราคาข้าวไทยสูงขึ้นกว่าราคาของคู่แข่งมากและขายได้ยากขึ้น ซึ่งจะมีการทบทวนเป้าหมายการส่งออกอีกครั้งในเดือนมิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม พบว่าขณะนี้การค้าขายข้าวโลกหดตัว อาจเป็นเพราะสต๊อกของผู้ผลิต ส่งออก และผู้นำเข้า มีจำนวนมาก แต่คาดว่า ในไตรมาส 3 จะเริ่มนำเข้าอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์รับจำนำข้าวนาปรัง 55/56 ตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมาว่า จนถึงขณะนี้ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 17,000 ราย ปริมาณข้าว 1.34 ล้านตัน คิดเป็นวงเงิน 21,500 ล้านบาท คาดว่าในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าจะมีปริมาณที่ข้าวเข้ามาเป็นจำนวนมากและจะสูงสุดในเดือน มิ.ย. แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าเมื่อสิ้นสุดการรับจำนำข้าวนาปรังในเดือน ก.ย.จะมีปริมาณข้าวใกล้เคียงกับที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ที่ 7 ล้านตัน เพราะภัยแล้งทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวลดลง
ที่มา ข่าวไทยรัฐออนไลน์
|