ุ
นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการจัดทำบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ว่า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำบัญชีโครงการควรทำข้อมูลตัวเลขแยกข้อมูลเป็น 3 รูปแบบ คือราคาต้นทุนของโครงการ ,ราคาต่ำสุด ณ ปัจจุบันหรือใช้ราคาต่ำสุดเฉลี่ย 7 วันที่ผ่านมาเป็นตัวอ้างอิง เพื่อการระมัดระวังในการดำเนินโครงการ และราคาตลาดซื้อขายล่วงหน้า เพราะปัจจุบันมีตลาดล่วงหน้าของสินค้าเกษตรรวมทั้งข้าวที่ใช้อ้างอิงอยู่แล้ว เนื่องจากข้อมูลทั้งสามแบบเป็นข้อมูลที่แตกต่างกัน และการเลือกใช้ข้อมูลจากการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายที่จะเลือกนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์
“นักบัญชีจะบอกว่าราคาที่อ้างอิงมาจากสมมุติฐานต่างๆ มีได้หลายกรณี และก็ไม่ได้ต่างจากราคาน้ำมัน ที่อ้างอิงได้หลายแบบ ผู้ที่ทำตัวเลขโครงการรับจำนำข้าวก็ต้องทำทุกตัวเลขแล้วเอามาเสนอให้กับฝ่ายนโยบายในการตัดสินใจ ซึ่งการตัดสินใจก็ต้องอยู่บนข้อมูลของการดำเนินการในอดีต มูลค่าสต็อกที่อยู่ในมือ ทิศทางราคาตลาดในอนาคตเป็นอย่างไร ข้อมูลตรงนี้ก็ต้องเอานั่งดูกันทั้งหมดประกอบกับข้อมูลอื่นๆจึงจะตัดสินใจได้”
ส่วนการปรับปรุงโครงการรับจำนำข้าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต้องศึกษาข้อมูลต่างๆอย่างรอบด้าน และสามารถปรับปรุงได้ แต่การปรับปรุงควรทำพร้อมกันในภาพรวม โดยรัฐบาลต้องเก็บข้อมูลจากแหล่งผลิต การปรับปรุงการนำข้าวเข้าสีในโครงการก็ควรมีแหล่งสีข้าวที่ใกล้แหล่งผลิตข้าวของเกษตรกร ขณะเดียวกันต้องวางแผนการระบายข้าว กำหนดตลาดเป้าหมาย รวมถึงคำนวณติดตามปริมาณและราคาที่ขายได้ว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ส่วนราคารับจำนำข้าวก็ควรต้องปรับลดให้สอดคล้องกับราคาตลาดโลก ส่วนจะปรับลดลงเท่าไหร่ก็ต้องดูจากข้อมูลทั้งหมด ซึ่งขณะนี้คณะทำงานต้องมาดูข้อมูลในภาพรวมก่อนที่จะมีการตัดสินใจ
ขณะที่การระบายข้าวออกจากสต็อกต้องระบายตามจังหวะที่เหมาะสม ทั้งระบายทั้งในและนอกประเทศ และต้องเป็นช่วงเวลาที่ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะให้การระบายข้าวเป็นไปตามเป้าหมายทั้งในเรื่องของราคาและปริมาณก็ต้องมีการศึกษาความต้องการของตลาด ซึ่งช่วงนี้ตลาดมีความต้องการข้าวมากขึ้น เพราะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาข้าวในตลาดโลกอ้างอิงราคาจากตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในสหรัฐฯก็ปรับตัวสูงขึ้นในรอบ 2 ปี โดยราคาอยู่ที่ 15 -16 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อน้ำหนักข้าว 100 ปอนด์ ซึ่งเป็นราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 3% ในเวลาเพียง 7 วัน จึงคาดการณ์ได้ว่าปริมาณส่งออกในเดือน มิ.ย.ปีนี้ น่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศผู้ปลูกข้าวอื่นๆ มีสต็อกลดน้อยลงมากแล้ว นอกจากนี้การระบายข้าวของประเทศอื่นๆ จะเป็นการระบายข้าวในราคาถูกตามคุณภาพข้าว และเป็นการระบายเพื่อสร้างสภาพคล่องในประเทศ ซึ่งต่างกับประเทศไทยที่มีสต็อกข้าวเก็บไว้ระบายในเวลาที่เหมาะสม
นายโอฬาร กล่าวว่า การระบายข้าวต้องเป็นไปตามจังหวะเวลา โดยการระบายข้าวไปยังต่างประเทศก่อนหน้านี้ทำได้น้อยเนื่องจากภาวะของเงินบาทที่มีปัญหาแข็งค่า การระบายข้าวออกไปอาจได้เงินน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่ในปัจจุบันการระบายข้าวไปยังต่างประเทศมีความเหมาะสมมากกว่าเนื่องจากค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงการส่งออกข้าวก็จะได้มูลค่าสูงขึ้นเมื่อคำนวณกลับมาเป็นเงินบาท
นอกจากนี้ในปัจจุบันข้าวที่มีปัญหาระบายออกไปคือข้าวขาว (ข้าว5%) ส่วนการขายข้าวคุณภาพสูง เช่น ข้าวหอมมะลิซึ่งมีผลผลิตปีละประมาณ 6 ล้านตัน ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากมีความต้องการของตลาดสูงมาก เพราะจากการเดินทางไปเจรจาการค้ายังต่างประเทศหลายครั้ง ก็ได้รับการสอบถามถึงสินค้าอยู่ตลอด ซึ่งปัจจุบันข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวมีไม่พอขายและราคาปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามปัจจุบันแนวโน้มราคาของข้าวขาวปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยราคาข้าวขาว 100% ในปัจจุบันก็อยู่ที่ระดับราคา 555 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน
“การระบายข้าวและการเก็บสต็อกข้าวต้องมีความสมดุลและเหมาะสม โดยมองว่าสต็อกข้าวที่เรามีอยู่กับความต้องการของตลาดในระยะยาวถือว่ามีความสมดุลกัน โดยประเทศไทยมีความจำเป็นต้องมีสต็อกสำหรับความมั่นคงทางอาหารของประเทศด้วย หากเกิดฝนแล้งหรือภัยธรรมชาติ ข้าวถือว่าเป็นสินค้าสำคัญที่เป็นความมั่นคงทางอาหารที่มีความจำเป็นมาก"
ที่มา เดลินิวส์
|